19 ก.ย. 2021 เวลา 13:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม "เศรษฐกิจอังกฤษ" ถึงกลายเป็นผู้ป่วยแห่งยุโรป
ในปี 1979 เศรษฐกิจของเกาะอังกฤษหยุดชะงัก มีการหยุดงานในหลายภาคส่วนทั่วประเทศ มีไฟดับเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สินค้าต่างๆ เกิดการขาดตลาด ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ของใช้ และน้ำมัน มีการประท้วง มีการประท้วงหยุดงาน โรงเรียนต้องมีการปิดตัว โรงพยาบาลไม่รับคนไข้ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน
4
บทเรียน "เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร" ที่เคยเป็นคนป่วยแห่งยุโรป
คนตายไม่มีใครฝังศพให้ ขยะกองเต็มกรุงลอนดอน ไม่มีการจัดเก็บ ผู้คนในช่วงเวลานั้น บ่อยครั้งต้องเผชิญกับความมืดและความเหน็บหนาว จนเป็นที่กล่าวกันว่า เป็นฤดูหนาวแห่งความไม่พอใจ หรือเหมันต์แห่งความทุกข์ใจ (Winter of Discontent)
ขยะไม่ได้ถูดจัดการเก็บ ในช่วงปี 1979 เป็นฤดูหนาวของความไม่พอใจ Winter of Discontent
จริง ๆ แล้วนี่เป็นเพียงการแสดงอาการอย่างรุนแรงของโรคภัยต่างๆ ที่สะสมในเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 ในบทความนี้ผมจะเล่าว่า ทำไมอังกฤษถึงได้รับสมญาว่าเป็นคนป่วยแห่งยุโรป (Sick Man of Europe) แล้วจนเป็นการปูทางให้มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรเข้ามากอบกู้ และฟื้นฟูในปี 1979
1
📌 เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเริ่มเสื่อมและถดถอย
ในปี 1945 ตอนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เป็นผู้ชนะสงคราม นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นั่งในที่ประชุมเดียวกับผู้นำสองมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ในการจัดระเบียบและการดูแลโลกหลังสงครามสิ้นสุดลง
แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจอังกฤษถดถอยอย่างรวดเร็ว สงครามโลกทำให้รัฐบาลมีหนี้สินมหาศาลกับสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ รัฐบาลอังกฤษได้พึ่งพาสหรัฐอเมริกาทั้งทางด้านอาวุธ ยุทโธปกรณ์ เป็นต้น การสิ้นสุดสงครามทำให้การช่วยเหลือตรงนี้ยุติลง ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ต้องไปเจรจาขอกู้ยืมเงินจากสหรัฐอเมริกาเป็นเงินเกือบ 4 พันล้านปอนด์ ถ้าว่าไปแล้วตอนนั้นอังกฤษเป็นผู้ชนะสงคราม แต่ เป็นประเทศที่ล้มละลายในทางการเงิน
5
อุตสาหกรรมหลายอย่างในสหราชอาณาจักรได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเพื่อสนับสนุนการทำสงครามและหมดประโยชน์ไปทันที่เมื่อสงครามโลกจบลง รัฐบาลต้องเข้ารวบรวมกิจการหลายอย่าง เช่น การรถไฟ การคมนาคม ท่าเรือ เหมืองถ่านหิน เหล็ก การไฟฟ้า ระบบสาธารณสุข ธนาคารกลาง และ การสื่อสาร
3
จากประสบการณ์ในช่วงสงครามโลก(1939-1945) รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เป็นคนวางแผนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทบจะทุกอย่างในประเทศ และความเชื่อที่ว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการทำให้ทุกคนในมีงานทำได้ (Full Employment) หลังจากที่มีประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้รัฐบาลเหมือนได้รับบทบาทใหม่ คือ การเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ ด้านสาธารณสุข การศึกษา การจ้างงานผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีประชากรของอังกฤษกว่า 5 ล้านคนที่ทำงานให้กับกองทัพอังกฤษ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องพยายามจัดสรรงานให้กับประชาชนจำนวนมากนี้
3
อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางทศวรรษ 1950 อังกฤษ ยังนับว่าเป็นผู้นำทั้งทางด้านทหารและเศรษฐกิจในยุโรป ในปี 1954 GDP ของฝรั่งเศสเล็กกว่าของสหราชอาณาจักรร้อยละ 22 ในขณะที่เยอรมนี น้อยกว่าร้อยละ 9 แต่พอมาในปี 1974 GDP ของสหราชอาณาจักรต่ำกว่าของฝรั่งเศส ร้อยละ 34 และของเยอรมนี ร้อยละ 61 และในปี 1980 GDP ของสหราชอาณาจักร ตกมาเป็นอันดับ 6 ของโลก ตามหลัง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น โซเวียต เยอรมนีตะวันตก และ ฝรั่งเศส
