19 ก.ย. 2021 เวลา 02:40 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รู้จักสุดยอดงานวิจัยเปลี่ยนโลก
ที่ได้รับ Breakthrough Prize 2021
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
รางวัลด้านวิทยาศาสตร์ที่เงินรางวัลสูงที่สุด มีชื่อว่า Breakthrough Prize โดยเงินรางวัลนั้นสูงถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 100 ล้านบาท) มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ฟิสิกส์มูลฐาน และคณิตศาสตร์ ในฐานะที่ได้รังสรรค์ "การค้นพบครั้งสำคัญ" (Breakthrough)
รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2012 โดยคู่สามีภรรยา 3 คู่ได้แก่ Yuri และ Julia Milner ชาวรัสเซีย, Mark Zuckerberg และ Priscilla Chan, และ Sergey Brin ผู้ร่วมตั้ง Google และ Anne Wojcicki ผู้ร่วมก่อตั้ง 23andMe (หย่ากันแล้วในปี ค.ศ.2015) โดยนอกจากเงินรางวัลจะมาจาก 6 คนนี้แล้ว ยังมาจากสปอนเซอร์รายใหญ่อื่นๆ เช่น Jack Ma อีกด้วย
ถ้วยรางวัล Breakthrough Prize ที่มา : https://breakthroughprize.org/
ผู้ได้รับรางวัลปี ค.ศ. 2022 ประกาศรายชื่อออกมาในสัปดาห์ที่แล้ว แต่พิธีมอบรางวัลที่โดยปกติจะจัดขึ้นที่ Hangar One* ใน Silicon Valley รัฐแคลิฟอร์เนียนั้น เลื่อนออกไปก่อนเนื่องด้วยสถานการณ์โรคโควิดระบาด
ผู้ได้รับรางวัลสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพคราวนี้ มี 6 ท่าน ได้แก่
- Jeffery W. Kelly สำหรับการค้นพบว่า เมื่อโปรตีน transthyretin ที่ปกติทำหน้าที่ขนส่งฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ภายในน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) คลายตัวอย่างผิดปกติแล้วไปสะสมในเซลล์หัวใจหรือเซลล์ประสาท จะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติและระบบประสาทเสื่อมถอย แต่นอกจากค้นพบกลไกแล้ว นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้ยังสังเคราะห์ยา tafamidis ที่สามารถยับยั้งการคลายตัวอย่างผิดปกตินี้ได้สำเร็จด้วย
2
Katalin Karikó ที่มา : Wikipedia
- Katalin Karikó และ Drew Weissman สำหรับการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ที่ได้กลายมาเป็นหัวใจสำคัญของวัคซีนโควิด 19 ตำนานของ ดร. กะตะลิน กะริโก ถ้าใครเป็นแฟนเพจนี้น่าจะได้อ่านกันไปแล้ว
1
- Shankar Balasubramanian, David Klenerman และ Pascal Mayer สำหรับการคิดค้นเทคนิคที่ใช้หาว่าเส้นสาย DNA มีหน่วยย่อยเรียงลำดับกันอย่างไรบ้าง (DNA sequencing) วิธีนี้ไม่ธรรมดาตรงที่ เร็วและถูกกว่าเดิมมากๆ เพราะถ้าย้อนไปตอนปี ค.ศ. 2000 ตอนนั้นการหาลำดับพันธุกรรมมนุษย์ต้องทำกันเป็นสิบปี ใช้งบประมาณกว่าสามหมื่นล้านบาท แต่วิธีการใหม่สามารถทำอย่างเดียวกันได้ภายในหนึ่งวัน ด้วยงบประมาณไม่เกินสามหมื่นบาท!
2
ผู้ได้รับรางวัลสาขาฟิสิกส์มูลฐาน มี 2 ท่าน ได้แก่ Hidetoshi Katori และ Jun Ye ทั้งคู่ไม่ได้ทำงานด้วยกัน แต่ต่างคนต่างได้สร้างนาฬิกาอะตอมจากธาตุสตรอนเชียม (Strontium ธาตุลำดับที่ 38) ซึ่งเดินเที่ยงตรงมาก มากระดับที่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เดินไป 15,000 ล้านปี จะคลาดเคลื่อนไม่ถึง 1 วินาทีเท่านั้น
4
ศ.Hidetoshi Katori กับ นาฬิกาอะตอมจากธาตุสตรอนเชียม ที่มา : https://mainichi.jp/english/articles/20200407/p2a/00m/0na/012000c
ถ้าใครได้ดูภาพยนตร์ Interstellar อาจจำได้ว่า ถ้าตรงไหนมีแรงโน้มถ่วงมากๆ (เช่น ใกล้ๆหลุมดำ) เวลาจะเดินช้าลงมากๆ ซึ่งจริงๆ แล้วปรากฏการณ์การณ์นี้เกิดทุกที่ เช่น เวลาบนผิวโลกก็ต้องเดินช้ากว่าบนยอดตึก (เพราะผิวโลกได้รับความโน้มถ่วงจากมวลโลกมากกว่ายอดตึก) แต่ความต่างมันน้อยมากๆ จนแทบวัดไม่ได้ แต่นาฬิกานี้วัดได้! นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้ทำการทดลองเปรียบเทียบระหว่างที่ฐานกับที่ยอดหอคอย Tokyo Skytree ด้วยนาฬิกานี้แล้ว และเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าที่ฐานเดินช้ากว่าจริงๆ
3
ผู้ได้รับรางวัลสาขาคณิตศาสตร์ คือ Takuro Mochizuki สำหรับความรู้ใหม่ที่อยู่ที่จุดเชื่อมต่อระหว่างสองศาสตร์คือ algebraic geometry และ differential geometry ความรู้ใหม่ที่ว่าคือเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า "Riemann–Hilbert correspondence" สำหรับ "holonomic D-module" ซึ่งอธิบายโดยคร่าวๆคือ เมื่อก่อน นักคณิตศาสตร์เข้าใจเรื่องนี้เฉพาะในกรณีที่ "singularity" เป็นแบบ "regular" เท่านั้น มาตอนนี้ งานของผู้ได้รับรางวัล ได้ต่อขยายความเข้าใจไปยังแบบ "irregular" ด้วยแล้ว เป็นอันว่าจบบริบูรณ์
1
Takuro Mochizuki ที่มา : https://www.asahi.com/articles/ASP9946DCP97ULBJ00X.html
นอกจากรางวัลหลักทั้ง 3 สาขานี้แล้ว ยังมีรางวัลเล็ก (ซึ่งไม่เล็ก) สำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสถัดไป
อ้างอิง
Hangar One , California ที่มา : Wikipedia
*Hangar One เคยเป็นโรงเก็บเรือเหาะของกองทัพเรือมาก่อน แต่ตอนนี้เลิกใช้ไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบูรณะ และนับว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา*
โฆษณา