17 ก.ย. 2021 เวลา 14:47 • ข่าว
สรุปจาก 📝WhyItMatters EP.36 ทำไม “นักข่าว” ถึงสำคัญ 🎤
======================
สามารถฟังในรูปแบบเสียงได้ที่ https://bit.ly/3ErpjDB
======================
======================
1. นักข่าวคืออะไร
======================
[คุณจอมขวัญ]
- อาชีพหรือวิชาชีพนึงที่ทำหน้าที่ในพื้นที่ ที่มีความเป็นส่วนรวม สาธารณะ
[คุณเอม]
- ถ้าตามนิยามที่เรียน ภาษาอังกฤษคือคำว่า Journalist ซึ่งเริ่มต้นจากในยุโรปคือ ผู้บันทึกเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ในอเมริกาจะไปทาง Reporter คือผู้รายงานสิ่งที่เกิดขึ้น
- ถ้าในเมืองไทย หลักๆ คือ คนที่ฝึกฝนวิชามาเพื่อที่จะคัดกรองว่าสังคมควรจะรู้อะไรบ้าง มีหน้าที่จับประเด็นเรื่องราวในประเทศหรือในโลกที่มีอยู่มากมาย และเลือกสิ่งที่สำคัญมานำเสนอ เพราะว่าคนโดยทั่วไปไม่มีเวลาที่จะสามารถเสพทุกอย่างได้
======================
2. ประเภทของนักข่าว
======================
[คุณเอม]
- ถ้าแบ่งตามความเชี่ยวชาญก็อาจจะแบ่งเป็น นักข่าวในประเทศ/ต่างประเทศ
- ถ้าแบ่งตามทักษะก็จะมี ผู้ประกาศข่าว (คุณกิตติ), นักเล่าข่าว (คุณสรยุทธ์), News Host (คุณจอมขวัญ), นักข่าวภาคสนาม (คุณวาสนา นานวม)
[คุณจอมขวัญ]
- นิยามงานอาจจะเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี อย่างน้อยในช่วง 10-15 ปีนี้ ตอนเราอยู่เนชั่น เขาจะไม่เปิดรับผู้ประกาศข่าว จะรับเข้ามาเป็นผู้สื่อข่าว แต่โดยนิยามในวันนั้นคือ ต้องไปรายงานข่าวภาคสนามได้ อ่านข่าวได้ แต่เนชั่นจะเน้นเป็นลักษณะของการเล่าข่าว และต้องจัดรายการได้ด้วย ทุกคนในเนชั่นต้องทำได้หมด
[คุณเอม]
- สมัยก่อนมีโรงเรียนข่าวใหญ่ๆ อยู่สองโรงเรียนคือ โรงเรียนเนชั่น (คุณสุทธิชัย) กับโรงเรียนแปซิฟิก (คุณสมเกียรติ) แล้วก็กระจายไปอยู่ ITV, INN, Nation
- ถ้าย้อนไป 50 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของข่าวเมื่อก่อนมาจากทีวีช่องหลัก มาจากกรมประชาสัมพันธ์ ทำข่าวก็เชยๆ อย่างเราใกล้ชิดกับคุณสุทธิชัยก็จะเอาความรู้จากโลกตะวันตกมาเล่าด้วย
======================
3. ทำไมนักข่าวถึงสำคัญ
======================
[คุณจอมขวัญ]
- ต้องย้อนกลับไปถามว่าจริงๆ แล้วนักข่าวสำคัญไหม เป็นเหมือนคำถามกึ่งเสียดสีกึ่งจริง เราคุยกันในวันนี้ที่สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ทำให้หลายคนผิดหวังจากความคาดหวังกับสิ่งที่สื่อในเมืองไทยควรจะเป็น ถ้าพูดด้านเดียวก็อาจจะไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะในทางกลับกันกลุ่มที่ทำให้ประชาชนบางส่วนผิดหวัง ก็เป็นกลุ่มที่ทำให้ประชาชนบางส่วนรู้สึกตรงกันข้าม เพราะว่าสื่อถูกนิยามจากคนสองฝั่งใหญ่ๆ ก็จะมีด้านที่ถูกมองต่างกันสุดขั้ว
- จริงๆ มันยังสำคัญอยู่ ถ้ามันเป็นอย่างที่ควรจะเป็นตามหลักวิชาชีพ ซึ่งยังไม่รวมถึงความคาดหวัง นิยามบางอย่างอาจจะเปลี่ยนไปตามสังคม ค่านิยม มุมมอง แต่หลักบางอย่างยังจะคงอยู่ มันยังคงสำคัญ แต่อันไหนที่บกพร่อง อาจจะต้องเติมให้ถึงให้ได้
- หลักการเช่น เราต้องเข้าใจว่างานที่เราทำมันเป็นงานสาธารณะ เป็นงานส่วนรวม คำว่าสื่อมวลชน ต้องเป็นคนที่ส่งผ่านเนื้อหาจากที่นึงไปสู่อีกที่นึง ถ้าสามารถทำแบบนี้ได้ ต่อให้เป็นข่าวอะไร หรือสถานการณ์แบบไหน มันก็มีหน้าที่หลักของมันแบบนี้
- โดยที่ต้องคัดกรองด้วยบางส่วน ซึ่งไม่ได้แปลว่าให้ความสำคัญกับสื่อให้มีอำนาจในการเลือก แต่คือเราถูกฝึกฝนมา มันมีหลักปฎิบัติซึ่งมันถูกตกผลึกแล้วระดับหนึ่งว่าอะไรมันสำคัญต่อสังคม อะไรที่เราควรจะหยิบจับขึ้นมาและส่งเสียงให้กับเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่พอสังคมมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้นิยามมันแกว่งไปมา รวมถึงบริบทสังคมไทยโดยเฉพาะ ทำให้นิยามต่างๆ ของวิชาชีพนี้มันโดนแซะซะเอง แต่ยังไงหน้าที่หลักของเราก็คือการสื่อสารมวลชน
[คุณเอม]
