20 ก.ย. 2021 เวลา 02:25 • หนังสือ
[สรุป] Range Part 1/2 : ทำไมคนแบบเป็ดๆ 🐤 ถึงประสบความสำเร็จในโลกที่ต้องการความรู้เฉพาะทาง
หายหน้าหายตาไปสักพักครับ วันนี้ขอกลับมาพร้อมกับหนังสือที่เหมาะกับคนเป็ดๆอย่าง RANGE : Why Generalist Triumph in Specialized World ครับ โดยรอบนี้ขอแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทนะครับ
หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการที่ศาสตร์และศิลป์ต่างๆ บนโลกนั้นเริ่มลึก (deep) เข้าไปทุกที จนเราต้องมีคนที่เก่งเฉพาะทาง (Specialists) ของแต่ละสาขาอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักวิทยาศาสตร์ที่ก็ต้องแยกย่อยออกเป็นหลายสาขา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ , ศิลปะเองก็มีหลายแขนง แถมยังมีสายใหม่ๆอย่าง Digital Painting เกิดขึ้นมาอีกหลายโปรแกรม , ดนตรี กีฬา ก็ใช้ความสามารถเฉพาะทางที่แตกต่างกัน
จนหลายคนบอกว่าโลกนี้มันไม่เหลือที่ให้คนเป็ดๆ (Generalist) ที่เก่งหลายด้าน ด้านละนิดละหน่อยแล้ว เพราะคุณจะสู้ใครไม่ได้เลยซักทางเดียว
แต่ !! หนังสือเล่มนี้จะมาพูดในมุมมองที่แตกต่างออกไปครับ และจะทำให้เราเปลี่ยนความคิดไปเลยว่าจริงๆแล้วยุคนี้นี่แหละมันคือยุคของเป็ดที่แท้ทรู !!!
เนื้อหาคร่าวๆจะเป็นอย่างไรเดี๋ยวผมเล่าให้ฟังครับ 🤓🤓
ขอบคุณหนังสือดีๆจากผู้ใหญ่ใจดี Asia Books มา ณ ที่นี้ด้วยครับผม
====================
[ RANGE Part 1/2 ]
🐅 หนูน้อยอัจฉริยะแต่วัยเยาว์ VS คนเก่งรอบด้านที่เลือกทางที่ชอบตอนโต 🎾
ในโลกของกีฬา เรามีอัจฉริยะอยู่สองคนครับ คนนึงจับไม้กอล์ฟก่อนจะหัดเดิน และฝึกฝนกอล์ฟเรื่อยมาจนก้าวมาเป็นเบอร์หนึ่งของโลก นั่นคือ Tiger Woods
ส่วนอีกคนนึงคือ Sportman ตัวจริง ลองคิดภาพถึงตัวเอกในการ์ตูนญี่ปุ่นที่เล่นกีฬาอะไรก็เก่ง วันสมัครเข้าชมรมก็มีแต่ชมรมกีฬามาตามจีบ แต่สุดท้ายก็เลือกกีฬาที่ตนชอบที่สุดซึ่งก็คือเทนนิส และก็ก้าวมาเป็นมือหนึ่งของโลกได้ด้วยเช่นกัน นั่นคือ Roger Federer
ที่ยกตัวอย่างนักกีฬาทั้งสองคนนี้มาก็เพราะ Tiger คือตัวอย่างของ Specialist ที่ฝึกฝนความสามารถเพียงด้านเดียวมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ (Early-Specialization) จนชำนาญ และมักถูกนำไปเป็นตัวอย่างของโค้ชหลายๆคน (รวมไปถึงไลฟ์โค้ช 🤣) เพื่อสนับสนุนให้เราฝึกฝนความสามารถตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้เก่งกว่าคนอื่นในอนาคต
จึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นพ่อแม่หลายๆคนพยายามฝึกลูกให้เล่นกีฬา/ดนตรีหลากหลายชนิดตั้งแต่ยังเด็ก และเมื่อใครฉายแววพรสวรรค์ขึ้นมา ก็จะถูกจับฝึกฝนอย่างหนักถึงขึ้นหวังจะปั้นให้เป็นทีมชาติกันเลยทีเดียว ซึ่งหารู้ไม่ว่าสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เด็กคนนั้นชอบจริงๆ
ส่วนในฝั่งตรงกันข้าม Roger คือตัวอย่างของ Generalist ที่เล่นมันทุกกีฬาตั้งแต่ฟุตบอล, บาสเก็ตบอล, สควอช, แบดมินตัน, มวยปล้ำ, ว่ายน้ำ จนมาจบที่เทนนิส
