18 ก.ย. 2021 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
เกรย์ อาวล์ นักอนุรักษ์คนสำคัญของแคนาดา ชายผู้ปลอมตัวเป็นอาปาเช
"เกรย์ อาวล์" หรือชื่อจริง “อาร์ชิบัล บีเลนีย์” ชายผู้นี้ถูกเรียกขานว่าเป็น “นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” คนสำคัญของแคนาดา
แต่ในบางเวลา เขาถูกประณามว่าเป็น “นักต้มตุ๋น”​ จากการปลอมแปลงประวัติตัวเองว่าเป็นลูกครึ่งชาวสก็อตที่เกิดจากแม่ชาวอาปาเช
อาร์ชิบัล บีเลนีย์ ลืมตามองโลกในวันที่ 18 กันยายน 1888 ในเมืองเฮสติงส์ ประเทศอังกฤษ
อันที่จริงพ่อของเขาเป็นคนติดเหล้า ส่วนแม่เป็นเพียงดรุณีที่ยังไม่รู้ประสา ทั้งยังเป็นชาวอังกฤษด้วยกันทั้งสองคน
อาร์ชิบัล บีเลนีย์ ถูกเลี้ยงในครอบครัวของป้าที่เป็นคนเจ้าระเบียบ เนื่องจากพ่อและแม่ตัดสินใจเดินทางไปทำงานที่อเมริกา
วัยเด็กอันเปลี่ยวเหงา เขาถูกสอนให้รักการอ่านและงานวรรณกรรม
แต่สิ่งที่ อาร์ชิบัล บีเลนีย์ สนใจกลับเรื่องราวของอินเดียนแดงชนพื้นเมืองอเมริกันที่อ่านพบในหนังสือ
จนอายุได้ 17 ปี อาร์ชิบัล บีเลนีย์ ตัดสินใจเดินทางไปแคนาดา เพื่อพาตัวเองไปพบโลกความจริงนอกตัวอักษร
อันเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหา และสร้างชีวิต (สมมติ) ขึ้นมาใหม่
ช่วงชีวิตวัยหนุ่ม อาร์ชิบัล บีเลนีย์ ทำงานหลายอย่าง ทั้งเป็นไกด์พาชมธรรมชาติ เขามีความรู้จากการอ่าน และการใช้เวลาว่างเข้าไปเที่ยวเล่นในป่าของอังกฤษ
เคยไปรบในสงครามโลก (ผลกระทบจากสงครามทำให้เขาเป็นคนติดเหล้าในเวลาต่อมา)
และทำอาชีพดักสัตว์ไปขายให้กับพ่อค้า ที่แถบชนบททางตอนเหนือของออนแทรีโอ
ชนิดพันธุ์ที่เขาชำนิชำนาญเป็นพิเศษคือการดักจับตัวบีเวอร์
Library and Archives Canada
ขนของบีเวอร์ถือเป็นสินค้าสำคัญของแคนาดาในช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 1600
หมวกที่ทำขึ้นจากขนของบีเวอร์ถือเป็นสินค้าแฟชั่นของยุคสมัย
แคนาดาสามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการส่งขนสัตว์ชนิดนี้ไปขายในทวีปยุโรป
ในบันทึกของงานอนุรักษ์ กล่าวกันว่าแต่ละปีจะมีบีเวอร์ไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัว ถูกล่าเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้คน
ก่อนความนิยมจะเสื่อมลงในช่วงกลางศวรรษที่ 19 (เมื่อคนยุโรปหันไปสนใจหมวกที่ทำกับไหมพรมแทน) ประจวบกับเวลาที่จำนวนบีเวอร์เริ่มหาตัวจับยากขึ้น
ชีวิตที่แคนาดาของ อาร์ชิบัล บีเลนีย์ ทำให้เขาได้พบกับชนพื้นเมืองอินเดียนจริงๆ และได้พบรักกับหญิงสาวพื้นเมืองของที่นั่น
เขาแต่งงานหลายครั้ง เพราะชีวิตรักแต่ละหนไม่ค่อยจะลงรอย และเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเขาก็ไม่ค่อยมีคำอธิบายที่ชัดเจนสักเท่าไหร่
แต่นั่นก็เป็นเวลาเดียวกับที่ตัวตนของ อาร์ชิบัล บีเลนีย์ เริ่มจางลง และเกิดเป็น เกรย์ อาวล์ ขึ้นมาแทน
ชายผู้กลมกลืนกับธรรมชาติ หันมาสนใจงานอนุรักษ์จากจุดเล็กๆ ภายในครอบครัว
ฤดูหนาวปี 1925 เป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายสำหรับนักล่าสัตว์ท้องถิ่น
ผู้คนจากภายนอกหลั่งไหลเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในบ้านตัวเองจนมันหร่อยหรอลงทุกวัน
การจะหาบีเวอร์สักตัวที่มีขนยาวเพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้ากลายเป็นเรื่องยากลำบากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
วันหนึ่ง หลังจากที่เขาดักจับแม่บีเวอร์และกำลังจะปล่อยลูกบีเวอร์สองตัวให้อยู่คารัง ภรรยาของเขา หญิงสาวชาวอิโรควัวส์ชื่อ เกอร์ทรูด เบอร์นาร์ด ได้ขอร้องและโน้มน้าวให้นำพวกมันกลับไปเลี้ยงที่บ้าน
นับจากนั้นสายตาที่มองบีเวอร์ของเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เขาเริ่มสนใจสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” มากกว่า “ผลกำไร”