- ถ้าจะเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น สื่อไทยก็เป็นอาชีพนึง เหมือนนักกีฬาหรือนักวิทยาศาสตร์ ต้องยอมรับว่าองค์ความรู้หรือทักษะในการนำเสนอหรือผลิต อาจจะยังไม่ได้ตรงตามที่พึงจะเป็น ก็มีหลายอย่างที่น่าจะพัฒนาขึ้นได้ อาจจะไม่ใช่เพราะตัวนักข่าวเองอย่างเดียว แต่มันมีบรรยากาศหลายอย่างที่ต้องออกแบบให้สื่อไทยทำงานให้มันดีขึ้น และตอบโจทย์สังคมมากกว่านี้ มีทั้งเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก กำลังเงิน โอกาสในการทำงาน ช่วงเวลาในการขุดคุ้ยแต่ละเรื่องมานำเสนอ
- มันอาจจะยังไม่ได้เป็นไปตามที่ใจเราอยาก แต่ความสำคัญมันยังมีอยู่ เอาเท่าที่ศักยภาพที่นักข่าวไทยทำได้ทุกวันนี้ เอาแค่ช่วงโควิด มันอาจจะไม่ได้สมบูรณ์ ยังมีจุดที่คนไม่ชอบ หรือมีจุดที่เราผิดพลาด ตกหล่นจริงๆ แต่ถ้าย้อนกลับไป ก็จะเห็นว่าเราก็ช่วยสะกิดตบประเด็นให้กลับมาอยู่ในร่องในรอย และถ้ามองอีกมุมในฝั่งของคนทำข่าวที่เข้ามาอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนด้วยสัมมาอาชีพที่อยากทำข่าวจริงๆ เราก็กล้าการันตีว่าทุกวันนี้มันมีเยอะ ที่เขาก็อยากทำงานสื่อสารมวลชนที่ดี ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ตอนนี้
- ยกตัวอย่าง ถ้าช่วงที่ผ่านมาเราไม่มีนักข่าวเลย เรามีรัฐมนตรีที่บอกว่าโควิด-19 เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา นักข่าวก็ทำหน้าที่ในการยันว่ามันไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา หรืออย่างเรื่องวัคซีนในการที่มันควรจะไปถึงมือหมอ เราก็ทำหน้าที่ในการเกาะเอาไว้อยู่ จะมีฟังก์ชั่นว่าเราจับตาดูคุณอยู่นะ หลายอย่างก็เป็นเพราะชาวเน็ตด้วย แต่สื่อก็จะมีโอกาสที่จะใช้เวลาอยู่กับมัน นำเสนอสิ่งที่มันมีการตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องแน่นอน
- ถ้าเปรียบเทียบแล้ว ชาวเน็ตที่มีจำนวนเยอะจะเหมือนมวยที่ต่อยรัวๆ หลายหมัด สะเปะสะปะ อาจจะมีที่หมัดตรงบ้าง แต่ว่านักข่าว พอเราจะชก ต้องการจะชี้ทางหรือยืนยันสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรามีเวลาในการหาความรู้หรือกลั่นกรองมาแล้วก็นำเสนอ มันก็จะชกได้แม่นกว่า แม้ว่าจะไม่ต้องออกหมัดเยอะ
- มันยังมีความสำคัญมากในทุกที่ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ส่วนตัวมองไปข้างหน้าก็จะต้องมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วในสังคมประชาธิปไตยก็ต้องมีโอกาสที่จะให้คนนำเสนอข้อมูล ยิ่งในบรรยากาศโลกออนไลน์แบบนี้ทุกคนเป็นนักข่าวได้ ทุกคนโพสต์ได้ แชร์ได้ มันก็ควรคืนความศักดิ์สิทธิ์ให้กับนักข่าว ความศักดิ์สิทธิ์นั้นอาจจะยังไม่เป็นแบบที่ใจเราอยาก แต่หวังว่าสักวันหนึ่งพอบรรยากาศหลายอย่างมันดีขึ้น ตัวนักข่าวก็ต้องทำให้มันศักดิ์สิทธิ์ด้วย แล้วเดี๋ยวอะไรๆ มันก็จะดีขึ้น
[คุณจอมขวัญ]
- ณ ตอนนี้ เพจที่มีคนตามจำนวนมาก หรือคนที่มีชื่อเสียงที่สนใจเนื้อหาที่มีความเป็นสาธารณะ แล้วก็ส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ความคืบหน้าต่างๆ ก็ทำหน้าที่กึ่งจะเป็นสื่อได้
- ที่พูดว่ากึ่งคือ ต้องถามเจ้าตัวด้วยว่าเขาวางตัวเองแบบนั้นไหม ถ้าเราบอกว่าเราเป็นใคร ความรับผิดรับชอบก็จะมากับสิ่งที่เราบอกว่าเราเป็น สมมุติเราเขียนข้อมูลบางอย่างแล้วบอกว่าเราทำงานเป็นสื่อ หรือถ้าบางข้อมูลนึกจะส่งผ่านข้อมูลที่ไม่อยากจะรับผิดชอบหรือก่ำกึ่ง ไม่อยากจะตกกระแส ตกข่าว แต่ไม่ได้อ้างสิทธิ์เหมือนที่ผ่านมาที่ตัวเองเป็น อันนี้จะทำให้มีความต่าง พอเราประกาศว่าเราเป็นใคร โดยตัวอาชีพทำมาหากินของเราเอง มันจะมีความรับผิดรับชอบอยู่
- การที่ใครก็ตามลุกขึ้นมาเป็นสื่อตอนนี้ ยังไงมันก็เป็นข้อดี มันมีหูมีตาเยอะ แต่ก็ต้องสอบทานกันค่อนข้างมากขึ้น แต่อย่างหนึ่งที่ทำให้สื่อยังคงเป็นสื่อที่มีตัวตนคือ การเข้าถึงแหล่งข่าว เพราะว่าแหล่งข่าว ไม่ใช่ว่าทุกคนจะให้ข้อมูล แต่การที่คุณมีสังกัด มีตัวตนที่ชัดเจนจะทำให้คุณสามารถเข้าถึง ตั้งคำถาม ส่งไมค์ถาม แหล่งข่าวที่เป็นทางการได้ ขนาดคนที่มีสังกัด มีตัวตนชัดเจน บางข้อมูลเขายังเลี่ยงที่จะตอบคำถามหรือถูกตรวจสอบเลย เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่อาจจะนิยามตนเองว่าเป็นสื่ออีกแขนงนึงที่มากับเทคโนโลยีใหม่ๆ มันยังมีความจำกัดในการเข้าถึง อาจจะเป็นความต่างอีกข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัด
======================
4. เทียบวงการสื่อสมัยนี้กับสมัยก่อน
======================
[คุณเอม]
- เรื่องที่คิดว่าดีคือ การเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกมาสู่ดิจิทัล ยุคดิจิทัลมันคือ democratize คือการ empower ให้คนมีปากมีเสียงมากขึ้น จากสมัยก่อนมีหนังสือพิมพ์อยู่ 10 ฉบับ ทีวี 6 ช่อง สื่อมันทรงพลังมาก มี บก. อยู่แค่ 16 คน พอหนังสือพิมพ์จะฟันธงเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยกัน มันทรงพลังมากๆ ซึ่งข้อเสียคือ คนที่เป็นเสียงเล็กเสียงน้อย เขาไม่มีโอกาสที่จะมาโผล่ในสื่อกระแสหลัก ถ้าเป็นยุคก่อนเขาจะอยู่แค่ในสังคมปกติ ในขณะที่ปัจจุบันมีน้องที่อาจจะทำคลิปโด่งดังจน subscriber มากกว่าสำนักข่าวซะอีก
- การทำงานข่าวในปัจจุบัน มันมีพื้นที่ให้คอมเมนต์ แลกเปลี่ยนข้อมูล เวลาเราพูดอะไรถูกหรือผิด คนก็จะไปติดแฮชแท็ก แชร์โพสต์กันในเฟสบุ๊ค ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้วตอนเราทำเรื่องชุดนักเรียนหรือการตัดผม เราไม่รู้ว่าคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยยังไง แค่ถ้ามีผู้ใหญ่คนนึงมาติว่ามันขัดต่อธรรมเนียมไทย เราก็จะรู้สึกว่ามันทำไม่ได้ แต่ยุคนี้ต่อให้มีคนค้านว่าการตัดผมมันถูกต้องแล้ว มันก็จะยังมีพื้นที่ให้คนมาคอมเมนต์ว่าเขาไม่เห็นด้วย ความเป็นประชาธิปไตยตรงนี้มันจะช่วย shape ให้สังคมมันค่อยๆ เขยิบไปได้
- แต่ในเวลาเดียวกันพอกระบอกเสียงเยอะ มันก็จะกระจัดกระจาย บางข่าวคนก็ยังแชร์กันอยู่ทั้งๆ ที่เป็นข่าวไม่จริง อีกข้อคือการที่คนเสพข้อมูลชุดเดียวกัน ก็จะอยู่ด้วยกัน
- มีทั้งข้อดีและมีข้อเสีย แต่ในฐานะที่เคยเป็นนักข่าวทีวีมาก่อน แล้วกระโดดมาออนไลน์ เราเห็นข้อดีมากกว่า เยอะมาก
[คุณจอมขวัญ]
- ยังไงก็ต้องมีข้อดีและมีข้อเสียอยู่แล้ว คิดว่าดีเพราะ มันทำให้เห็นสังคมที่เมื่อก่อนยังเห็นได้แคบมากๆ เราเชื่อในความต่างว่ามันมีอยู่ แต่เมื่อมันมีตัวตนให้เราเห็น มันแข็งแกร่งกว่าเยอะ เราจะคุ้นชินกับเรื่องพวกนี้จริงๆ ไม่ได้แค่จินตนาการเอาเอง หรือว่ายอมรับแค่ในทางหลักการ
- วันนี้คุณเห็นแล้วว่ามันมีคำอธิบายสำหรับความเชื่อแต่ละชุด มันคือแบบฝึกหัดของจริงที่วันนึงจะกลายเป็นแบบทดสอบ ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ประเทศไทยของเราเจอแบบทดสอบอยู่เรื่อยๆ ในโลกของความเป็นจริง คุณต้องยอมรับการมีอยู่ ไม่ว่าคุณอึดอัด จะยอมรับหรือไม่ แต่ความแตกต่างหลากหลายมันมีอยู่จริง
- บางครั้งการที่เป็นคนที่ influence คนอื่นได้ ในทางความคิด ความอ่าน มันย่อมดีแน่ เพราะเรามีความแตกต่างทางความคิดอยู่แล้ว ความเชื่อ ความศรัทธา แต่มันจะมีค่านิยมหรือความคุ้นชินบางอย่าง คุณจะเห็นคนที่ตามเชื่อบุคคลอย่างถึงที่สุด โดยลืมไปว่าการที่คุณชอบสไตล์ วิธีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือวิธีการแสดงออกของเขาต่อเรื่องส่วนรวมสาธารณะ จริงๆ มันสร้างมาตรฐานบางอย่าง ที่เรารู้สึกว่ามันมีราคาที่ต้องจ่าย สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการมีศาลเตี้ยโดยไม่รู้ตัว มันมีบางอย่างที่เขายั้งอยู่ แต่ก็มีไม่น้อยที่เห็นว่ามันเสี่ยงที่จะถลำ อย่าลืมว่าการที่คุณเชื่อใครหรือตามใครก็แล้วแต่บางครั้งมันคือการสนับสนุนให้เกิดศาลเตี้ยจนเราลืมไปแล้วว่าการทำแบบนี้มันมีราคาที่ต้องจ่ายร่วมกัน และมันไม่ได้เลือกว่าเรื่องไหนบ้าง ก็อาจจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องระวังไว้บ้าง
- บางอย่างมันทำให้เรามีความอดทนต่อการใช้ระบบน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะเข้าใจความเป็นระบบมากขึ้นไปด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถเป็นคนที่เท่าทันในการใช้สื่อ ไม่ว่าจะเป็นคนผลิตหรือรับสื่อ ถ้าเราสามารถตามเท่าทันมันได้ ก็จะสามารถอยู่และหาประโยชน์จากมันได้ง่าย
======================
5. การควบคุมสื่อในปัจจุบัน
======================
[คุณจอมขวัญ]
- มองว่ายังมีเหมือนเดิม สมัยก่อนนายทุนอาจจะพยายามควบคุมสื่อ อำนาจ การเมือง ไม่ว่าอำนาจทางใดทางหนึ่งก็จะพยายามเข้ามาควบคุมหรือกำกับดูแลใกล้ชิดสื่อเกินเหตุ ถ้าเอาทีวีเมื่อก่อน 3, 5, 7, 9, 11, ITV และเคเบิ้ลทีวี สมัยก่อนจะมีกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมาเพื่อไม่ให้มันรวมศูนย์ความเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ แต่สุดท้ายเมื่อเรามี กสทช. ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะให้มากำกับดูแลเพื่อล้างอำนาจระบบเก่าออกไป แต่ลองดูทุกวันนี้ก็เป็นอย่างที่เห็น
[คุณเอม]
- การควบคุมสื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมันเปลี่ยนไปมาก นักข่าวต้องทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์หรือคนรู้สึกนึกคิดอยู่แล้ว แต่ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปมาก ความแหลมคม ประเด็นที่ถูกยกระดับไป มันมาไกลมากๆ แล้ว มันมองทั้งสองด้าน เมื่อก่อนก็มีบรรยากาศการควบคุม ยุคนี้การควบคุมอาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ได้มากเท่าไหร่ แต่ปัญหาใหญ่คือ สถานการณ์มันแหลมคมขึ้นมาก ถ้าเปรียบเทียบคือ เพดานการควบคุมของเขาอาจจะขึ้นลง 10-20% แต่น้ำที่ขึ้นมามันเอ่อล้นไปจนแตะแล้วหวาดเสียว
- ยกตัวอย่างสมัยก่อนยุค ITV ข่าวที่ฮือฮา นำเสนอออกมาแล้วคนตกใจคือ ส่วย ตำรวจเรียกส่วยเวลาคนฝ่าไฟแดง นักข่าวเอากล้องปากกาติดแล้วก็แอบถ่ายตำรวจขอเงิน คือ 15 ปีที่แล้วคือฮือฮา แต่ในวันนี้คือเรื่องปกติมาก ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันมีสิ่งนี้ นักข่าวเปลี่ยนไป
- ถัดมาในยุคที่บ้านเมืองเริ่มไม่มีความมั่นคงทางการเมือง เริ่มไปเจาะในเชิงนโยบายมากขึ้น ยุคนึงก็ฮือฮามาก การทุจริต CTX การที่มีรัฐมนตรีซื้อปลากระป๋องเน่าไปแจกประชาชน ข่าวนี้มันฮือฮามาก
- เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาดูอะไรกัน ดูทีวีเสร็จปุ๊บสิ่งที่เขาคุยต่อกันคืออะไร ทุกวันนี้มันมีให้เห็นเลย เทรนด์ทวิตเตอร์ แชร์ในเฟสบุ๊ค ผู้ชุมนุมไปนู่นไปนี่แล้ว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ เราก็ไม่ได้ภูมิใจหรือแฮปปี้กับสิ่งนี้ แต่ว่ามันก็มีกำแพง ที่สื่อที่อยู่ในกลไกหลักยังไม่สามารถเขาไปแตะในเรื่องที่คนสนใจ หรือต้องการหาคำตอบได้จริงๆ เราไม่ได้คิดว่าการที่กดทุกอย่างไว้แบบนี้มันดีกับทุกฝ่าย
[คุณจอมขวัญ]
- การกดทับทุกอย่างไว้ มันไม่ดีกับทุกฝ่าย มันจะเกิดความหวาดระแวงและเผชิญหน้ากันโดยไม่จำเป็น ถ้าเราทำให้เรื่องพวกนี้ให้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ว่า มันเกิดขึ้นจริงในสังคม สังคมจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ไม่ใช่เราคนเดียวที่จะกำหนด สังคมมันจะเคลื่อนของมันไปได้โดยธรรมชาติของตัวมันเอง
- เรามีราคาที่จะต้องจ่ายมากกว่าที่เราควรจะจ่าย สมมุติเราจะพูดถึงสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมตอนนี้ก็จะไปถึงสถาบัน ซึ่งเวลาที่นักข่าวทำข่าว สิ่งนี้เราต้องยอมรับว่ามันอยู่ในข้อเรียกร้องของคนกลุ่มนึงที่ชุมนุม โดยนักข่าวย่อมต้องรายงานเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่เราเจอในช่วงนี้ปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนมาปีนี้ แม้กระทั่งการย้ำถึงข้อเรียกร้องในการชุมนุมรอบล่าสุด เขาก็ยังย้ำเรื่องเดิม แต่ความเปราะบางของเรื่องนี้คือมันเป็นเรื่องไม่ชินหูเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอันตรายอะไรเลย มันไม่ใช่ว่าถ้ามีใครกลุ่มนึงคิดขึ้นมาว่าต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วมันจะต้องเป็นแบบนั้น แต่จริงๆ แล้วสังคมที่มีวุฒิภาวะ แข็งแกร่ง เข้มแข็ง เป็นผู้ใหญ่พอ จะยอมรับว่ามีสิ่งนี้อยู่ในสังคม และมันจะเป็นไปแบบไหน สังคมจะช่วยกันตัดสินใจเอง