ประโยชน์ที่ได้รับจากการเล่นกีฬาหลายประเภทคือ ร่างกายของ Roger นั้นถูกพัฒนาอย่างรอบด้าน , ทักษะและปฏิกิริยาที่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทุกสิ่งที่สะสมมาจากกีฬาอื่นกลายเป็นส่วนช่วยให้เค้าเล่นเทนนิสได้เก่งขึ้นนั่นเองครับ
จึงกลายเป็นเรื่องราวของขั้วตรงข้ามที่ไปย้อนแย้งกับ Early Specialization เพราะการฝึกฝนแบบหลากหลายก็สามารถประสบความสำเร็จจนกลายเป็น 🐐 GOAT - Greatest of All Time ได้ไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการเป็นเป็ดมาก่อนก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบความสำเร็จครับ
และนี่คือ Introduction ที่เขียนออกมาได้ดีและทำให้คนอ่านหึกเหิมได้ดีเลยครับ 😂😂
— — — — — — — — — — —
🧐 Fermi Problem : ปัญหายียวน ที่สะท้อนชีวิตจริงได้มากกว่าข้อสอบมหาลัย 🧐
ถ้าใครเคยสัมภาษณ์งานกับบริษัทชั้นนำจะต้องเคยเจอกับ Fermi Problem มาอย่างแน่นอนครับ โดย Fermi Problem คือคำถามที่วัดความรู้รอบตัวและการคิดวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งจะคล้ายกับปัญหาที่คนเรามักจะต้องเจอในชีวิตจริงได้ครับ
ยกตัวอย่างเช่น คุณคิดว่าใน New York มี Piano Tuner (นักตั้งเสียงเปียโน) อยู่กี่คน ?
แน่นอนครับว่ามันคือคำถามที่ไม่ต้องการความเชี่ยวชาญใดๆเลย แต่ต้องใช้ Logic และความเป็นเหตุเป็นผลในการได้มาซึ่งคำตอบ เป็นคำถามที่ทดสอบกระบวนการคิดอย่างดีเยี่ยม
ตัวอย่างการตอบคำถามอาจจะเริ่มจากการคิดมาก่อนว่า ประชากรในนิวยอร์คมีกี่ครัวเรือน ? แล้วจะมีกี่ครอบครัวที่มีเปียโนอยู่ในบ้าน ? (ในกระบวนการนี้อาจจะต้องตัดคนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ออก เพราะการติดตั้งเปียโนบนตึกขนาดสูงอาจจะเป็นไปได้ยาก) แล้วจำนวนเปียโนเท่านี้ควรจะต้องมีคนตั้งเสียงกี่คน ? เป็นต้น
จะสังเกตเห็นได้ว่า คำถาม Fermi Problem นั้นแม้เป็นคำถามที่ฟังดูไม่มีประโยชน์ แบบจะรู้ไปทำไม แต่ก็เป็นคำถามที่ทดสอบความรู้รอบตัว + ความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดีครับ
และจากงานวิจัยเองก็พบว่า คนแบบเป็ดๆนี่แหละที่ตอบคำถามประเภทนี้ได้ดีกว่าพวกผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เพราะมีความรู้รอบตัวที่ดีกว่า สามารถนำความรู้หลายๆด้านมาช่วยในการตอบคำถามได้ดีขึ้นครับ
เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้เขียนนำมาซัพพอร์ทความเป็ดเช่นกัน
— — — — — — — — — — —
😵‍💫 ฝึกฝนมากไปก็ไม่ดี : การพักผ่อนบางทีคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด 😵‍💫
ใครที่เคยโดนบังคับขู่เข็ญให้อ่านหนังสือสอบ แบบอ่านๆๆๆ ไม่ให้พักเลยคงจะพอเข้าใจนะครับว่าการฝึกฝนอะไรมากไปโดยไม่พักเลยมันทำให้สมองและร่างกายของเรามันล้า และอาจจะทำให้ผลของการฝึกฝนมันออกมาไม่ดีอย่างที่คิด
มีงานวิจัยหลายตัวครับ ที่สนับสนุนการพักผ่อน ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยจากรัฐ Iowa ที่ให้ผู้ทดสอบท่องจำคำศัพท์ที่จะเปิดเป็นเสียงให้ฟัง โดยแบ่งให้กลุ่มนึงท่องออกมาทันทีที่ฟังจบ และอีกกลุ่มให้เว้นช่วงเวลาซัก 15 วินาที แล้งค่อยท่อง
ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ท่องทันที ทำได้ดีกว่าอีกกลุ่มนึงอย่างชัดเจน
แต่นั่นเป็นเพียงผลระยะสั้น เมื่อเรียกผู้ทดสอบกลับมาทดสอบการท่องจำคำศัพท์อีกครั้งหลังจากนั้น (ไม่แน่ใจว่าหน่วยเป็นชั่วโมง หรือเป็นวันนะครับ) ผลปรากฎว่ากลุ่มที่เว้นช่วง 15 วินาทีกลับทำได้ดีกว่าเยอะครับ
การเว้นช่วง (Spacing) นั้นทำให้เกิดความยากลำบาก (Struggle) ในการดึงข้อมูลออกมาจากสมองของมนุษย์เราครับ และความ Struggle นั่นแหละที่จะไปกระตุ้นให้สมองเราตื่นตัวในการจำและการตอบสนอง ส่งผลให้กลุ่มที่เว้นช่วง 15 วินาที สามารถทำผลงานได้ดีกว่าในระยะยาว
และยังมีอีกหลายงานวิจัยรับที่ทดลองลักษณะแบบนี้ และผลออกมาเหมือนกันว่าการฝึกฝนอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีการเว้นช่วง หรือการพักผ่อนระหว่างการเรียน (Learning) และการทดสอบ (Testing) จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะยาวครับ
ดังนั้นการเอาแต่ฝึกฝนๆๆๆอยู่เดียว ไม่มีการพักผ่อน หรือหมุนเวียนไปทำอย่างอื่นเลยมีส่วนที่จะทำให้พัฒนาการของเราแย่กว่าการเรียนรู้หลายๆอย่างไปพร้อมกันนั่นเองครับ
เพราะฉะนั้นการเป็นเป็ดที่ทำอะไรหลายๆอย่างไปพร้อมๆกัน สลับไปทำอันนั้นที อันนี้ที นอกจากจะได้ทำหลายอย่างแล้วยังทำได้ดีกว่าการมุ่งมันทำเพียงอย่างเดียวก็เป็นได้ครับ เพราะสมองได้รับการ Spacing ระหว่างกิจกรรมต่างๆอยู่ตลอด
— — — — — — — — — — —
💡 รู้มากไปก็ทำให้เกิด Bias ได้ : คิดนอกกรอบต่างหากที่จะช่วยให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น 💡
เคยอ่านบทความด้านการเงินมั้ยครับ ที่ชอบบอกว่าพวกผู้จัดการกองทุนที่ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ๆและมีชื่อเสียงเนี่ย มักทำผลงานได้แย่กว่าค่าเฉลี่ยอีกครับ
ส่วนนึงนั้นเป็นเพราะว่า คนที่เก่ง รู้ลึก เรียนมาเยอะ มักจะมี Bias กับตัวเอง กล่าวคือคิดว่าตัวเองนั้นเก่งกว่าคนอื่นๆ ส่งผลให้เกิดความมั่นใจ (Confidence) ที่มากจนเกินไป และไม่เชื่อว่าตัวเองจะผิด
นั่นส่งผลให้การตัดสินใจต่างๆ ของ Specialist จะถูกครอบงำด้วยความมั่นใจตรงนี้เสียส่วนมาก ส่งผลให้หลายๆครั้งตัดสินใจผิดพลาดและเข้าข้างความคิดตัวเองจนเกินไปครับ
ในทางกลับกันนั้น การคิดนอกกรอบ/การรับฟังความคิดเห็น/หรือการมองปัญหาจากประสบการณ์ที่นอกเหนือจากของตัวเอง จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น เหมือนประโยคที่บอก่าเวลาตัดสินใจอะไรให้คิดหลายๆด้าน
ถ้าคุณจะทำธุรกิจ แล้วคุณเป็นคนที่เก่งเรื่องการตลาด คุณอาจจะขายของเก่งแต่ทำบัญชีพลาดจนขาดทุนก็ได้ หรือคุณอาจจะจ้างนักบัญชีมาช่วยทำงาน แต่จะแน่ใจได้อย่างไรครับว่าเค้าจะไม่โกง ??