📌 การล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ
จักรวรรดิอังกฤษเคยยิ่งใหญ่มาก มีอาณานิคมทั่วโลกแทบจะในทุกทวีปทั่วโลก เคยมีคำกว่าไว้ว่า จักรวรรดิอังกฤษ เป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน ในปี 1945 อาณาจักรอังกฤษ ปกครองคนกว่า 700 ล้านคน มากกว่าร้อยละ 25 ของประชากรทั้งโลก แต่อีกเพียง 20 ปี ใน 1965 ประชากรภายใต้จักรวรรดิอังกฤษทั่วโลกเหลือเพียง 5 ล้านคน โดยที่ 3 ล้านคนนั้นอยู่ในฮ่องกง
1
การล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ เลยทำให้อังกฤษจำเป็นต้องไปขอเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป ทั้งที่หลายนโยบายไม่เป็นผลดีต่ออังกฤษ เช่น การที่ต้องซื้อ อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากยุโรปที่ราคาสูงกว่าจากการซื้อจากอาณานิคมเก่าของอังกฤษ และนโยบายนี้เป็นประโยชน์กับฝรั่งเศส เพราะภาคกสิกรรมของอังกฤษเล็ก จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรสูงขึ้นมากในช่วงทศวรรษ 1970
5
📌 ผู้ป่วยแห่งยุโรป
จากการล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ รวมกับการที่รัฐบาลเปลี่ยนบทบาทเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบในวงกว้างต่อแทบจะทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมาก ราวกับว่าได้ทำสัญญาว่า รัฐบาลพร้อมจะดูแลประชาชนให้ทุกด้าน
3
ส่งผลให้ภาครัฐใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 1949 ที่ภาครัฐคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 ของ GDP พุ่งไปแตะระดับที่ร้อยละ 52 ในปี 1980 สะท้อนให้เห็นว่าเกินครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมของสหราชอาณาจักรมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ
3
รัฐบาลอังกฤษรับทำหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและดูแลรายได้ ผ่านการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ แปลว่า รัฐบาลต้องเป็นทั้งคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านทั้งอุปสงค์และอุปทาน ต้องคุมทั้งค่าครองชีพ วางแผนการลงทุน และรักษาการจ้างงานให้ทุกคนมีงานทำ
1
ดังนั้น ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในอังกฤษ มีต้นทุนที่สูง มีพนักงานมากเกินไป และอุตสาหกรรมที่ไปไม่รอดและขาดทุน ก็ต้องถูกแบกรับด้วยรัฐบาลจากการเก็บภาษีของประชาชน ในช่วงทศวรรษ 1970 อัตราภาษีเงินได้สูงสุดอยู่ที่ ร้อยละ 93
6
ทำให้ในปี 1971 วง Rolling Stones ถึงกับต้องหนีไปทำเพลงที่ฝรั่งเศส และใช้ชื่ออัลบั้มว่า Exile on Main St. นี่คือ หนึ่งในตัวอย่างของการที่ภาษีสูงมากไปเป็นการผลักดันทำให้นักธุรกิจและบริษัทที่มีโอกาสเลือกจะไม่อยู่ในประเทศที่เก็บภาษีหนักเกินไป เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
6
ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ก็เป็นอีกปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ตก ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อเคยสูงกว่าร้อยละ 25 มาจากหลายปัจจัย เช่น จากวิกฤตราคาน้ำมันจากการควบคุมของกลุ่มโอเปคที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก แต่ปัจจัยในประเทศทำให้ปัญหาเงินเฟ้อมีความรุนแรงในอังกฤษกว่าหลายประเทศ โดยปัจจัยนั้นคือ โครงสร้างเศรษฐกิจของอังกฤษที่ใช้นโยบายควบคุมราคาผ่าน นโยบายการคุมรายได้ (Incomes Policy)
3
เงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 25 ในช่วงกลางทศวรรษ 1970