- เรื่องนี้จะมาคาบเกี่ยวกับงานของสื่อมวลชน ว่าสื่อมวลชนได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นไหม ซึ่งเราบอกได้เลยว่าไม่ แม้กระทั่งตอนที่เราอยู่ในสื่อกระแสหลัก ในโทรทัศน์ เราเห็นความยากลำบากของคนที่จะเขียนข่าว รายงานข่าว แม้กระทั่งในระดับนโบายว่าเราจะเล่นข่าวหรือไม่ เมื่อพูดถึงข้อเรียกร้องที่หนึ่งในสามข้อนั้นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อย่าลืมว่าตราบใดที่คุณใช้วิธีการกดปิดเอาไว้ ใช่ มันไม่คุ้นไม่ชินกันมาก่อน แต่แทนที่มันจะกลายเป็นเรื่องปกติ แล้วเราคุยกันได้อย่างมีวุฒิภาวะ มันจะกลายเป็นเรื่องผิดบาป เป็นเรื่องใต้ดิน ซึ่งสังคม ณ วันนี้ที่เทคโนโลยีมันอยู่กับคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาค่อยๆ โตขึ้นมา เขารับได้กับการถกเถียง แน่นอนว่าคนที่อายุ 40 กว่าขึ้นไป อาจจะไม่ค่อยคุ้นเพราะเราไม่ได้ถูกฝึกมาให้นึกถึงเรื่องพวกนี้ หรือว่าไม่ได้ให้ถกเถียงเรื่องอะไรที่เป็นขนบคิดเดิมๆ ของสังคม
- แต่ถ้าจริงๆ แล้ว เราแค่เปิดใจยอมรับว่ามันมีอยู่ แค่นั้นเอง มันไม่ได้มีภาระอะไรมากกว่านี้ สื่อต้องฝ่าเรื่องพวกนี้ไปเยอะมาก แล้วอย่าลืมว่าสื่อในกระแสหลักสัดส่วนคนที่เข้าไปในทำงานที่เป็นรุ่นใหม่ๆ ยังน้อยอยู่ เพราะฉะนั้นในทางนโยบาย ต่อให้แต่ละสำนักข่าวหรือบริษัท ไม่ได้ง่ายที่จะอธิบายเรื่องนี้แม้แต่ในกอง บก. ของตัวเอง
- มันไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว กลับมาแค่เรื่องปากท้องหรือโควิด ก็จะเห็นว่าวัฒนธรรมของการถูกถามหรือต้องให้คำตอบในฐานะที่เป็นคนสาธารณะแล้วใช้เงินของคนทั้งสังคมในการบริหารจัดการ เขาก็ยังไม่คุ้นชินว่าเขาเดินหนีนักข่าวไม่ได้ หรือวิธีการปฎิบัติต่อนักข่าวของคนที่มีอำนาจที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ คุณปฏิบัติแบบนี้ไม่ได้
- ในทางกลับกัน เราก็ต้องยอมรับว่านักข่าวก็มีวัฒนธรรมบางอย่างที่ถูกส่งต่อกันมาในรุ่นก่อนๆ ว่าการที่เราถูกกระทำแบบนี้จากคนระดับรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเราถือว่าโอเค ซึ่งมันไม่แล้วในโลกสมัยใหม่ และในโลกที่มันจะเปลี่ยนไปหลังจากนี้
- ทั้งหลายทั้งปวง เราต้องยอมรับการมีอยู่ เรามีหมวกของความเป็นประชาชนซึ่งถอดยังไงก็ถอดไม่ออก คุณต้องให้เกียรติหมวกนี้ของคุณมากที่สุด มันมีค่ามากที่สุดในการอยู่ในสังคมสังคมหนึ่ง แต่เมื่อคุณสวมหมวกสื่อมวลชน ไม่ว่าเราจะไม่ได้ถูกฝึกให้กล้าหาญเพียงพอจากวัฒนธรรมเดิมๆ หรือที่ๆ เราอยู่ไม่ได้ให้โอกาสเราได้ฝึกความกล้าหาญที่จะเป็นสื่อมวลชนในสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป มันมีผลทั้งหมดกับงานที่ออกไป แต่เราเชื่อว่าคนที่เรียนสายนี้รุ่นใหม่ๆ จะเข้ามาค่อยๆ ถ่ายความคิด ค่อยๆ เข้ามาเพิ่มสัดส่วนที่จะทำให้สื่อมวลชนเป็นอย่างที่โลกสมัยใหม่ต้องการได้อีกครั้ง โดยที่เขาอาจจะไม่ได้ไปสังกัดที่ที่มีอยู่แล้ว อาจจะสร้างของเขาเองก็ได้
======================
6. นักข่าวจำเป็นต้องเป็นกลางไหม สามารถแสดงความคิดเห็นได้หรือไม่
======================
[คุณเอม]
- ถ้าเอาแบบดั้งเดิมเลยคือ สมมุติตอนนี้ฝนตกหรือแดดออกอยู่ คนที่เป็นนักข่าวก็ต้องเดินออกไปดูนอกบ้านแล้วมาบอกคนอื่น แค่นั้นแหละคือนิยามที่ง่ายที่สุด ไม่ได้ต้องมีความเป็นกลาง ซึ่งมันไม่มีอยู่จริง แต่ต้องให้ความเป็นธรรม ให้พื้นที่ทุกฝ่ายที่เป็น stakeholder ได้นำเสนอแง่มุมของเขา สิ่งไหนที่ผิดก็ต้องบอกว่าผิด ไม่งั้นมันจะเพี้ยนไปเรื่อยๆ ถ้าเราจะต้องเป็นกลางไป
- เพราะยุคนึงคนก็จะมีความเชื่อบางอย่างชัดเจนมาก บางอย่างที่มันปกติทุกวันนี้ เมื่อก่อนอาจจะไม่ใช่เรื่องปกติด้วยซ้ำ การเลือกตั้งที่เป็นเรื่องปกติ แต่สังคมไทยในยุคนึง ใครบอกว่าอยากไปเลือกตั้ง คือจะโดนด่าว่ามีการฝักใฝ่ สังคมมันมีความผิดเพี้ยนหรือว่าแปลกได้อยู่เสมอ ถ้าไม่มีสื่อที่คอยเซ็ตหรือดักประเด็นว่าความจริง เส้นที่ควรอยู่มันคือเส้นนี้
- ภาพนี้มันเกิดขึ้นทั่วโลก คนอเมริกัน ถ้าไม่มีสื่อ ก็จะมีคนที่เป็น anti-vaccine เชื่อว่าฉีดแล้วเดี๋ยวตายกันหมด สื่อก็จะค่อยช่วยกักไว้ว่าคุณต้องคิดแบบนี้สิ เอาข้อเท็จจริงมานำเสนอ
- ส่วนเรื่องแสดงความคิดเห็น คิดว่าทำได้ แต่แค่บอกให้ชัดว่าอันนี้คือ opinion คือความเห็น สังคมนี้ ประเทศนี้เราต้องไปทางประชาธิปไตย ต้อง open มากขึ้น คุณหยุดการนำเสนอความเห็นไม่ได้แล้ว ในยุคนี้สื่อของภาครัฐไม่ได้เป็นตัวกำหนด agenda ของสังคมแล้ว อย่างสมัยก่อนคือ ทีวี 6 ช่อง หนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ทุกวันนี้ต่อให้สื่อทุกเจ้ามารวมตัวกันแล้วบอกว่าจะเล่นประเด็นไหน แต่ถ้าคนมันไม่สนใจก็เงียบเหมือนกัน แชร์น้อย ไม่มีใครสนใจ แต่ว่าความเห็นของใครไม่รู้ถ้ามันตรงใจของคน มันก็เป็นหมื่นแชร์ได้ แค่แบ่งให้ชัดว่าสิ่งไหนคือข่าว สิ่งไหนคือความคิดเห็น
