14 ก.ย. 2021 เวลา 14:18 • สุขภาพ
## ‘มลพิษทางอากาศ’ เกี่ยวข้องกับ ‘โควิด’ ได้อย่างไร? เมื่อ 'โลก' และ 'โรค' กำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ##
.
เมื่อไม่นานมานี้ มลพิษทางอากาศ ได้รับการจัดอันดับว่า เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยทางสิ่งแวดล้อมและการตายก่อนวัยอันควรที่มากที่สุดในโลก โดยจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้คนเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้มากขึ้นค่ะ
.
ด้วยเหตุนี้นะคะ จึงเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า “มลพิษทางอากาศ” อาจมีผลให้อาการของผู้ป่วยโควิดหนักขึ้น และเป็นตัวเร่งให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากขึ้นด้วย หรือพูดง่ายๆ ก็อาจบอกได้ว่า “มลพิษทางอากาศ” อาจสามารถเป็น “พาหนะ” ของเชื้อโควิดไปสู่คุณทุกๆคนได้ค่ะ
╔═══════════╗
ZERO COVID THAILAND เพจสำหรับแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อช่วยยุติการแพร่กระจายของโควิด-19ในไทย
#กดไลค์และติดตามเพจ เพื่อรับแนวทางป้องกันโควิด-19 อย่างทันท่วงที งานวิจัย และ ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์แบบเข้มข้น
╚═══════════╝
ขอแนะนำคุณให้รู้จักกับ นักฆ่าไร้เสียง ที่ชื่อว่า “มลพิษทางอากาศ”
โดยคร่าวๆนะคะ “มลพิษทางอากาศ” คือ อากาศที่มีสิ่งสกปรก หรือสารพิษเจือปนอยู่ในอากาศเกินค่ามาตรฐาน จนทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในขั้นวิกฤติ มีรูปแบบเป็นไอหมอกพิษ และทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้ โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากการใช้ชีวิตประจำวันในครัวเรือน การเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมและการคมนาคม รวมถึงภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า ค่ะ
ซึ่งสารมลพิษหลักๆ ที่อยู่ในอากาศที่เราคุ้นเคยกันดี ก็เช่น PM10 PM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) ก๊าซโอโซน(O3) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ค่ะ
โดยเราจะขอโฟกัสไปที่ ‘สารมลพิษ’ 3 ตัวหลักนะคะ อันได้แก่ PM10 PM2.5 และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่มีการศึกษาว่ามีความเชื่อมโยงกับ ‘เชื้อโควิด’ ค่ะ
💨 มลพิษตัวแรก: PM10 “ฝุ่นเล็ก” คือ ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน มีขนาดประมาณเทียบเท่ากับหนึ่งในห้าของเส้นผม ฝุ่นขนาดเล็กนี้ขนจมูกไม่สามารถกรองออกได้ ทำให้เข้าไปในปอด และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ค่ะ
💨 มลพิษตัวที่สอง: PM2.5 “ฝุ่นจิ๋ว” คือ ฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ฝุ่นนี้นอกจากขนจมูกกรองไม่ได้แล้ว ยังมีความสามารถในการทะลุทะลวงเข้าไปได้ถึงด้านในสุดของปอดได้ ถ้าคุณคิดว่า PM10 อันตรายแล้ว PM2.5 น่ากลัวมากขึ้นอีกอีกหนึ่งระดับทีเดียวค่ะ
💨 มลพิษตัวที่สาม: ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นสารตั้งต้นของ PM2.5 เกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างนำ้มัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติค่ะ เมื่อได้ชื่อว่า เป็นสารตั้งต้นของ PM2.5 แล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยกันเลยนะคะว่า ความน่ากลัวของมันจะเพิ่มไปมากขนาดไหน
ว่าด้วย ความสัมพันธ์ของ “สารมลพิษทั้งสาม” กับ “โควิด-19”
1
แม้ว่า ยังไม่มีการยืนยันค่ะว่า มลพิษอนุภาคจิ๋วๆ นี้ กับ โควิด มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร แต่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า สองสิ่งนี้มีเส้นบางๆ ที่เชื่อมโยง พันเกี่ยวเข้าด้วยกันอย่างแน่นอนค่ะ
1
โดยรายงานจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งเกิดจากความร่วมมือหลายภาคส่วน เรื่อง Link between wildfires and COVID cases established เพื่อศึกษาความเชี่ยมโยงระหว่าง ‘มลพิษทางอากาศ’ จากควันไฟป่า กับ ‘โควิด’