ปัญหาหลักของอังกฤษ คือ สหภาพแรงงานที่มีอิทธิพลและใช้ความรุนแรง โดยมีการประท้วงและการหยุดงาน เนื่องจากมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก และสามารถมีอำนาจต่อรองทั้งการขึ้นเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ และห้ามปลดสมาชิกของสหภาพออก ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อทวีความรุนแรง
1
สมมติว่าในปี 1975 เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 25 ทางสหภาพแรงงานจะต้องไปต่อรองกับรัฐบาลว่าต้องขึ้นเงินเดือนให้ร้อยละ 30 เพราะร้อยละ 25 คือ เงินเฟ้อ และอีกร้อยละ 5 คือการขึ้นเงินเดือนประจำปี ที่ต้องขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นต้น
การที่สหภาพแรงงานมีอิทธิพลมาก เหมือนจับรัฐบาลไว้เป็นตัวประกัน ถ้าไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง ก็จะมีการหยุดงาน ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก จึงทำให้รัฐบาลต้องยอมตามข้อเสนอของสหภาพต่างๆ ทั่วประเทศ
จนในปี 1974 นายกรัฐมนตรี Edward Heath ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วใหม่โดยตั้งคำถามว่า ตกลงประเทศนี้ใครคุม ใครบริหารประเทศกันแน่ (Who Governs? ) สรุปคือ พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ของเอ็ดวาร์ด ฮีธ (Edward Heath) แพ้การเลือกตั้งเลยทำให้คนมาล้อเลียนว่า Not You (ใครคุมไม่รู้ แต่ไม่ใช่คุณ)
4
เพราะปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ของอังกฤษ มีปัญหาทั้งค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างหนัก และมีจำนวนบุคลากรเยอะไป ทำให้ขาดทุนต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้ จึงทำให้เศรษฐกิจอังกฤษถดถอยอย่างหนักในช่วงทศวรรษ 1970
1
จนในช่วงปลายทศวรรษ 1970 อังกฤษได้ถูกเรียกว่าเป็นผู้ป่วยแห่งยุโรป เพราะปัญหาเศรษฐกิจทุกอย่างทำให้ดูประเทศไม่มีอนาคต ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ทั้งภาครัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ปัญหาสังคมจากการนัดหยุดงาน (Strike) บ่อยครั้งของสหภาพแรงงานต่าง ๆ
จนกระทั่ง ในปี 1976 ทางสหราชอาณาจักรต้องไปขอความช่วยเหลือจาก IMF เพื่อมาช่วยวิกฤตการขาดดุลบัญชีเงินสะพัดและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าอย่างหนัก ซึ่งในตอนนั้นเป็นการขอเงินกู้ที่เป็นจำนวนที่สูงสุดในประวัติการณ์
และในปี 1979 จึงเกิดฤดูหนาวแห่งความไม่พอใจ ทำให้รัฐบาลของเจมส์ คัลลาฮาน (James Callahan) แห่งพรรคแรงงาน (Labour Party) อยู่ไม่ได้ และเป็นการปูทางให้ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกมาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) เข้ามาครองอำนาจและพรรคแรงงาน (Labour Party) ไม่ได้เป็นรัฐบาลอีกถึง 18 ปี เพราะประชาชนไม่อยากกลับไปเจอประสบการณ์แบบปี 1979 อีก
5
📌 บทสรุป
ในบทความหน้า ผมจะมาเล่าว่า Margaret Thatcher ดำเนินนโยบายอะไร ที่ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษ ฟื้นตัวขึ้นมาได้ และมรดกที่ท่านทิ้งไว้กับเศรษฐกิจอังกฤษ ทำให้ ปัจจุบัน London ยังคงเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของโลก แม้จะเกิด Brexit ประเทศอื่นในยุโรปก็ยังไม่สามารถมาแทนที่ได้
1
บทเรียนเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของอังกฤษ เป็นบทเรียนที่ดีว่าประเทศที่เคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจสามารถกลายเป็นผู้ป่วยทางเศรษฐกิจได้ภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษ แล้วประเทศไทยที่มีปัญหาสะสมมานาน ก็เริ่มมีการพูดถึงว่าเราก็เป็นผู้ป่วยแห่งเอเชียเช่นกัน ถึงเวลาที่เราจะต้องปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังเช่นกัน เหมือนกับที่ทาง Margaret Thatcher ได้ทำการปฏิรูปให้กับสหราชอาณาจักร ซึ่งผมจะมานำเสนอในบทความต่อไป
3
Margaret Thatcher สตรีเหล็ก นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 1979 ถึง 1990
ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา