16 ก.ย. 2021 เวลา 03:30 • สุขภาพ
วัคซีน "โมเดอร์นา" เสียเงินจองแล้ว ได้ฉีดเมื่อไร เตรียมตัวพร้อมรับเข็มกระตุ้น
1
🔺โมเดอร์นา (Moderna) วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับคนในประเทศไทย ที่ยอมเสียเงินจองเอง
🔺หลังมีข่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามสัญญาซื้อ วัคซีนโมเดอร์นา 8 ล้านโดส สำหรับใช้เป็นเข็มกระตุ้น ให้ผู้ที่เคยรับวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วคนที่จ่ายเงินจองไปตั้งแต่กลางปี จะได้วัคซีนเมื่อไร
🔺ระหว่างรอวัคซีน "โมเดอร์นา" มาดูคำแนะนำจากแพทย์ ในการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ใครรอได้ หรือใครควรรีบฉีดเป็นอันดับแรกๆ
💉วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ถือเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับประเทศไทย ซึ่งการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาของไทย นำเข้าผ่าน บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด โดย “องค์การเภสัชกรรม” เป็นตัวแทนภาครัฐ ที่จัดซื้อเพื่อมาจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชน ตามแนวทางข้อกำหนดของบริษัทโมเดอร์นาต่างประเทศ
ซึ่งก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่ต้องการวัคซีนทางเลือก "โมเดอร์นา" ทำการจองวัคซีน ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยประชาชนจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ในราคา 2 โดส 3,400 บาท ซึ่งราคานี้ เป็นราคารวมค่าวัคซีน ค่าบริการฉีด และค่าประกันแพ้วัคซีนแล้ว
1
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่า วัคซีนโมเดอร์นาในลอตแรกนี้ จะเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
กระทั่งวานนี้ (14 ก.ย.64) มีข่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา จำนวน 8 ล้านโดส สำหรับใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในปี 2565 ให้กับองค์กร กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาล ตลอดจนกลุ่มเปราะบางทางสังคม ที่เคยได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นกลุ่มแรกก่อน คาดว่าจะส่งมอบครั้งแรก ช่วงไตรมาสแรกปี 2565 และจะทยอยส่งจนถึงไตรมาสที่สาม
นอกจากนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังแถลงผลการประชุม ครม. ว่า ครม. อนุมัติวงเงินงบกลางปี 64 สำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 946.31 ล้านบาทให้สภากาชาดไทย ใช้ในโครงการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 1 ล้านโดส โดยไม่คิดมูลค่า บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนของบริษัทโมเดอร์นาเสนอขาย 28 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดสละ 940 บาท ค่าขนส่ง 26.75 บาทต่อโดส รวมเป็นโดสละ 966.75 บาท ชำระเงินล่วงหน้าร้อยละ 30 ในเดือน ก.ย. เพื่อให้ส่งมอบวัคซีนงวดแรกได้ในต้นปี 65
2
ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วประชาชนกลุ่มที่ยอมควักกระเป๋า เจียดเงินส่วนตัวมาจองวัคซีน "โมเดอร์นา" ไปตั้งแต่กลางปี จะได้ฉีดเมื่อไร จนหลายคนเปรยว่า ตั้งแต่ซื้อของออนไลน์มา ดูเหมือน "วัคซีน" จะเป็นสิ่งที่รอนานที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ บริษัทซิลลิคฯ ได้แจ้งความคืบหน้า ในการประชุมติดตามความคืบหน้าการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นา กับองค์การเภสัชกรรม และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 14 ก.ย.64 ว่า ด้วยกฎเกณฑ์การส่งมอบที่ต้องดำเนินการตามแนวทางของบริษัทผู้ผลิตต่างชาติ และเป็นแนวทางเดียวกันกับทุกประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความต้องการวัคซีนจำนวนมาก
1
โดยวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 1,958,400 ล้านโดส ผู้ผลิตจะสามารถส่งมอบลอตแรกถึงไทยประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ และจะทยอยส่งสัปดาห์ละ 3 แสนกว่าโดส ต่อเนื่องทุกสัปดาห์จนครบในไตรมาส 4 ปี 2564 ส่วนที่เหลืออีกกว่า 3 ล้านโดส บริษัทจะได้เร่งทยอยส่งมอบจนจบดีลไม่เกินเดือนมีนาคม 2565
