20 ก.ย. 2021 เวลา 10:07 • ข่าวรอบโลก
ฝรั่งเศสโกรธจัดเรียกทูตกลับ หลังโดนแทงข้างหลังซื้อเรือดำน้ำ
3 อดีตนายกออสฯ ซัด ‘มอร์ริสสัน’ พวกประจบสหรัฐ-อังกฤษ
2
สนธิสัญญา ‘ออคุส’ ระหว่างสามชาติไตรภาคี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ที่มีการลงนามความร่วมมือเพื่อสันติภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก แต่อันที่จริงแล้วมันก็คือการพยายามเพิ่มเขี้ยวเล็บและอำนาจให้กับชาติพันธมิตรสหรัฐ ในภูมิภาคทะเลจีนใต้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสนธิสัญญานี้ที่กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งรุนแรง ชนิดที่เรียกได้ว่าโกรธกันเหมือนใครเผาบ้านก็คือ การที่ออสเตรเลียฉีกสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซลจากฝรั่งเศส 12 ลำ ที่ทำสัญญาตกลงกันไว้เมื่อปี 2016 มูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท แล้วหันไปต่อเรือดำน้ำเองโดยใช้เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐ จำนวน 8 ลำ ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ 7 ของโลกที่สามารถต่อเรือดำนำพลังงานนิวเคลียร์เองได้ รองจาก สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และอินเดีย
3
นั่นเท่ากับว่าเงินค่าซื้อเรือดำน้ำจำนวน 1.3 ล้านล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยในปี 2564 ที่ฝรั่งเศสตั้งความหวังว่าจะได้แน่ๆ นั้นกลับหายวับไปในพริบตา เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ และดำเนินการโต้ตอบทางการทูตอย่างรุนแรงกับสิ่งที่เรียกว่า “สัญญาแห่งการแทงข้างหลัง” ฉบับนี้
🔵 “มาครง” ผู้ไม่ทันเกม 3 เฒ่าพันธมิตร ฉุนขาดถึงขั้นเรียกทูตประจำวอชิงตัน-ออสซี่กลับปารีส
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ออกอาการโกรธจัดต่อสนธิสัญญาแห่งการแทงข้างหลังของสหรัฐฯ และอังกฤษ ที่จู่ๆ ก็กระโดดเข้ามาแย่งชิ้นปลามันไปดื้อๆ ความไม่พอในนี้ถึงขนาดยอมเสียมารยาททางการทูตรุนแรง โดยการเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงวอชิงตันและแคนเบอร์รา กลับประเทศ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับชาติพันธมิตรที่จูบปากกันมานานแบบนี้
1
ซึ่งในทางการทูตแล้ว การเรียกทูตกลับประเทศนั้นถือว่าเป็นการแสดงออกทางการทูตอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคู่ประเทศพันธมิตรได้ และเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะสมานรอยร้าวที่แตกออกให้เป็นดังเดิมในเร็ววัน เพราะการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเรียกทูตกลับ หรือแม้แต่การที่ทูตของประเทศนั้นๆ ถูกขับออกจากประเทศที่พำนัก ก็มีความรุนแรงต่อการตอบโต้ทางการทูตไม่ต่างกัน และกระทบต่อรู้สึกที่ดีต่อกันในระยะยาว
ถ้าดีลการซื้อเรือดำน้ำระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรเลียเกิดขึ้น ฝรั่งเศสในฐานะชาติพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ก็พร้อมกระโดดร่วมวงร่วมมือเพื่อสกัดกั้นอำนาจของจีน ส่งเรือรบเข้าไปโฉบเฉี่ยวในน่านน้ำทะเลจีนใต้เหมือนกับทุกชาติพันธมิตรตอนนี้กำลังแกว่งหางเสือแหย่กรงเล็กพญามังกร
แต่พอดีนี้ล่ม ฝรั่งเศสฉุนจัด กลายเป็นความความร่วมมือนี้อาจจะขาดสะบั้นลง แล้วกลายเป็นวงสามัคคีชุมนุมรุมตีกันเอง ปล่อยให้จีนนั่งบนบัลลังก์ตั่งทองมองลงมาดูพวกมนุษย์คอเคซอยด์ทะเละกันเอง แล้วไปเตรียมกองกำลังพร้อมรบพลางๆ เพื่อรอวันที่กลุ่มเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดตีกันเสร็จแล้วพร้อมเปิดฉากรบ
