20 ก.ย. 2021 เวลา 01:00 • การศึกษา
เรียนรู้ Outward Mindset ผ่านแนวคิด เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร ขวัญใจชาวไทย
1
หลายคนพอเริ่มทำธุรกิจ สิ่งแรก ๆ ที่จะทำคือการโฟกัสไปที่ยอดขายและกำไรเลยทันที จนอาจลืมไปว่า การทำให้ลูกค้าตกหลุมรักในสินค้า ในบริการ หรือในแบรนด์ได้ ต้องเริ่มจากการเข้าใจความต้องการของลูกค้าให้ได้ก่อน..
1
หากพูดถึงหนึ่งธุรกิจที่ต้องใส่ใจลูกค้ามาก ๆ เราก็คงต้องพูดถึงธุรกิจ “ร้านอาหาร” เพราะคนทำร้านอาหารนั้น ต้องคิดค้นทั้งอาหารที่มีรสชาติที่ถูกปาก ควบคู่ไปกับการมีบริการที่อบอุ่นและเป็นมิตรกับลูกค้าอยู่เสมอ
หรือพูดอีกมุมหนึ่งก็คือ คนทำธุรกิจร้านอาหาร นอกจากจะต้องเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการแล้ว ยังต้องเข้าใจความต้องการของพนักงานในร้านและคนในองค์กรด้วยว่า จะช่วยให้เขาทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไร เพื่อที่เขาจะได้ส่งต่อความสุขนั้น ไปสู่ลูกค้าผู้มาใช้บริการต่อไป
2
ซึ่งแนวคิดหรือกระบวนการคิดในการเข้าอกเข้าใจทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจแบบนี้ ถ้าพูดในมุมวิชาการขึ้นมาอีกนิด เราจะอธิบายได้ด้วยคำว่า “Outward Mindset”
1
ใครที่ยังสงสัยคำว่า Outward Mindset ลองมาเรียนรู้คำคำนี้ไปพร้อม ๆ กัน ผ่านแนวคิดของ เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร ขวัญใจชาวไทย “สุกี้ตี๋น้อย” และ “บาร์บีคิวพลาซ่า”
มาเริ่มกันที่ร้านสุกี้ ชาบู ขวัญใจคนกรุงเทพฯ อย่าง “สุกี้ตี๋น้อย” กันก่อน
เชื่อว่าหากพูดถึงร้านสุกี้ ชาบู ที่เนื้อหอมที่สุดในกรุงเทพฯ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็คงต้องมีชื่อ สุกี้ตี๋น้อย อยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน
คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของกิจการร้านสุกี้ตี๋น้อย เคยให้สัมภาษณ์กับเพจลงทุนแมน เกี่ยวกับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้ลูกค้าหลงรัก และแนวคิดที่ใช้รับมือกับวิกฤติ ซึ่งสะท้อนคำว่า Outward Mindset ได้ดีเลยทีเดียว เช่น
- สุกี้ตี๋น้อย เข้าใจว่าลูกค้าจำนวนมากชอบทานบุฟเฟต์ช่วงดึก จึงมีนโยบายเปิดร้านตั้งแต่ช่วงเที่ยงไปจนถึง 05.00 น. ซึ่งกลายมาเป็นจุดเด่นที่ตอบโจทย์หลาย ๆ คน
- กลยุทธ์การตั้งราคาที่เน้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ราคาเริ่มต้นที่ 199 บาท พร้อมได้ทานบุฟเฟต์ที่มีคุณภาพคุ้มราคา ซึ่งทำให้ลูกค้าอยากกลับมาทานซ้ำเรื่อย ๆ
- พอเข้าสู่ช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่บางช่วงทางร้านไม่สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ สุกี้ตี๋น้อย ก็หันมาออกแบบเมนูที่ดิลิเวอรีได้ โดยคงคอนเซปต์ราคาไม่แพง และลูกค้าที่สั่งไปทานต้องรู้สึกคุ้มค่า
เพื่อเวลาที่กลับมาเปิดร้านได้เหมือนเดิม ลูกค้าจะนึกถึง และอยากกลับมาสนับสนุนร้านในอนาคต
1
- ในเรื่องการดูแลพนักงาน ในช่วงวิกฤติที่ร้านเปิดให้บริการตามปกติไม่ได้ ทางร้านก็ยังพยายามดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวพนักงานให้น้อยที่สุด
เช่น ให้พนักงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำงานในส่วนที่ลูกค้าสั่งดิลิเวอรี โดยจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน และมีอาหารฟรีในช่วงเวลาทำงาน เพื่อให้พนักงานยังคงมีรายได้แม้ในยามวิกฤติ
1
จะเห็นว่า แม้จะอยู่ในช่วงเวลาปกติหรือท่ามกลางวิกฤติ เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยก็บริหารงานด้วยความเข้าอกเข้าใจ และเอาใจใส่ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทางร้านเสมอ
ซึ่งนี่เองที่สะท้อนความหมายของคำว่า Outward Mindset ได้เป็นอย่างดี และแนวคิดนี้ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ สุกี้ตี๋น้อย ครองใจใครหลาย ๆ คนได้ในวันนี้
คราวนี้มาดูทางฝั่งของ กลุ่มบริษัท Food Passion
เจ้าของร้านอาหารชื่อดังขวัญใจสายปิ้งย่าง อย่าง “บาร์บีคิวพลาซ่า” และอีกหลายแบรนด์ในเครือ
คุณเป้ ชาตยา สุพรรณพงศ์ ผู้บริหารคนสำคัญของ Food Passion ได้ถ่ายทอดกับทาง SEAC ว่า ได้นำเอาแนวคิด Outward Mindset มาใช้ในองค์กรกว่า 5 ปีแล้ว และแนวคิด Outward Mindset เข้ามาช่วยในเรื่องการทำงานเป็นทีมขององค์กร ให้มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมาก
เพราะแนวคิด Outward Mindset ฝึกให้คนในองค์กรทุกคน เอาตัวเอง “ออกจากกล่อง” คือ ออกนอกกรอบความคิดที่มองเห็นแค่ความต้องการของตัวเอง แล้วมองไปยังความต้องการของคนในทีมเเละเป้าหมายในองค์กรแทน
พอทุกคนมีกระบวนการคิดแบบนี้ ในองค์กรก็เกิดบรรยากาศแห่งความร่วมมือกัน เข้าใจกัน ช่วยเหลือกัน มองเห็นเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน และมุ่งมั่นพาองค์กรไปยังเป้าหมายนั้นให้ได้
2
คุณเป้ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ช่วงที่โควิด 19 ระบาดหนัก ๆ จนหลายพื้นที่ต้องล็อกดาวน์ ทาง Food Passion ได้มีการผลักดันโปรเจกต์ใหม่ ๆ เพื่อมารับมือกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถเปิดร้านได้ มากถึง 16 โปรเจกต์ ภายในเวลาเพียงแค่ 2 เดือน เท่านั้น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เวลานานถึง 2 ปี
ที่เป็นแบบนี้ คุณเป้บอกว่า ส่วนสำคัญเพราะคนในองค์กรทำงานร่วมกันภายใต้กระบวนการคิดที่เข้าใจซึ่งกันและกัน และเข้าใจว่าองค์กรต้องเดินหน้า เพื่อเอาชนะวิกฤติครั้งนี้ให้ได้
ซึ่งกระบวนการคิดแบบนี้ มันสร้างผลลัพธ์ได้แบบ “ทวีคูณ”..
1
เรื่องนี้ ไปสอดคล้องกับผลของงานวิจัยจากสถาบัน Arbinger ที่บอกว่า
“การเปลี่ยนแปลงที่ Mindset สร้างผลลัพธ์มากถึง 400% ของการเปลี่ยนแปลงแค่ที่พฤติกรรม”
เพราะ “ผลลัพธ์” นั้นเกิดมาจาก “พฤติกรรม”
และพฤติกรรมของเรานั้น ก็สะท้อนมาจาก “Mindset” หรือกระบวนการคิดของเราอีกทีหนึ่ง
3
โดยหากทุกคนในองค์กรต่างมี Mindset แบบ “ออกนอกกล่อง” หรือ “Outward Mindset” คือมองเห็นเป้าหมายและความต้องการของคนอื่น สำคัญไม่แพ้เป้าหมายและความต้องการของตัวเอง
ทีมงานหรือองค์กร ก็จะทำงานร่วมกันได้ง่าย และก็มีโอกาสสร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้นเป็นทวีคูณ ตามงานวิจัยของ Arbinger นั่นเอง
เราจะเห็นว่า ทั้งคุณเฟิร์น เจ้าของสุกี้ตี๋น้อย และคุณเป้ ผู้ดูแลอาณาจักร Food Passion เจ้าของบาร์บีคิวพลาซ่า มีแนวคิดบางอย่างที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ การทำธุรกิจโดยยึดหลักความเข้าอกเข้าใจเป้าหมายและความต้องการของทุกฝ่าย ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร เช่น ลูกค้า และพนักงานขององค์กร
แนวคิดหรือกระบวนการคิดแบบนี้เอง ที่เป็นความหมายของคำว่า “Outward Mindset”
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าใจ และครองใจลูกค้าได้ จนกลายมาเป็นแบรนด์ที่ใคร ๆ ก็ต้องหลงรัก และนึกถึงอยู่เสมอ..
โฆษณา