2
ทั้งนี้ ในแต่ละครั้งที่ส่งมอบ บริษัทซิลลิคฯ จะส่งวัคซีนให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพตามกระบวนการ โดยใช้เวลาอีก 3-5 วัน ก่อนกระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลเอกชนต่อไป
ในส่วนของการจัดสรรจำนวนวัคซีนที่บริษัทซิลลิคฯ นำเข้ามาในแต่ละครั้ง องค์การเภสัชกรรมจะจัดสรร ตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของยอดโควตาที่มีการจองเข้ามาเป็นหลัก ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนและสภากาชาดไทย โดยจะมีการแจ้งให้โรงพยาบาลทราบล่วงหน้า เพื่อให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งกำหนดเวลาบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่สั่งจองต่อไป
บริษัทซิลลิคฯ ยังได้ยืนยันว่า การดำเนินงานร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและสมาคมโรงพยาบาลเอกชนในการนำเข้าและส่งมอบวัคซีนวัคซีนโมเดอร์นา นับเป็นพันธสัญญาแรกในประเทศไทย ดังนั้นกำหนดการส่งมอบจึงเป็นไปตามลำดับการสั่งซื้อกับผู้ผลิต (First Come First Serve) โรงพยาบาลเอกชนจึงมั่นใจได้ว่าจะมีวัคซีนฉีดให้ผู้สั่งจองตามกำหนดการตามแผนแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่สั่งจองวัคซีนโมเดอร์นาไปแล้ว ระหว่างที่ทำการรอ ก็มาเช็กคำแนะนำของแพทย์ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้น ไปพลางๆ ก่อน
ซึ่งอย่างที่รู้กันว่า วัคซีนโมเดอร์นา (mRNA-1273) เป็นวัคซีนชนิด mRNA เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอเมริกัน คือ บริษัทโมเดอร์นา (ModernaTX, Inc.) ถือเป็นวัคซีนอีกยี่ห้อที่ได้รับการยอมรับ เนื่องจาก องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาหรือ US FDA อนุมัติให้ใช้เป็นตัวที่ 2 ถัดจากวัคซีนโควิดไฟเซอร์
✅ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อน
สามารถรับวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 2 เข็ม ได้โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งมีข้อแนะนำให้ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ หรือประมาณ 28 – 42 วัน (ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์)
✅แต่หากเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น ซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม, แอสตราเซเนกา หรือ ไฟเซอร์ มาก่อน ก็สามารถรับวัคซีนโมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้นได้ตามจำนวนครั้ง และระยะเวลาที่เหมาะสม
โดยมีคำแนะนำจากโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ดังนี้
❎💉สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
ระหว่างนี้ ควรรับวัคซีนไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม ที่มีอยู่ในประเทศก่อน โดยควรรับวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม เพราะไม่ว่าวัคซีนชนิดใดก็ตาม ก็สามารถลดความรุนแรงของโรคได้
แต่หากไม่สามารถรับวัคซีนจากที่ใดได้ เมื่อวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามายังประเทศไทย ขอให้เข้ารับวัคซีนโดยเร็ว ให้ครบ 2 เข็ม โดยเว้นห่างกัน 1 เดือน
✅💉สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ไปแล้ว 1 เข็ม
เนื่องจากวัคซีนซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม คือวัคซีนเชื้อตาย หากได้รับเพียง 1 เข็มจะไม่เพียงพอในการป้องกัน หรือลดความรุนแรงของโรคได้ ดังนั้นควรฉีดวัคซีนเข็ม 2 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระหว่างนี้ ถ้าถึงกำหนดการได้รับวัคซีนโมเดอร์นา ควรได้รับวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 2 เข็ม
✅💉สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้ว 1 เข็ม