พร้อมๆ กับการลงมือเขียนบันทึกถึงธรรมชาติที่โอบกอดอยู่รอบตัว
Library and Archives Canada
ชื่อ เกรย์ อาวล์ ปรากฎต่อสายตาสาธารณชนอย่างแท้จริงจากบทความชิ้นหนึ่งที่เขียนลงใน "Forests and Outdoors" สิ่งพิมพ์ของสมาคมป่าไม้ของแคนาดาในปี 1930
ก่อนจะมีชื่อเสียงในฐานะเจ้าของหนังสือ The Men of the Last Frontier ในปี 1931 และอีกหลายๆ เรื่องที่ตามออกมา
งานเขียนในนาม เกรย์ อาวล์ ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก
บางแหล่งอ้างอิงว่าหนังสือของเขาขายได้เดือนละ 5,000 เล่ม
ชื่อเสียงที่ตามมาทำให้เขามีโอกาสเดินทางกลับไปประเทศอังกฤษอีกครั้งเพื่อทำยอดขายให้กับหนังสือ (มีตีพิมพ์ที่อังกฤษ) พร้อมกับบรรยายเรื่องราวสิ่งแวดล้อมให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับตัวจริง
แม้จะได้เดินทางกลับบ้านเกิด แต่ดูเหมือนร่องรอยชีวิตในอดีตของเขาที่เฮสติงส์ทั้งหมดได้ถูกลบทิ้งไปแล้ว
คำนำของหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า ผู้เขียนเป็นชาวอินเดียนลูกครึ่ง พ่อของเขาเป็นชาวสก็อต แม่ของเขาเป็นชาวอาปาเชอินเดียในนิวเม็กซิโก และเขาเกิดที่ไหนสักแห่งใกล้ริโอแกรนด์เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว
ครั้งหนึ่ง การปรากฎตัวของ เกรย์ อาวล์ ในชุดอินเดียนแดงพื้นเมืองพร้อมเรื่องราวความสำคัญของสิ่งมีชีวิตได้เข้าไปตราตรึงอยู่ในดวงจิตน้อยๆ ของเด็กชายวัยสิบขวบที่หลงใหลในธรรมชาติเช่นเดียวกับเขา
ซึ่งต่อมาเราได้รู้จักเด็กคนนี้ในฐานะพิธีกรรายงานสิ่งแวดล้อมของบีบีซีและในฐานะนักธรรมชาติวิทยาที่ชื่อ เซอร์ เดวิด แอตเทนบะระ
เกรย์ อาวล์ ได้มีโอกาสทำงานและร่วมวางแนวทางการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้กับอุทยานแห่งชาติหลายแห่งของแคนาดา
ก่อนที่ชีวิตจะจบลงในวัย 49 ปี ด้วยอาการปอดบวม ในวันที่ 13 เมษายน 1938
เขาจากไปพร้อมกับคำยกย่องว่าเป็นนักอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงคนแรกของแคนาดา
แต่หลังการเสียชีวิตผ่านไปไม่นาน ภรรยาคนแรกได้ออกมาแฉว่าตัวจริงของ เกรย์ อาวล์ เป็นชาวอังกฤษ ไม่ได้เป็นชนพื้นเมืองดังที่กล่าวอ้าง
เรื่องนี้ทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกรับไม่ได้ที่ถูกหลอ ถึงกับละทิ้งหนังสือและหมดความศรัทธาไปก็มี
แง่คิดทางสิ่งแวดล้อมของ เกรย์ อาวล์ ถูกยกมาถกเถียงกันขนานใหญ่ว่ามันมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน อะไรคือข้อเท็จจริงในเรื่องราวเหล่านั้น
หรือทั้งหมดที่เขาพูดและเขียนเป็นเพียงจินตนาการสมมติแบบเดียวกับประวัติที่เจ้าตัวปลอมแปลงขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ต่อให้เนื้อหาในงานเขียนจะเป็นเพียงเรื่องแต่ง มันก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในยุคสมัยนั้น - ที่มนุษย์กำลังล้างผลาญธรรมชาติอย่างทารุณ และสัตว์ทั้งหลายก็ลดลงจนจวนเจียนจะสูญพันธุ์เต็มที
และงานอนุรักษ์ที่ เกรย์ อาวล์ ได้ลงมือทำ อย่างการสร้างเขตอนุรักษ์บีเวอร์ ก็สามารถปกป้องชีวิตของพวกมันให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ในช่วงเวลานั้นได้จริง
ชื่อของ เกรย์ อาวล์ จึงยังคงถูกยกย่อง ถึงแม้จะมีคำข้อครหาตามมาบ้างก็ตาม
แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่าข้อคิดของ เกรย์ อาวล์ คือรากฐานสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และสายน้ำที่บริสุทธิ์ทางตอนเหนือของออนแทรีโอและส่วนอื่นๆ ของแคนาดา ยังคงงดงามมาถึงปัจจุบัน
Library and Archives Canada
#IsLIFE #GreyOwl
อ้างอิง
The Canadian Forestry Association : https://bit.ly/3EvJxvR
The Canadian Encyclopedia : https://bit.ly/39i9iRW
Dictionary of Canadian Biography : https://bit.ly/3tN7pq1
Government of Canada : https://bit.ly/2VPUvLn
โฆษณา