แต่จะว่าไปออสเตรเลียก็เคยส่งสัญญานแบบตรงไปตรงมากับฝรั่งเศสมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ออสเตรเลียอาจจะเอาหรือไม่เอาเรือดำน้ำของฝรั่งเศสก็ได้ซึ่ง นายสก็อตต์ มอร์ริสสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เคยบอกกับมาครงไปแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่าออสเตรเลียกำลังพิจารณาทบทวนแผนจัดซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศส และอาจจะตัดสินใจเป็นอย่างอื่น
2
“ผมพูดชัดเจนตอนที่รับประทานอาหารค่ำร่วมกับมาครง ที่ปารีสว่า ออสเตรเลียมีความกังวลว่าเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมจะมีศักยภาพพอที่จะรับมือกับบริบททางยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่หรือไม่ ผมบอกกับเขาตรงๆ ว่า ออสเตรเลียจำเป็นต้องตัดสินใจโดยอิงกับผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก”
นั่นคือการส่งสัญญาณหนึ่งดอกไปยังฝรั่งเศส
ดอกที่สองคือ การตัดสินใจยกเลิกข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำฝรั่งเศสที่มีราคาแพงมาก แล้วแล้วก็ไม่รู้ว่าจะสามารถทำงานได้ตามที่เราต้องการหรือไม่ และการตัดสินใจของออสเตรเลียอยู่บนพื้นฐานข่าวกรองและข้อเสนอแนะด้านความมั่นคงที่ดีที่สุด ซึ่งพบว่า เรือดำน้ำฝรั่งเศสจะไม่ตอบโจทย์
แถมดอกที่สามแบบจุกไปอีกว่า รู้นะว่าฝรั่งเศสผิดหวัง และเสียความรู้สึกอย่างมาก แต่นายมอร์ริสสัน บอกไม่เสียใจเลยที่ตัดสินยกเลิกข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำนี้
เมื่อออสเตรเลียออกโรงพูดทำนองว่า “ไอ ดอน แคร์” ขนาดนี้ฝรั่งเศสคงทั้งจุกและโกรธหนัก ล่าสุดมีรายงานข่าว นายกาเบรียล แอททัล โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสว่า มาครงจะต่อสายตรงไปเคลียร์กับ "โจ ไบเดน" ผู้นำสหรัฐฯ ด้วยตัวเองว่าทำไมลุงถึงมาทำกับเราแบบนี้ เพื่อบีบปากให้ไบเดนอธิบายสิ่งที่ทำลงไป เพราะดีลนี้จู่ๆ ก็โผล่มาให้ฝรั่งเศสรู้ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะลงนามในสนธิสัญญา โดยไม่มีการบอกกล่าวใดๆ ว่าตอนนี้ไม่ได้คุยกับฝรั่งเศสแค่ประเทศเดียว แต่ไปตกลงคุยกับลับๆ แบบไม่ให้คู่ค้าสำคัญรับรู้ ไม่เท่านั้นยังต้องการเงินชดเชยค่าล้มดีลจนต้องเสียโอกาสที่ฝรั่งเศสควรจะได้ ซึ่งคาดว่าใน 2 – 3 วันนี้น่าจะมีการโทรศัพท์พูดคุยกันของทั้งสองผู้นำที่กำลังหมางใจกัน
🔵 “ไบเดน” แอ๊ปเนียนตีหน้าเศร้า บอกเสียใจที่ฝรั่งเศสพลาดดีล
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานผ่านคำพูดของเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวว่า โจ ไบเดน ได้แสดงความเสียใจต่อการ ‘ฉก’ ดีลซึ่งหน้าครั้งนี้ แล้วสหรัฐฯ พร้อมที่จะพูดคุยกับฝรั่งเศสเพื่อเคลียร์ใจกัน อย่างที่เราเคยเคลียร์กับชาติพันธมิตรอื่นๆ ที่เคยไปปาดหน้าเค้กผลประโยชน์เอาไว้ในอดีต
“ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรเก่าแก่สุดของสหรัฐ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุด เราทั้งคู่มีประวัติศาสตร์และค่านิยมประชาธิปไตยร่วมกันมายาวนาน ทั้งยังมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายโลก มีความสนใจร่วมกันในการสร้างหลักประกันอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เราจะเดินหน้าร่วมมือใกล้ชิดกับนาโตและอียู รวมถึงพันธมิตรอื่นๆ ในความพยายามร่วมกันนี้”
🔵 งอนอังกฤษ ล่มประชุมหารือรัฐมนตรีกลาโหมทันที
เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่ห่างกันเพียงแค่ช่องแคบอังกฤษขวางกั้นก็โดนฝรั่งเศสงอนใส่เหมือนกัน เพราะก็เป็นชาติเพื่อนบ้านตัวดีที่ร่วมวงแทงข้างหลัง ล่าสุดฝรั่งเศสยกเลิกการประชุมหารือกันระหว่าง นายฟลอเรนซ์ พาร์ลี รัฐมนตรีกลาโหมของทั้งฝรั่งเศสและ เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้แบบฉับพลัน เซ่นพิษวีรกรรมเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด
ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร พยายามปลอบประโลมฝรั่งเศสว่า ไม่มีประเด็นไหนในสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสต้องกังวล ทุกอย่างจะสามารถพูดคุยและเคลียร์กันได้
แต่ถึงอย่างไร หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าการลอบแทงกันเองในประเทศกลุ่มนาโต้ และอียูนี่แหละที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ เพราะต่อไปนี้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันจะไม่เหลือ เพราะต่างฝ่ายต่างลอบแทงกันเองได้เพื่อผลประโยชน์ ซึ่งอาจทำให้นาโต้เปราะบางลง เพราะความกินแหนงแคลงใจกัน และไม่อาจจับมือกันได้แน่นพอที่จะคานอำนาจจีนที่นับวันจะเพิ่มอำนาจขึ้นเรื่อยๆ
🔵 3 อดีตนายกออสซี่ ซัด 'มอร์ริสสัน' ทำตัวประจบสอพลอสหรัฐฯ-อังกฤษ
เรียกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียทั้ง 3 คนได้แก่ นายพอล คีตติง นายเควิน รัดด์ และนายแมลคัม เทิร์นบุลล์ ออกมาซัดแรงๆ ใส่ผู้นำคนปัจจุบัน สก็อตต์ มอร์ริสสัน ถึงประเด็นเรื่องสนธิสัญญาดังกล่าวว่าทำตัวเป็น “พวกประจบสอพลอ” สหรัฐฯ และอังกฤษ ไม่เพียงเท่านั้น นับตั้งแต่ที่มอร์ริสสัน พยายามแสดงตนออกนอกหน้าต่อต้านจีนที่เคยเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งเรื่องเสนอหน้าลงนามในจดหมายประณามการที่จีนปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงการปฏิบัติอย่างมิชอบต่อชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปิดค่ายปรับทัศนคติซินเจียง เมื่อปี 2009
และเมื่อปี 2020 ที่กล่าวหาว่าจีนคือตัวการในการปล่อยให้เกิดโรคระบาดใหญ่ และเรียกร้องให้มีการสอบสวนสาเหตุของการแพร่ระบาด ส่งผลให้จีนไม่พอใจ
ไหนจะคัดค้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงอย่างเปิดเผย ระงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง ถึงขนาดที่สถานทูตจีน โกรธจัดแถลงชัดเลยว่า ต่อจากนี้ไปจีนและออสเตรเลีย เป็นศัตรูกัน
จนทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติเลวร้ายอย่างมาก กระทบต่อระบบการค้าและเศรษฐกิจของออสเตรเลียเองที่เป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวและไวน์ไปยังประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด เพียงเพราะอยากโชว์ว่าตัวเองมีตัวตนเข้าข้างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ประกาศให้รู้ว่าออสเตรเลีย เลิฟอเมริกันแอนด์ยูเคอย่างออกนอกหน้า
2
“ความพยายามประจบประแจงเอาใจสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแต่ทำให้ออสเตรเลียต้องทำสงครามเย็นกับจีน แต่นโยบายต่างประเทศของนายมอร์ริสสัน กำลังนำพาประเทศนี้ไปสู่ทางตัน อีกทั้งยังเป็นการบ่อนทำลายความสำเร็จแห่งการเป็นสังคมที่หลากหลายของออสเตรเลียลงไปอีกด้วย เพราะลักษณะอุปนิสัยของลูกหลานอดีตนักโทษเนรเทศ”
1
ความเข้มข้นของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดนี้ถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว แล้วสะท้อนให้เห็นได้ว่า ผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ไม่มีคำว่ามิตรแทนศัตรูถาวร ฝ่ายไหนมีประโยชน์ร่วมกันก็พร้อมกระโดดเกาะฝ่ายนั้น แล้วสลัดเพื่อนที่เคยเกือบจะตกลงร่วมหัวจมท้ายกัน เพียงเพราะของเพื่อนคนนั้นมันใหม่ และไฉไลกว่า ได้มากกว่านั่นเอง
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจเป็นรายการโปรด โดยคลิกที่จุด [...] ด้านบนมุมขวาบนของเพจ เลือก "การตั้งค่าการติดตาม" และกดเลือกให้เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด” ไว้จะได้ไม่พลาดเรื่องราวจากเพจเรา
╚═══════════╝
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Facebook : Reporter Journey
โฆษณา