แนะนำให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนโมเดอร์นา 1 เข็ม หลังฉีดแอสตราเซเนกา ไปแล้ว 1-3 เดือน อย่างไรก็ดี เนื่องจากในประเทศ มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา หากต้องรอวัคซีนโมเดอร์นาเกิน 3 เดือน แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 กระตุ้นไปก่อน โดยไม่ต้องรอวัคซีนโมเดอร์นา
✅💉💉สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ไปแล้ว 2 เข็ม
วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ภูมิจะขึ้นได้ดีในระดับปานกลางถึงดี อย่างไรก็ตาม หลังฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 2 เดือน ระดับของภูมิคุ้มกันจะเริ่มตกลงอย่างชัดเจน เกินร้อยละ 50 ในหลายประเทศ มีการแนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน mRNA หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วประมาณ 6 เดือน
ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนโมเดอร์นา 1 เข็ม หลังฉีดวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มเข็มที่ 2 ไปแล้ว 3-6 เดือน หรือเข้ารับการฉีดด้วยวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็ม หลังฉีดวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ไปแล้ว 2 เข็ม นานเกิน 6 เดือน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
✅💉💉สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้ว 2 เข็ม
ผู้ที่ได้รับวัคซีนเอสตราเซเนกา ครบ 2 เข็ม ภูมิจะดีขึ้นมาก และมีระดับที่สูงอยู่เป็นเวลานาน (ถ้าฉีดห่างกัน 8-12 สัปดาห์) พอจะต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ระดับหนึ่ง และปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำที่แน่ชัดถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยเฉพาะ 6 เดือนแรก หลังจากได้รับวัคซีนเอสตราเซนเนกา เข็มที่ 2 ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกา ครบ 2 เข็ม ก่อนเดือนตุลาคม 2564 สามารถรอวัคซีนรุ่นใหม่ปีหน้าได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว และอายุมากกว่า 60 ปี ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม อาจจะไม่สูงมาก ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัว ว่ามีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน mRNA ภายในปีนี้หรือไม่
✅💉💉สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยแอสตราเซนเนกา
ปัจจุบันยังไม่มีงานศึกษาวิจัยในคนไข้กลุ่มนี้ รวมถึงภูมิคุ้มกันหลังเข็มที่ 3 ว่าจะสามารถคงระดับสูงอยู่ได้นานเพียงใด คงต้องรอข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
1
แนะนำว่าสามารถรอหลังฉีดแอสตราเซนเนกาเป็นเข็มที่ 3 อย่างน้อย 3 เดือน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องการรับวัคซีนโมเดอร์นาอีกครั้ง
✅💉💉สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม อีก 1 เข็ม
จากการศึกษาเบื้องต้นในประเทศจีน พบว่าหลังกระตุ้นด้วยวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เข็มที่ 3 เมื่อติดตามระดับภูมิคุ้มกัน พบว่าสูงขึ้น แต่ยังคงเป็นระดับที่ไม่สูงมากนัก และภูมิน่าจะต่ำลงได้เร็ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนโมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 หลังจากที่ได้รับเข็มที่ 3 ไปแล้ว 3-6 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าสู่ไตรมาส 4 ของปี 2564 แล้ว ผู้ที่เสียเงินจองวัคซีนทางเลือกอย่าง "โมเดอร์นา" ก็ได้แต่ตั้งตารอว่า เมื่อไรวัคซีนลอตแรกจะถูกส่งเข้ามา เพราะต้องยอมรับว่า หลายคนที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวค ครบ 2 เข็มเป็นกลุ่มแรกๆ ในประเทศ ต่างกังวลกับภูมิคุ้มกันของตัวเองไม่น้อย ว่าจะเหลือเป็นเกราะป้องกันต่อสู้กับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ได้หรือไม่ หรือที่ยังไม่ติดเชื้อในตอนนี้ เพราะการป้องกันส่วนบุคคลยังดีอยู่.
ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์
กราฟิก : Varanya Phae-araya
โฆษณา