15 ก.ย. 2021 เวลา 13:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อย่าพยายาม "คาดการณ์ราคาตลาด"
ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือคัมภีร์ VI (Value Investing) เล่มหนึ่ง ชื่อว่า The Intelligent Investor เขียนโดย Benjamin Graham บิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของ Warren Buffett
เกรแฮมเป็นผู้ศึกษา วิเคราะห์พื้นฐานของหุ้น โดยใช้ระยะเวลาหลายทศวรรษ ด้วยงบการเงินของกิจการ รวมทั้งเขายังศึกษาพฤติกรรมของตลาด ซึ่งนำมาสู่ปรากฎการณ์ตลาดกระทิงและตลาดหมี รวมทั้งฟองสบู่อีกด้วย
แต่จุดที่น่าสนใจคือ แม้ตัวเกรแฮมซึ่งวิเคราะห์ตลาดมาในเวลาหลายทศวรรรษ ตัวเขาเองก็ยังยอมรับว่า ราคาหุ้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้อย่างเด็ดขาด เราไม่มีทางรู้ว่ามันจะขึ้น หรือจะลง
เหตุใดผู้ที่เป็นบิดาแห่ง VI จึงกล่าวเช่นนี้ ?
ในปี 1948 (S&P 500 14 จุด) ขณะนั้น เป็นช่วงที่ผู้คนต่างพากันหวาดกลัวหุ้น เพราะก่อนหน้านั้น ราว 2 ทศวรรษ หุ้นมีราคาที่ผันผวนสูงมาก จากการร่วงครั้งใหญ่ในปี 1929 The Great Depression
ด้วยเหตุที่ความกลัวปกคลุมตลาด ผู้คนมองว่าหุ้นเป็นสิ่งที่อันตราย ช่วงเวลานั้นแกรแฮมได้วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของกิจการ ผลกำไร การปันผลของหุ้น เปรียบเทียบกับราคา และได้ข้อสรุปว่า ขณะนั้นหุ้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่ามาก
หลังจากนั้นเป็นเวลา 5 ปี S&P 500 ก็พุ่งไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 25 จุด ในปี 1953 ถือเป็นการพุ่งขึ้นที่รวดเร็วและรุนแรงมากในทศวรรษนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 1953 แกรแฮมรู้สึกว่า ราคาหุ้นนั้นได้พุ่งสูงขึ้นไปมากอย่างน่าประหลาด แม้มูลค่าก็ดูเหมือนจะสมเหตุสมผล (กิจการยังมีกำไร และปันผลที่ใช้ได้ แต่อาจจะไม่สูงมาก)
ด้วยความที่เขาเป็นนักลงทุนเชิงรับ เขากลับมองที่ตัวราคาที่พุ่งสูงขึ้นเกินไป ผู้คนเริ่มมองโลกในแง่ดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และกลัวว่าตลาดจะร่วงอย่างหนักอีกครั้ง เขาจึงมีข้อแนะนำให้นักลงทุน ลงทุนด้วยความระมัดระวังดีกว่า พูดง่าย ๆว่าควรลดพอร์ทและไม่ควรลงทุนเพิ่ม
หลังจากนั้น 5 ปี ความคิดเห็นของเกรแฮมก็ถูกพิสูจน์ว่ามันผิด
ในปี 1958 S&P 500 ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ ที่ 50 จุด ซึ่งสวนทางกลับความคิดของเกรแฮม ทำให้ตัวเขาเอง รู้สึกตกใจไม่น้อย และยอมรับในความผิดพลาดที่ว่า การคาดการณ์ราคาตลาดนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ ปรับเปลี่ยนมายเซตใหม่อีกครั้ง
การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ แน่นอนว่า มันขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐาน แต่ว่าบางครั้ง ก็ไม่มีใครรู้อย่างแท้จริงว่า ราคา ณ ขณะนั้นจะขึ้นหรือจะลง แม้พื้นฐานมันชัดเจนแค่ไหนก็ตาม
อีกทั้ง จากการวิเคราะห์พื้นฐาน เราจะทราบได้แน่ว่าราคานั้นคุ้มค่าหรือไม่ ? แต่ก็ไม่มีใครทราบได้อย่างแน่ชัดว่า จะไม่ลงไปมากกว่านี้อีก
ดังนั้น หลักการของ VI คือ ซื้อเฉพาะตอนที่มันคุ้มกลับราคานั้นจริง ๆ หากราคาลงไปอีกก็แสดงว่า เป็นส่วนลดที่จะได้เก็บของเพิ่ม อย่ายึดติดว่าราคาทำไมไม่ขึ้นสักที แต่ให้คิดตั้งแต่วินาทีที่ซื้อว่า ซื้อแล้วได้อะไร หากเรามีหลักการในการลงทุนแล้ว เราก็จะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้
ราคานั้นแปรผันตามอารมณ์ แต่การลงทุนอย่างชาญฉลาดจำเป็นต้องให้เหตุผล และที่สำคัญสำหรับสาย VI แม้บริษัทจะพื้นฐานดี แต่ถ้าแพงไปก็ไม่ใช่การลงทุนที่ชาญฉลาด
ดังคำกล่าวของ บิดาผู้กำเนิดการลงทุนเน้นคุณค่าที่ว่า " A great company is not a great investment if you pay too much for the stock. " ; Benjamin Graham
โฆษณา