ดังนั้นการรู้รอบด้านก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เหมือนกับกรณีของ Nicolas Copernicus ที่สามารถค้นพบว่าโลกเป็นเพียงดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ในยุคสมัยที่ทุกคนเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
ที่ Nicolas สามารถค้นพบเรื่องนี้ได้ก็เพราะความขี้สงสัยและพยายามขวนขวายหาความรู้นอกเหนือจากความเชื่อเดิมๆ เพื่อมาสนับสนุนทฤษฎีและตอบข้อสงสัยของตัวเองได้ด้วยเช่นกันครับ
หรืออย่าง Leonardo Da Vinci ที่ทุกคนมักรู้จักเค้าจากผลงานศิลปะ แต่หารู้ไม่ว่าจริงๆแล้วเค้าคือคนที่รู้รอบด้านสุดๆคนนึงในประวัติศาสตร์โลกเลย ทั้งด้านวิศวกรรม ที่ถูกยกย่องให้นักประดิษฐ์เบอร์ต้นๆของยุคนั้นเช่นกัน
*** ที่กล่าวถึงก็เพราะ ตาลุงหนวดเฟิ้มข้างหนังสือในรูปคือ Figure ที่ทำมาเป็นตัวของ Leonardo Da Vinci ครับ 🤣🤣
ดังนั้น การเป็นคนที่รู้รอบด้าน แต่ไม่ได้รู้ลึกในอีกมุมนึงอาจะเป็นข้อดีมากๆก็ได้ครับ เพราะเราจะไม่มั่นใจในตนเองมากจนเกินไป ทำให้เราคิดอย่างรอบคอบระมัดระวัง และความรู้รอบด้านก็จะช่วยส่งเสริมให้การตัดสินใจต่างๆดีขึ้นไปพร้อมกันด้วยนั่นเอง
— — — — — — — — — — —
🏃🏻‍♂️ ย้ายงาน/เปลี่ยนสายบ่อยๆอาจจะยาก : แต่การเติบโตนั้นรวดเร็วนัก 🏃🏻‍♂️
มีศิลปินอีกคนนึงนอกเหนือจาก Da Vinci ที่เป็นตัวอย่างของเป็ด (Generalist) ที่ทำได้หลายอย่าง เพราะเปลี่ยนสายอาชีพบ่อย บ่อยจนดูเหมือนจะไม่ก้าวหน้า แต่สุดท้ายแล้วเค้ากลับกลายเป็น Artist ที่แทบไม่มีใครบนโลกนี้ไม่รู้จัก ผลงานของเค้ามีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ศิลปินคนนี้คือ Vincent Van Gogh นั่นเองครับ
ถ้าใครคิดว่า Van Gogh คือศิลปินที่มีพรสวรรค์มาแต่กำเนิด แล้วก็วาดรูปมาตลอดชีวิต คุณคิดผิดไปมากเลยครับ เพราะจริงๆแล้ว Van Gogh เรียนวาดรูปตั้งแต่สมัยเด็กจริง แต่วาดไม่ได้เรื่อง และไม่ชอบจนลาออกจาก รร.