[คุณจอมขวัญ]
- ความเป็นกลางในนิยามของเรามันเข้าใจไม่เหมือนกัน ความเป็นกลางในสังคมหลักของเมืองไทยมันนิยามว่าเป็นกลางอย่างผุดผ่อง เห็นการใช้ความรุนแรงก็โอเค ความเป็นกลางในสังคมงดงามของไทย มันไม่ใช่ความเป็นกลางที่เราพูดถึงกันในแง่ของวิชาชีพสื่อมวลชน เรากำลังต้องการความเป็นธรรม ความเป็นกลางจะไม่รู้เลยเหรอว่าสิ่งไหนถูกหรือผิดแบบสากล ถ้าเราบอกว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย เวลาที่เรารัฐประหารมันมีข้อแก้ตัวอะไรที่จะโอเค สมมุติเราบอกว่าประยุทธ์รัฐประหารมาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เป็นเผด็จการ คำถามคือว่าแบบนี้เรียกว่าเราไม่เป็นกลางไหม
- ในความเห็นของทุกคนในช่วงไม่ต่ำกว่า 10 ปี เราได้รับการฝึกฝนเรื่องพวกนี้ได้ในระดับหนึ่ง คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเองแล้วว่าคุณจะตกผลึกกับตัวเองว่าแบบไหน แต่วาทะกรรมพวกนี้มันยังใช้ได้อยู่ มันเป็นเหลี่ยมความงดงามของสังคมที่มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากจะยึดเอาไว้และใช้มัน
- แต่ว่าสำหรับเราแล้ว ที่เรากำลังพูดถึงกันคือ สื่อต้องมีความเป็นธรรม เช่น สมมุติเราวิจารณ์คุณอนุทินในฐานะรัฐมนตรี เราเชิญเครือข่ายนักวิชาการคุณหมอที่ไม่เห็นด้วยกับการวิธีการบริหารจัดการ เราก็ต้องเป็นธรรมมากพอที่จะให้คุณอนุทินได้พูดด้วย อันนี้พูดในกรณีรายการสัมภาษณ์ หรือถ้าเราจะวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสาธารณะ เราก็ต้องยอมรับฟังเขา ต้องบริสุทธิ์ใจมากพอที่จะเจอหน้าเขาด้วย เป็นเรื่องของมืออาชีพตามปกติในสังคมที่พึงกระทำ ไม่ใช่แค่สื่อมวลชนเท่านั้น
- ถ้าวิจารณ์ต่อหน้าเขา ก็ต้องแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งคนรุ่นที่อยู่ในระดับนโยบายและอำนาจ ไม่ได้มีความคุ้นชินกับเรื่องพวกนี้ รู้สึกว่าคนที่อยู่ในอำนาจไม่รู้ว่าตัวเองถูกวิจารณ์ในเก้าอี้และหมวกที่ตัวเองสวมอยู่ เช่น พลเอกประยุทธ์ เวลาคนวิจารณ์ก็วิจารณ์เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องหยาบคายหรือความไม่สุภาพ และไม่ได้แปลว่าเราต้องคล้อยตามนายกคนนึงที่ทำงานแล้วผลงานเป็นแบบนี้ ต่อให้เอาชื่อพลเอกประยุทธ์ออกไป เป็นนายหรือนางอะไรก็แล้วแต่ เขาย่อมจะถูกวิจารณ์ได้ เพราะเขาไม่ได้ใช้เงินเขา เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุย และต้องผ่านมันไปได้สักที
[คุณเอม]
- นักข่าวในการทำข่าวใดๆ ก็ต้องแยกระหว่างความเห็นกับการทำข่าว สมมุติเช่น มีนักข่าวมองว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ใช่ประชาธิปไตยเลย มีระบบกลไกพิเศษ ไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ แต่พอเขาเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว เขาก็ต้องทำงานให้มันดีกับประชาชน นักข่าวก็ต้องมีความเป็นมืออาชีพมากพอว่าบางเรื่อง แม้จะไม่ชอบ แต่เรื่องที่เป็นสิ่งที่ต้องสื่อสาร แม้ว่าเขาจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ เราต้องทำข่าวเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เช่น เรื่องนโยบายโควิด ต่อให้ไม่ชอบรัฐมนตรี รัฐบาลนี้ แต่ก็ต้องสื่อสารให้ประชาชนและสังคม ให้มันอยู่อย่างประคับประคองกันไปได้ คือความเป็นธรรม ไม่ใช่แค่นักข่าว แต่คือสามัญสำนึกของคนทั่วไปว่าต้องทำงานภายใต้กรอบวิชาชีพที่เหมาะสม
แล้วเราก็ยืนยันได้ว่าต่อให้เราทำงานกับคนรุ่นใหม่มาขนาดไหนก็ตาม ต่อให้มีใจที่ไม่ชอบอะไรมากมาย แต่เขาที่เข้ามาทำงานตรงนี้ ก็ยังอยากทำงานสื่อสารมวลชนที่ต้องดีลกับคนทั้งประเทศ ถึงเวลาทำงานก็ต้องนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ ประชาชนจะเห็นดีเห็นงามหรือไม่ชอบ โดยกรอบวิชาชีพ เราก็ยึดเส้นนี้ไว้อยู่แล้ว
