22 ก.ย. 2021 เวลา 04:03 • ข่าว
มองโรค มองเรา บทสัมภาษณ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอนที่ ๒/๓
การต่างประเทศไทยหลังโควิด-๑๙
เมื่อมองว่าโควิด-๑๙ เป็นปัญหาของโลกที่เกิดขึ้น ในห้วงเวลาหนึ่ง ดังนั้น ทิศทางการต่างประเทศไทยภายหลังโควิด-๑๙ จึงเป็นการให้ความสำคัญกับ สาขาความร่วมมือต่าง ๆ มากขึ้น มากกว่าการปรับทิศทางให้แตกต่างจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง "เอาเข้าจริง โจทย์ก็วนกลับมาเช่นเดิม หนีไม่พ้นเรื่องสาธารณสุข การแพทย์ การเกษตร อาหารการกิน พลังงาน นวัตกรรม สิ่งเหล่านี้จะมีความสำคัญมากขึ้น แต่เราจะมุ่งความสำคัญของแต่ละเรื่องในแง่มุมใด นั่นยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อ"
"รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ตระหนักถึงโจทย์ที่ว่าอยู่เสมอ และพยายาม จะพิจารณาเรื่องเหล่านั้นให้สัมพันธ์กับบทบาทของเรา บทบาทการเป็นประธานหรือเจ้าภาพของไทยในเวทีต่าง ๆ และดูว่าจะใช้โอกาสเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของภูมิภาคหรือคุณค่าของโลกได้อย่างไร"
ที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญในเรื่องนวัตกรรมแต่หนึ่งในประเด็นสำคัญในขณะนี้คือ แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจซีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy) หรือ BCG ซึ่งท่านรองนายกรัฐมนตรีฯ มองว่า BCG เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ก่อนหน้านี้ โลกได้เคยกล่าวถึงทั้งสามประเด็นแล้ว แต่กลับมีการดำเนินการที่แยกส่วนกัน ทั้งที่มีคุณค่าและสาระสำคัญเชื่อมโยงกัน คือ คุณค่าของธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือพืชพรรณต่าง ๆ หากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลให้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ก็จะเกิดผลกระทบต่อมนุษย์อย่างกว้างขวาง อาทิ การเกิดภัยธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙
ดังนั้น หากไทยสามารถคิดได้อย่างชัดเจนและส่งเสริมเรื่องดังกล่าวได้ ก็อาจเป็นแนวทางที่จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดและการกระทำให้วิถีชีวิตของคนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดีขึ้น ไม่เสียสมดุล ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ
เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ ท่านรองนายกรัฐมนตรีฯ ยกตัวอย่างความพยายามและแนวทางของอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้และการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ "พูดเรื่องนี้อาจไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับการกำหนดสถานะหรือทิศทางทางการเมืองและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ แต่โลกต้องรับรู้ว่า การอยู่อย่างสมดุลของสิ่งมีชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
โรคอุบัติใหม่ ก็เกิดจากความไม่สมดุลของธรรมชาติ ทุกฝ่ายตระหนักดีว่าเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขา แต่ก็ต้องทำ เพราะมิเช่นนั้นทุกคนจะอยู่ไปตามวิถีเดิม ๆ ที่เคยเป็นมาและเป็นวิถีของทุกชาติ ทุกภาษา ที่คนไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง" ท่านเชื่อว่า เรื่องนี้จะเป็นแนวโน้มสำคัญของโลกในยุคหลังโควิด-๑๙ ซึ่งแม้เป็นประเด็นที่ไม่เร้าใจและขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มีแนวโน้มจะต่อสู้ขัดแย้งหรือแข่งขันกันเองเพื่อความอยู่รอดแต่ก็เป็นเรื่องสำคัญ และต้องสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับสิ่งที่อยู่ใน DNA และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ให้ได้
อีกประการหนึ่งที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีฯ เน้นย้ำคือ การมองโลกให้สอดคล้องกับความเป็นจริง (realistic) แล้วทำให้ดีที่สุด ขณะนี้มนุษย์มีขีดความสามารถก้าวไกลไปถึงอวกาศ และได้สร้างยาน Perseverance ไปสำรวจถึงดาวอังคาร ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า เทคโนโลยีและอวกาศน่าจะเป็นบริบทสำคัญสำหรับคนยุคต่อไป ซึ่งจะมีขอบเขตที่กว้างไกลออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายอื่น ๆ ของไทยจะยึดแนวคิดแบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้เพื่อ "ไม่ให้ตกยุค" ซึ่งไทยก็รับมือได้ดีและได้รับการจัดอันดับศักยภาพในด้านต่าง ๆ ให้อยู่ในอันดับต้น ๆ หลายด้าน ซึ่งเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่หลักการสำคัญคือ ต้องทำให้คนไทยมีความสุขและปลอดภัย
(ติดตามตอนสุดท้ายของบทสัมภาษณ์ได้ในวันศุกร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔)
โฆษณา