สิ่งทีเค้าชอบจริงๆคือการสะสมแมลง แต่พอโตมาก็เปลี่ยนสายอาชีพมาตลอด
- ตอนวัยรุ่นคุณลุงชวนไปทำงานเป็น Dealer ขายงานศิลปะ
- เสร็จแล้วลาออกไปสอนหนังสือในโรงเรียนประจำ
- พ่อชวนกลับมาทำงานร้านหนังสือ
- ตัดสินใจว่าจะไปเผยแพร่ศาสนา
- เลือกเรียนมหาวิทยาลัยแบบคอร์สสั้นๆเพื่อจะรีบออกมาเผยแพร่ศาสนา
- ไปเผยแพร่ศาสนากับคนงานเหมืองแร่ แต่สักพักเหมืองแร่ระเบิด 😅
- จนสุดท้ายกลับมาวาดรูปตอนอายุปาไป 30 กว่าปีแล้ว
- สุดท้ายสร้างผลงานระดับโลก ซึ่งผลงานทั้งหมดถูกวาดไว้ในช่วง 2 ปีก่อนเสียชีวิต (เสียชีวิตตอนอายุ 37 ปี)
ซึ่งหลายๆคนก็บอกว่าการที่ Van Gogh ทำผลงานศิลปะได้ดีนั้นเป็นเพราะเค้ามีประสบการณ์หลายอย่าง สะสมกันมาจนเป็นผลงานที่โด่งดังในปัจจุบัน
ประวัติของเค้าจึงมาเป็นตัวอย่างครับว่า การย้ายงานไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะจริงๆแล้วเราไม่รู้ว่าเราชอบงานแบบไหน หรือถนัดงานอะไรกันแน่ แต่การย้ายงานเพื่อลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จะทำให้เรารู้ว่าเราเหมาะกับสิ่งไหน และยังได้ประสบการณ์ระหว่างทางอีกด้วย
นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Matching Quality ครับ หมายความว่าเรากับงานนั้นเหมาะกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าคุณมัวแต่ทำงานเดิมๆ ไม่กล้าที่จะลองเปลี่ยนสายงานดู คุณอาจจะจมอยู่กับงานที่ไม่ Match กับตัวคุณเองเป็นเวลาหลายปีครับ
เหมือนสมัยที่เราเรียนมหาวิทยาลัยละมีการฝึกงาน (Internship) เป็นการบังคับ นั่นก็คือส่วนนึงของการหา Matching Quality ของตัวเรา ไปลองฝึกงานในสายที่เรียนมาซัก 2-3 เดือน เพื่อดูการทำงานว่าเหมาะกับตัวเราหรือไม่ ถ้าใช่ก็กลับมาทำต่อ ถ้าไม่ใช่ก็จะได้หาลู่ทางเพื่อหางานที่เหมาะกับตัวเองได้จริงๆนั่นเองครับ
— — — — — — — — — — —
จะสังเกตเห็นว่า ผู้เขียนค่อนข้างที่ยกการ Trial & Error มาเป็นตัวชูโรงเลย โดนพยายามที่จะบอกให้ทุกคนได้ลองทำอะไรหลายๆอย่างมากกว่าการมุ่งมั่นที่นะทำอย่างใดอย่างนึง
โดยเฉพาะเด็กๆในวัยเรียนที่ยังมี Sampling Period (ระยะเวลาทดลอง) ที่เยอะ ควรจะลองอะไรให้หลากหลายเก็บประสบการณ์ให้ได้มากๆ แล้วความรู้ที่กว้างขวางเหล่านั้นมันจะมีประโยชน์ในอนาคตแน่นอนครับ
เหมือนกับที่ Steve Jobs เคยบอกว่า Font ของ Mac นั้นเค้าได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ได้บังเอิญไปลงเรียนวิชา Caligraphy ในมหาวิทยาลัย โดยที่ตอนนั้นเค้าเองก็ไม่ได้คิดหรอกว่ามันจะมีประโยชน์กับตัวเค้าในอนาคต
อาจจะพูดได้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไร้ประโยชน์หรอกครับ ถ้ามีโอกาสได้ลองอะไรใหม่ก็ควรลองให้หมดครับ แม้เราจะเป็นเป็ดที่บินไม่สูง,ว่ายน้ำไม่เร็ว แต่ก็สามารถเป็นเป็ดที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกันครับผม
====================
และเนื้อหาคร่าวๆจาก Part แรกก็จบลงเท่านี้ครับ เหล่าเป็ดทั้งหลายที่หลงเข้ามาอ่านรู้สึกมีกำลังใจในความเป็ดของตัวเองกันมั้ยครับ 5555555
เนื้อหาในส่วนแรกนี้จะเน้นยกตัวอย่างของความเป็ดที่ดีซะส่วนใหญ่ ในส่วนหลังจะมาเน้นในเรื่องของเหตุผลที่ทำไมคนแบบ Generalist จึงสามารถประสบความสำเร็จได้ดีไม่แพ้ Specialist ครับ
แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจไป การเป็นเป็ดที่ดีก็ควรจะมีความถนัดในด้านในด้านนึงติดตัวเอาไว้ครับ เดี๋ยวใน Part ต่อไปจะมีการพูดถึงเรื่องนี้ด้วยว่า Generalist นั้นอาจจะดีกว่า Specialist
แต่ถ้าคุณเป็น Specialist ที่รู้กว้างได้ซักครึ่งนึง Generalist ละก็จะยอดเยี่ยมยิ่งกว่า และจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าด้วยครับ ยังไงขอเวลาไปอ่านต่อให้จบแบบ 100% แล้วจะมาต่อ Part 2 ให้เร็วๆนี้นะครับผม
ส่วนคะแนนรีวิว ผมขอให้ไว้ที่ 9/10
ยังไม่ Wow เท่าเล่มขึ้นหิ้งหลายๆเล่ม แต่คนเขียนเก็บข้อมูลมาดีมาก และมี Case Study เปรียบเทียบที่โคตรดี แบบอ่านแล้วร้องอ๋อ เปรียบเทียบได้เห็นภาพมากๆครับ
อ่านง่าย ศัพท์ไม่ยาก และได้ความรู้รอบตัวเยอะด้วยเนื่องจาก David แกยกตัวอย่างรอบด้านมากๆตั้งแต่นักกีฬา นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ ไปจนถึง สถานีอวกาศ NASA เลยครับ สนุกแน่นอนถ้าใครชอบแนะนำให้จัดเลยครับ
เหมือนเดิมครับ ที่เล่าไปทั้งหมดทั้งมวลนี้คิดเป็นแค่ไม่ถึง 10% ของเนื้อหาทั้งหมด ดังนั้นถ้าใครสนใจตามไปอ่านกันต่อก็สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.asiabooks.com/range-why-generalists-triumph-in-a-specialized-world-248300.html
ต้องบอกว่าเป็นหนังสือดีที่ราคาไม่แรงเลยครับ ใครชอบก็ลองซื้อหามาอ่านกันได้ แล้ว Part 2 ผมนะมาวันจันทร์หน้าแน่นอนถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ฝากติดตามกันต่อด้วยนะครับ 🤓🤓
— — — — — — — — — — — —
🐤 หากคุณเป็นคนที่ต้องการพัฒนาตัวเองในหลายๆด้าน เพื่อจะเป็นเป็ดที่ประสบความสำเร็จ การเรียนออนไลน์คือคำตอบครับ 🐤
ทางเพจขอแนะนำคอร์สเรียนออนไลน์ของ Future Skill ที่มีวิชาและทักษะต่างๆให้เลือกเรียนมากมาย พร้อมส่วนลดพิเศษ 50% จากเพจเล่า
คลิกรับสิทธิ์ : https://page.futureskill.co/fsxlao
โค้ดลด 50% : FSXLAO50
หากต้องการความช่วยเหลือหรือมีข้อสงสัยใดสามารถสอบถามทางเจ้าหน้าที่โดยตรงได้ที่ http://m.me/futureskill.co
— — — — — — — — — — — —
สำหรับวันนี้จบเพียงเท่านี้ครับ
ถ้าใครชอบเนื้อหาเน้นๆตามสไตล์เพจ “เล่า” ของผมก็สามารถกด Like เพจเพื่อติดตามเนื้อหาใหม่ๆของทางเพจได้นะครับ จะมีมาเล่าให้ในหลายๆเรื่องเลย ตามเพจเล่าไม่มีเบื่อแน่นอน เพราะแอดมินขี้โม้ หามาเล่าได้ทุกเรื่องครับ 😂😂
อยากให้เล่าเรื่องไหน รีเควสได้ ถ้าไม่นอกเหนือความสามารถก็จะไปหามาให้ครับ 😎😎
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่านช่องทางต่างๆได้ดังนี้
Clubhouse : @withptns , เล่า’s Bookclub
Facebook “เล่า” : https://www.facebook.com/lao.unfold
Instagram “เล่า” @withptns : https://instagram.com/withptns
Twitter “เล่า” @withptns : https://twitter.com/withptns
ติดต่อโฆษณา ฝากลิ้งค์สั่งหนังสือ หรือ ติดต่อร่วมงานกับเพจ “เล่า” ได้ที่อีเมล์ ptns81@gmail.com ครับ
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้ #RANGE
โฆษณา