โดยพัฒนาแบบจำลองทางสถิติที่วิเคราะห์ข้อมูลจาก 92 เขตเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และวอชิงตัน ซึ่งมักเกิดไฟป่าที่เต็มไปด้วยสารมลพิษทั้งสาม ปะทุขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงธันวาคม ปี 2020 ใน 3 รัฐนี้ ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 19,700 คน และเสียชีวิตมากถึง 750 คนค่ะ
พบว่า ควันไฟป่าจะทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น สิ่งที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ ถ้าคนติดโควิด ซึ่งเป็นโรคที่ทำลายระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว สูดหายใจรับควันไฟป่าเข้าไปอีกนั้น อาจทำให้อาการทรุดหนักลงได้ นอกจากนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) รายงานว่า ‘ควันไฟป่า’ จะทำให้ปอดระคายเคือง และมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อต่างๆ ในปอดได้มากขึ้น รวมถึงการติดเชื้อโควิดด้วย
📌 เมื่อ “โลก” และ “โรค” กลายเป็นเรื่องเดียวกัน
เมื่อคุณได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พอจะเริ่มเห็นจุดเชื่อมโยงร่วมกันของ “มลพิษทางอากาศ” และ “โควิด” มากขึ้นหรือไม่คะ คุณอยากรู้ไหมคะ? ว่า ‘สองสิ่ง’ ข้างต้น จะทำอะไรกับ ‘ร่างกายของเรา’ มาดูงานวิจัยกันค่ะ
จากงานวิจัย เรื่อง The role of air pollution (PM and NO2) in COVID-19 spread and lethality: A systematic review พบว่า PM2.5 และ NO2 เชื่อมโยงกับโควิดมากกว่า PM10 ค่ะ โดยอาจเป็นเพราะ ‘PM10’ นั้นมีขนาดที่มากกว่า 5 ไมครอน จึงทะลุเข้าเซลล์เยื่อบุถุงลมในปอดชนิดที่สอง (type II alveolar cells - Pneumocyte type II) ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวรับการเข้าเซลล์ (ACE2) โดยเป็นตัวรับที่เปิดทางให้โควิด-19 เข้าจับกับผิวเซลล์และ "ปลดล็อก" ให้โควิดเข้าทำลายเซลล์ได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้ แต่ ‘PM2.5’ และ ‘NO2’ ทำได้ค่ะ!
เมื่อมลพิษทางอากาศทำให้ ACE2 สูญเสียความสามารถที่จะป้องกัน โควิดตัวร้ายจึงฉกฉวยโอกาสนี้ทำลายทั้งระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการที่เชื้อเข้าร่างกายอยู่แล้ว และ ระบบทางเดินหายใจที่อ่อนแอลงไปพร้อมๆ กันด้วย นั่นจึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า “มลพิษทางอากาศ” เร่ง “โควิด” ได้
1
อีกทั้งการศึกษา เรื่อง The impact of outdoor air pollution on COVID-19: a review of evidence from in vitro, animal, and human studies ได้ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของ “มลพิษทางอากาศ” และ “โควิด” ว่า เชื้อโควิดอาจอาศัยมลพิษที่เป็นละอองลอยอนุภาคจิ๋ว (ultrafine) ที่ล่องลอยอยู่รอบตัวเรา เช่น ในการจราจร และความร้อน แล้วเกาะกลุ่มรวมกับอนุภาคอื่นๆ เช่น เกสรดอกไม้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส เพื่อใช้เป็น “พาหนะ” ในการแพร่กระจายตัวมันมาสู่พวกเรานั่นเองค่ะ
1
ดังนั้น เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากงานวิจัยทั้งสอง เราอาจกล่าวได้ว่า “มลพิษทางอากาศ” นอกจากจะเร่งให้ “อาการป่วย” รุนแรงมากขึ้นแล้ว ยังเป็น “พาหนะ” ให้โควิด ได้ขับเคลื่อนตัวมัน ให้พุ่งชนพวกเรา เป็นวงกว้าง ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วยค่ะ
📌 ค้นหาคำตอบ
เมื่อเรารู้ความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองสิ่งแล้ว แล้วเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรกันต่อไปดี?
สิ่งแรก ที่ต้องรีบศึกษาเลยนะคะ ก็คือ การยืนยันว่า “มลพิษทางอากาศ” และ “โควิด” มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันอย่างแท้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ถึงผลของมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอิทธิพลของสารก่อมลพิษอีกหลายตัวต่อโควิด ว่า มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่?