- สุดท้ายทุกอาชีพก็ต้องมีเส้นศีลธรรม เส้นความเป็นมืออาชีพของตนเอง สังคมมันจะไปข้างหน้ากันต่อได้ นักการเมืองก็จะวนอยู่กับคำว่าคนดีคนเลว นักข่าวก็จะวนอยู่กับคำว่าเป็นกลางไม่เป็นกลางเหมือนกัน แต่จริงๆ คำที่เป็นหลักสากลที่เขาใช้กันคือ คุณทำงานได้ตรงกับ job description ตามที่สังคมเขาคาดหวังไว้หรือเปล่า จะทำให้สังคมเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ตอนนี้มันผิดปกติตั้งแต่กระดุมเม็ดแรกจนไม่รู้ว่าความปกติมันจะกลับมาตอนไหน
- ปัญหาตอนนี้ในเมืองไทยคือพอวงการสื่อมันผิดเพี้ยน ก็จะทำให้คนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าไหร่ บางเรื่องสำคัญก็ไม่ได้นำเสนอ เรื่องกำลังคนก็เป็นอีกเรื่องนึง ทำไมทุกสำนักข่าวตั้งไล่ตะขรุบข่าวเดียวกัน แล้วก็ชิงกันว่าทำยังไงถึงจะโพสต์ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้ยอดแชร์มากที่สุด ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันผิดเพี้ยน มันไม่ควรเป็นแบบนี้ แทนที่นักข่าวเข้ามาแต่ละคนก็เก่งแต่ละเรื่องไปเลย ในสังคมที่เจริญแล้วเขาสามารถให้นักข่าวคนนึงอยู่กับข่าวๆ นึง ได้หนึ่งสัปดาห์ ไปทำการบ้าน ศึกษาข้อมูล แล้วก็เอามานำเสนอกัน ไม่ต้องมาทำงานกันแบบนี้
- ยกตัวอย่างข่าวง่ายๆ อย่างที่นครสวรรค์มีป้ายที่บอกว่าคุณอนุทินมอบวัคซีนไฟเซอร์ให้ สิ่งที่วงการสื่อทำคือ ไปสัมภาษณ์คนเขาพูดอย่างไร สัมภาษณ์คุณอนุทิน ทั้งที่ความจริงแล้วมันสามารถพูดได้เลยว่า ป้ายมันก็มีจริงๆ แล้วก็ลำดับเหตุการณ์ออกมา มันก็จบ แต่ทุกวันนี้พอการทำงานมันเป็นจริตเก่า มันก็เป็นปัญหาแบบนี้ หวังว่าอีก 10-20 ปีสิ่งนี้จะหมดไป
[คุณจอมขวัญ]
- มันอีรุงตุงนัง ต่อให้เป็นสื่อที่มีความเป็นสำนักข่าวที่เกิดมานานแล้ว จะเห็นได้จากตัวผลงาน ความพยายามจะเป็นกลางแบบนิยามเก่า นิยามแบบขนบ มันเป็นตัวปิดกั้น ขณะเดียวกันความเป็นมืออาชีพมันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราเห็นน้อยลงเรื่อยๆ
- คอนเนคชั่นที่หนาแน่นจริงๆ ในระดับบน มีคอนเนคชั่นของความเป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ ไม่น้อย เชื่อว่านักข่าวรุ่นใหม่ๆ ซึ่งประจำอยู่สำนักข่าวซึ่งมีตัวตนมานานแล้ว เขาก็พยายามต่อสู้เท่าที่เขาจะขยายขอบเขตของเขาได้ ในบริบทที่เขาอยู่ แต่มันคงไม่ได้แสดงผลออกมาได้
======================
7. คำแนะนำอะไรสำหรับคนที่อยากเป็นนักข่าว
======================
[คุณจอมขวัญ]
- ต้องอดทนเก่ง ถ้าพูดในแง่ของคนที่อยากทำงานสื่อสารมวลชนที่คุณเชื่อมั่นและศรัทธาจริงๆ ในตัววิชาชีพ มันเป็นอาชีพที่รวยยาก คุณจะไม่ได้รับการสนับสนุนง่ายนัก ทั้งจากเนื้องาน หรือคนที่จะทำให้คุณทำมาหากินกับอาชีพนี้ไปได้
- นอกจากแรงใจ แรงกาย ต้องดูองค์ประกอบชีวิตของแต่ละคน ถ้าไม่ได้พร้อมจะที่ฝ่าจริงๆ มันก็เป็นความยากลำบากอย่างนึง แต่ถ้าใครก็ตามที่ยังตัดสินใจที่อยากจะเป็น อยากจะทำ เราเชื่อว่าเราจะต้องทำให้ได้ เราจะทำให้วิชาชีพนี้มันกลับมาอย่างที่มันควรจะเป็น เราจะเป็นหนึ่งฟันเฟือง ขอให้กำลังใจมากๆ อาจจะมีไม่เยอะ แต่ว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว และมันค่อยๆ เห็นแสงสว่างมากขึ้น
- เราได้รับเกียรติได้รับเชิญจากสถาบันศึกษาอยู่หลายเวที อยากบอกตรงไปตรงมาเลยว่าปกติเราไม่ inspire คนเลย เพราะต้องการให้เห็นภาพที่แท้จริงว่ามันเป็นมายังไง และมันอาจจะเป็นไปแบบไหน แต่เวลาเราไปแต่ละที่ เรากลับได้รับแรงบันดาลใจจากคนที่กำลังเรียนสายนี้ทั้งนั้นเลย ทำให้เราเห็นได้ว่าสิ่งที่เราเชื่อ ก็มีคนเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ
- ในช่วงเหตุการณ์ที่การเมืองแรงๆ ตอนปี 53 ตอนที่เรากับเอมอยู่ในสังกัดเนชั่น เป็นช่วงที่ใหม่มากสำหรับความขัดแย้งของขั้วการเมืองในระดับประชาชน เราก็สะบักสะบอมไม่น้อย แต่ไม่ได้กำลังจะบอกว่าเราถูกหรือเราเจ๋ง แต่กำลังจะบอกว่ามันจะแบบฝึกหัดมาแบบนี้เรื่อยๆ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าในช่วงชีวิตของการทำอาชีพนี้ จะเจอไหม หรือเจอกี่รอบ แล้วแต่ละรอบจะเป็นแบบไหน แต่เป็นสิ่งที่คุณต้องทดสอบกับตัวเองว่าคุณยังจะอยู่บนเส้นทางนี้รึเปล่า และถ้าอยู่จะวางตัวเองแบบไหนบนเส้นทางแบบนี้ เราก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ แต่เราไม่ปล่อยให้ประสบการณ์ที่เจ็บปวดมากๆ มันตกหล่นไป เรายังเก็บมันมาใช้อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
[คุณเอม]
- อยากให้กำลังใจ เราอยู่ในวงการนี้มา 15 ปี ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่แน่นอนมันมีบางอย่างที่เราไม่สามารถทำได้ตามใจ 100% แต่เราว่าดีที่สุดในการทำงานข่าว สมมุติถ้าคุณอยากจะคุยกับคนเก่งๆ สักคน ถ้าไปทำงานอย่างอื่น ถ้าคุณเป็นใครก็ไม่รู้ เป็นเด็กจบใหม่มา อยู่ดีๆ จะไปชวนคุยก็อาจจะแปลกๆ อยู่ แต่ถ้าคุณเป็นนักข่าว คุณจะได้ทำข่าวเอาไปนำเสนอ ได้ฝึก ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งโดยทั่วไปถ้าใครมาถามเราเรื่องการทำข่าว แน่นอนปีสองปีแรกมันไม่ได้ดีเลิศเลอ แต่ช่วงสองสามปีแรกคุณจะได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ถ้ายังอยากอยู่สายสื่อ สายข่าว อยากอยู่ในแวดวงการเมือง มาทำตรงนี้จะได้ประโยชน์มาก
- ยุคนี้เป็นยุคที่แข่งกันด้วยฝีมือตัวเองจริงๆ เราผ่านยุคที่ 10-15 ปีที่แล้วคือการแข่งกันว่าใครจะเป็นผู้ประกาศข่าว เปลี่ยนผังทีนึง ดราม่ากันใหญ่ แข่งกันว่าใครจะเป็นที่รักของเจ้านาย ยุคนั้นมันผ่านไปแล้ว ยุคนี้ถ้าคุณเขียนดีก็จะมีคนแชร์เป็นหมื่น และมันก็สร้าง value ให้แก่สังคม เป็นที่ประจักษ์โดยไม่ต้องมาถกเถียงกัน สามารถทำงานโดยที่แข่งกับตัวเองจริงๆ แล้วก็สามารถ reward เติบโตได้ในวงการได้
- สุดท้ายคือ อาชีพนักข่าวเหมือนมีคนมาจ้างให้คุณได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวัน เรียนรู้ก่อนคนอื่นอีก แล้วเอาไปบอกต่อให้คนอื่น เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ยุคนี้แพลตฟอร์มต่างๆ มันเอื้อ ถ้าคุณมีความสามารถทำคลิปยูทูป คนดูเป็นหมื่นเป็นแสน ไม่ใช่ยุคทีวีหกช่อง ถ้าคุณทำได้มันก็ทำได้เลย
- คนที่รู้สึกสนใจ อยากให้ถามตัวเองว่า อยากทำข่าวอะไร สนใจมันจริงๆ หรือเปล่า เรื่องไหนที่คุณสนใจอยากทำที่เราจะได้เรียนรู้และได้ส่งต่อให้คนอื่น
======================
8. ฝากส่งท้าย
======================
[คุณเอม]
- สามารถติดตาม workpointTODAY ได้ทุกแพลตฟอร์ม สำหรับสื่อแล้ว เราคิดว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้เต็มที่ เราไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์มาจากไหน สำหรับคนที่อยากมาทำข่าว ยุคนี้เป็นยุคที่ดีมากๆ ที่จะได้เข้ามาพัฒนาตัวเอง
[คุณจอมขวัญ]
- สำหรับคนที่สนใจวิชาชีพนี้ ขอสนับสนุนแต่ต้องไม่วาดภาพว่ามันจะสวยหรูมากนัก กึ่งๆ ต้องบู๊มากด้วยซ้ำไป นักข่าวไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์มาจากไหน จริงๆ แล้วต้องทำงานรับใช้สังคมด้วยซ้ำไป ย่อมจะต้องรู้ตัวเสมอว่าตัวเองอยู่ตรงไหนในพื้นที่ของสังคมนี้ ย่อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ในแง่ของการต่อสู้กับอำนาจ มันก็ยังต้องต่อสู้ต่อไป ช่วงนี้อาจจะเยอะหน่อย เพราะหลายคนก็จะกลัวอำนาจสั่นคลอน เพราะโครงสร้างของสังคมมันถูกเขย่าเยอะ แต่สุดท้ายแล้วหลังจากแรงสั่นสะเทือน อะไรมันจะเคลื่อนไปทางไหน อันนี้สังคมตัดสินใจร่วมกัน และในแง่ของโอกาสถ้าจะเข้ามาในวงการของสื่อสารมวลชนก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะจะได้เจอแบบฝึกหัดที่มีความเข้มข้นมาก ถ้าใครรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้กับสำนักข่าวหรือสื่อมวลชนที่มีอยู่ตอนนี้ ให้เข้าไปแก้ไข เข้าไปบอกเขา
======================
Speaker:
[@jomquan] คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ Jomquan
ผู้ดำเนินรายการ มาเถอะจะคุย, มีเรื่อง Live
[@aimnoppatjak] คุณเอม นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ Noppatjak Attanon
บรรณาธิการบริหาร WorkpointTODAY
======================
Moderator:
[@panit] พี พนิต P Panit
เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา
======================
Date: 12 Aug 2021 (21:00-23:15)
Club: วันนี้สรุป..มา
#ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #นักข่าว #จอมขวัญ #jomquan #aimnoppatjak #workpointTODAY #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา
โฆษณา