20 ก.ย. 2021 เวลา 01:00 • ข่าว
มองโรค มองเรา บทสัมภาษณ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอนที่ ๑/๓
ณ เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ยังไม่มีใคร บอกได้แน่ชัดว่า โลกหลังโควิด-๑๙ จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด เพราะผลกระทบจากวิกฤตครั้งน้ียังคงสร้างความยากลําบากให้แก่ประชาชนค่อนโลก
เมื่อปี ๒๕๖๓ โควิด-๑๙ ทําให้เศรษฐกิจโลกหดตัวกว่าร้อยละ ๕.๘ กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม และธุรกิจ start-ups ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หนี้สาธารณะ ในหลายประเทศเพิ่มสูงข้ึน การนําเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศประสบปัญหา ธุรกิจการท่องเท่ียวและโรงแรมปิดตัวลงจํานวนมาก บางประเทศเกิดเหตุการณ์เหยียดเชื้อชาติชาวเอเชีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโควิด-๑๙ และเกิดการแพร่กระจายข้อมูลที่ผิดเพี้ยนเกี่ยวกับไวรัส
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ในภาวะเช่นนี้ โจทย์สำคัญของไทย คือ เราจะใช้นโยบายต่างประเทศสนับสนุนรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกภาคส่วนได้อย่างไร โดยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อไทย และผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-๑๙ ​โดยคำถึงถึงพัฒนาการทางการเมืองระหว่างประเทศที่จะส่งผลโดยตรงต่อการต่างประเทศของไทยในช่วงนับจากนี้ และในขณะเดียวกัน พวกเราคงต้องพินิจพิเคราะห์และทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ว่า ปัญหาและความท้าทายที่โลกต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด และเราควรจะดำเนินบทบาทอย่างไรเพื่อเตรียมรับมือกับโลกภายหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ สังคม แนวคิดและวิถีชีวิตผู้คน
ฝ่ายบรรณการวารสารสราญรมย์ได้รับความกรุณาอย่างยิ่งจากท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ในการบอกเล่ามุมมองที่น่าสนใจและฉายภาพที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางการต่างประเทศไทยและความร่วมมือที่จะเป็นประตูสู่อนาคตของไทยและของโลก...ภายหลังวิกฤตโควิด-๑๙
โควิด-๑๙: สงครามระหว่างคนกับธรรมชาติ
แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะมองว่า วิกฤตโควิด-๑๙ เป็นจุดเปลี่ยนผันที่ทำให้โลกต้องปรับตัวเข้ากับ "ความปกติใหม่ (new normal)" หรือต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ในทัศนะของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ท่านเห็นว่า แต่ละประเทศสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องรอโควิด-๑๙ ไปเสียทั้งหมด สิ่งใดที่ต้องเปลี่ยนก็ควรดำเนินการทันที แต่โดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงใด ๆ มักเกิดจากบริบทสำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ บริบทของคน อาทิ เมื่อเปลี่ยนผู้นำที่มีนโยบายใหม่ และบริบทของเวลา เช่น เมื่อมีโอกาสพิเศษต่าง ๆ หรือช่วงเวลาสำคัญที่ควรจะริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ
ส่วนโควิด-๑๙ เป็นความผสมผสาน เป็นปัญหาของโลกที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และเสมือนเป็น "สงคราม" ระหว่างคนกับเชื้อโรค หรืออีกนัยหนึ่ง คือ คนกับธรรมชาติ เพราะเชื้อโรคก็มาจากธรรมชาติซึ่งยังไม่ทราบที่มาที่ชัดเจน บ้างก็ว่าเป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
"ถ้าจับโจทย์แล้วจะเห็นว่าโควิด-๑๙เป็นปัญหาระหว่างคนกับธรรมชาติ ซึ่งปัญหาในลักษณะนี้ก็พูดกันมาอย่างยาวนาน แต่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญและถูกมองข้ามไป เช่น ปรากฎการณ์สำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในอดีต คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติกำลังสึกหรอและถูกกัดกร่อน"
ท่านรองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวถึงเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า แม้ประเด็นนี้จะได้รับการกล่าวถึงมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะเป็นมุมที่ไม่น่าตื่นเต้นและห่างไกลจากการเห็นผลเชิงประจักษ์หรือผลที่เป็นรูปธรรม คนที่ให้ความสำคัญก็คือคนที่เห็นผลหรือได้รับผลกระทบด้วยตนเองแล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป ซึ่งต่างจากเรื่องความมั่นคง การชิงไหวชิงพริบ ทางการเมืองที่น่าตื่นเต้น หรือปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่ในวิถีชีวิตของเรา
"คนเราจะเริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัวมากขึ้น หากเกิดปัญหาและความท้าทาย (challenges) ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มตระหนักมากขึ้นเพราะเราเห็นข้อเท็จจริง เราจึงต้องปรับตัว ระแวดระวังและไม่มองข้าม" ท่านรองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าว
"บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำว่า 'การเปลี่ยนแปลง' แต่เราไม่เคยพูดกันอย่างจริงจังว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น ควรจะเป็นเรื่องใดบ้าง และจะเริ่มต้นอย่างไร โดยในช่วงเวลานี้ มันยังเป็นเพียงการคิด และยังไม่มีใครรู้ชัดว่าโลกหลังโควิด-๑๙ ควรจะมีมาตรการหรือยึดถือเรื่องใดบ้างที่จะเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต"
อย่างไรก็ดี ท่านมองว่าสิ่งหนึ่งที่สามารถรับรู้ได้ว่าน่าจะปรับเปลี่ยน และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเราอย่างชัดเจน คือ เทคโนโลยี
"โควิด-๑๙ ทำให้เราเห็นว่า หากไม่รู้เทคโนโลยี เราจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย การจับจ่ายซื้อของ การซื้อหาอาหาร การเยียวยาชดเชย การเรียนหนังสือ การทำงานและการใช้ชีวิตแง่มุมอื่น ๆ ทุกวันนี้เราเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดและจะมากเป็นทวีคูณ" ดังนั้น ในอนาคต เทคโนโลยีจะไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความสะดวก แต่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ เราจะได้เห็นหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาทดแทนการทำงานของคนอย่างรวดเร็ว
(บทความจากวารสารสราญรมย์ Vol. ๗๔ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๔ ติดตามตอนที่ ๒/๓ ทาง Blockdit กระทรวงการต่างประเทศได้ในวันพุธที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔)
โฆษณา