1
การวิจัยค้นหาคำตอบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาทำความเข้าใจโรคติดเชื้อ จึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้เป็นอย่างมากค่ะ และจะช่วยในการต่อยอดความรู้ เพื่อพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในการวางผังเมืองและบริหารพื้นที่ชุมชนเมืองระดับท้องถิ่นไปถึงระดับประเทศด้วย
เมื่อความชัดเจนทางการศึกษาเกิดขึ้น การตอบสนองของทุกภาคส่วนจะตามมาทำให้การลดมลพิษทางอากาศ ทั้งภายนอก และ ภายในอาคาร ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือประเทศไหนๆ เกิดขึ้น จะส่งผลต่อสุขภาพได้ในทันที และก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อประชากรโลกค่ะ
📌 ย้อนกลับมองประเทศไทย
1
ด้วยสถานการณ์มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน ปัญหา PM 2.5 ในไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ และเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ ที่กำลังจะมาถึง (กรุงเทพฯ จะเผชิญกับ PM2.5 ช่วงปลายปีถึงต้นปี หรือตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม แต่หากเป็นพื้นที่ภาคเหนือ จะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเมษายน)
เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “มลพิษทางอากาศ” เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิดไว้ เพราะเมื่อไหร่ที่เราเจอกับ PM2.5 ประเทศไทยมักจะติดอันดับค่า PM2.5 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเสมอ และถ้าเราต้องเจอกับ “มลพิษทางอากาศ” และ “โควิด” ไปพร้อมๆ กันล่ะคะ สิ่งที่เราพอจะช่วยประคับประคองชีวิตของตัวเอง และคนที่เรารักได้ ประชาชนอย่างพวกเราจะสู้อย่างไรดี? เพื่อที่จะ “รอดพ้น” จากวิกฤติอันเลวร้ายนี้ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกค่ะ
📌 ก้าวต่อไปของคนไทย
ทุกคนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับปัญหาดังกล่าวกันนะคะ ประตูทุกบานล้วนมีทางออกเสมอค่ะ ข้อมูลที่เรานำมาเล่าให้ฟังนั้น เป็นเพียงความหวังดีของทีมงาน ที่อยากจะให้ทุกคนมีความระมัดระวังตัวเอง และใส่ใจสุขภาพมากขึ้นเพียงเท่านั้นค่ะ
.
💡 เมื่อเรารู้ว่า โควิด #แพร่ทางอากาศ เหมือนควันบุหรี่ ที่แม้ไม่เห็น ก็ยังได้กลิ่น
💡 เมื่อเรารู้ว่า มลพิษทางอากาศ ‘เร่ง’ ให้ อาการของโควิดรุนแรงขึ้น
💡 เมื่อเรารู้ว่า “โควิด” สามารถ ‘เดินทาง’ ไปกับ “มลพิษทางอากาศ” ได้
เราคนไทย จึงควรให้ความสนใจดูแลคุณภาพอากาศ ทั้งภายในอาคาร และ ภายนอกอาคาร กันอย่างจริงจังมากขึ้นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน สำนักงาน สถานที่ต่างๆ เราก็ต้องสนใจ เรื่อง #การระบายอากาศ และคุณภาพอากาศ มาเป็นอันดับหนึ่งกันนะคะ
นอกจากนี้สถานศึกษาควรมีการวิจัยด้านนี้เพิ่มเติม เพื่อให้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ได้นำไปต่อยอด และออกแบบเป็นกฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องต่อสภาพแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทย และทุกคนอย่าลืมใส่หน้ากาก ‘N95’ หรือ คุณภาพสูงขึ้น อย่างมิดชิดนะคะ เพราะนี่คือ สิ่งแรกสุดที่ใครๆ ก็ทำได้อย่างแน่นอนค่ะ
1
ในตอนนี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยังไม่สิ้นสุดลง หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก นอกจากการใส่หน้ากาก ‘N95’ อย่างมิดชิดแล้ว เราก็ต้องหมั่นสำรวจตัวเองด้วยชุดตรวจแอนติเจนแบบรวดเร็ว (Antigen Test Kit: ATK) อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อีกทั้งอย่าลืมพกพาเครื่องวัด CO2 ไปกับคุณทุกที่ เพื่อดูคุณภาพอากาศโดยรวมของสถานที่นั้นๆ กันด้วยนะคะ
แล้วเราจะข้ามผ่านทุกช่วงเวลาไปด้วยกันค่ะ
ติดตามเราได้ที่
อ้างอิง:
The role of air pollution (PM and NO2) in COVID-19 spread and lethality: A systematic review
The impact of outdoor air pollution on COVID-19: a review of evidence from in vitro, animal, and human studies
SARS-CoV-2 Receptor ACE2 Is an Interferon-Stimulated Gene in Human Airway Epithelial Cells and Is Detected in Specific Cell Subsets across Tissues
Fine particles are airborne particles which are smaller than coarse particles. They have an aerodynamic diameter of 2.5 µm or less
PM 2.5: มลพิษทางอากาศในไทย เหตุใดจึงยังไม่สิ้นสุด
ฝุ่นพิษ PM 2.5 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่น่าจับตา
โฆษณา