21 ก.ย. 2021 เวลา 02:12 • ธุรกิจ
ปรัชญาวิถีผึ้ง สู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
ปรัชญาและแนวทางในการดำเนินธุรกิจแบบ “ยั่งยืน” และ “ไม่ยั่งยืน” ได้ถูกฉายภาพจากนักวิชาการระดับโลกอย่าง ศาสตราจารย์ ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี่ (Prof. Gayle C. Avery) ผู้อำนวยการสถาบัน Sustainable Leadership ประเทศออสเตรเลีย
ในงานประชุมวิชาการด้านบริหารจัดการและทรัพยากรมนุษย์ระดับนานาชาติ หรือ “The 4th International HR Conference” ในหัวข้อ “ผู้นำสร้างความยั่งยืน : ด้วยวิธีผึ้งและตั๊กแตน” (Sustainable Leadership : Honeybee and Locust Approaches)
โดยนิยามสัตว์สองประเภทคือ ผึ่ง กับ ตั๊กแตน เพื่อให้นักธุรกิจทบทวนและตระหนักคิดกันว่า การดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาของคุณ เป็นแบบใดกันแน่!...
ทั้งนี้ หลักการดำเนินธุรกิจ “แบบผึ้ง” การสร้างผลประกอบการโดยคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ (Stakeholder) ตั้งแต่พนักงาน คู่ค้าลูกค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่ประชากรในอนาคต เป็นต้น
เปรียบเทียบก็คือ การใช้ชีวิตของผึ้งไม่ว่าจะไปสร้างหรือทำลังอยู่ที่ไหนก็จะสร้างสมดุลและเพิ่มคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ขณะที่การดำเนินธุรกิจใน “แบบตั๊กแตน” เป็นการดำเนินธุรกิจที่มุ่งหวังแต่ผลกำไร เพื่อกลับคืนไปให้ผู้ถือหุ้นเท่านั้น!!!
แนวทางของ “ตั๊กแตนปาทังก้า” เป็นหลักคิดที่มองแต่ผู้ถือหุ้นและผลกำไรเป็นที่ตั้ง คิดถึงแต่ตัวเอง โดดเดี่ยวตัวเองจากสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบด้าน การรวมฝูงของตั๊กแตนก็เพื่อประโยชน์ในการเข้าไปกลืนกินทรัพยากรที่อยู่ตรงหน้า ทำลายไปเรื่อยๆ จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง จนเมื่อไม่มีทรัพยากรอะไรเหลือให้กินก็จะเริ่มกัดกินกันเอง
แน่นอนว่า นี่คือการทำลายโลกและทำลายคุณค่าที่มีอยู่บนโลกใบนี้ทางอ้อม แนวทางนี้โรงเรียนบริหารธุรกิจดังๆ หลายแห่งทั่วโลกต่างก็ใช้หลักการเช่นนี้ ซึ่งถือได้ว่า นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัว!!!
แม้คนส่วนใหญ่มองว่าการทำธุรกิจที่มุ่งกำไรเพิ่มขึ้นส่วนจะทำให้องค์กรมั่นคง ทว่าจริงๆ แล้วจากงานวิจัยพบว่า ธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ผลการดำเนินงานในระยะยาวได้ดีกว่า นั่นคือ “แบบผึ้ง”
“องค์กรทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จจะเหมือนแบบผึ้ง คือ จะคำนึงถึงชุมชนที่อยู่รอบด้านทั้งหมด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เหมือนกับผึ้ง ไม่ว่าจะอยู่ไหนก็จะไม่ทำลายใคร แถมทำให้สภาพแวดล้อมเหล่านั้นดีขึ้นด้วยซ้ำ และยังเพิ่มคุณค่ากับสิ่งที่อยู่รายล้อม ที่สำคัญ เป็นบริษัทที่ผ่านวิกฤตการทางเศรษฐกิจหรือสังคมมาไม่รู้กี่ครั้ง จนฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ และอยู่มาอย่างยาวนานเจริญรุ่งเรือง” ศ.ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี่ กล่าว
ปรัชญาของการทำงานของ “ผึ้ง” และ “ตั๊กแตน”
การทำงานของ ”ผึ้ง”
• ทำงานในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
• ร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์คุณค่า
• เพิ่มคุณค่าให้กับโลก
การทำงานของ ”ตั๊กแตน”
• ทำงานกันแบบตัวใครตัวมัน
• มีการเคลื่อนตัวกันเป็นกลุ่ม
• ทำลายคุณค่าในโลก
เงื่อนไขความยั่งยืนฉบับ “ผึ้ง”
แล้วอะไรคือเงื่อนไขที่จะบอกว่า ธุรกิจแบบไหนคือ “ผึ้ง” ? ศาสตราจารย์ ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี่ กล่าวว่า มี 23 เงื่อนไขที่จะชี้ได้ว่า เป็นการเดินมาถูกทางแบบผึ้งแล้ว โดยจะการแบ่งเป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่องค์กรสามารถที่จะทำได้เลยทันที และมีความสำคัญมาก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรให้ก้าวสู่ระดับต่อๆ ไป
1. มีการพัฒนาบุคลากรขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีศึกษาของ BMW ที่มีการจัดงบฝึกอบรมพนักงานเทียบเท่ากับงบประมาณประจำปีของมหาวิทยาลัยขนาดกลาง
2. การให้คุณค่ากับพนักงานและให้ความสำคัญกับพนักงาน ไม่เพียงจ่ายค่าตอบแทน แต่ครอบคลุมไปถึงสิ่งแวดล้อมในการทำงานด้วย
3. ให้คุณค่าและรักษาคนขององค์กร ไม่แก้ปัญหายามเผชิญกับวิกฤตการด้วยการปลดพนักงานออก มีแผนการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรนานๆ
4. มีการวางแผนการสืบทอดภายในขององค์กร เช่น ตัวอย่างในประเทศไทยคือ คุณกานต์ ตระกูลฮุน ซีอีโอ เครือเอสซีจีกรุ๊ป ที่ตั้งใจสร้างแบรนด์อย่างมีคุณค่า พัฒนามาจากภายในองค์กร โดยรู้ตัวล่วงหน้าประมาณ 3 ปีแล้วว่า จะขึ้นรับตำแหน่งซีอีโอ
5. ให้คุณค่าและความสำคัญกับคนที่อยู่กับองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการลงทุนโดยไม่หวั่นว่ากำไรระยะสั้นจะลดลง
6. ผู้นำขององค์กรจะไม่ใช่ฮีโร่ แต่เน้นการทำงานเป็นทีม
7. ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมและความมีธรรมาภิบาล โดยจะไม่ยอมทำสิ่งที่จะทำให้บริษัทเสื่อมเสีย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องความผิดชอบชั่วดีต่อสังคม
8. มองการณ์ไกล ไม่ได้หวังผลประโยชน์ระยะสั้น คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน
9. มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
10. มีอิสระในตลาดเงิน
11. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
12. มีความรับผิดชอบต่อสังคม
13. ตระหนักในผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย
14. จะต้องมีวิสัยร่วมที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HR) ที่มองเห็นพนักงานเป็นทรัพย์สินขององค์กรอย่างแท้จริง
ระดับที่ 2 เมื่อดำเนินตามเส้นทาง 14 เงื่อนไขขั้นต้นได้แล้ว องค์กรจะพัฒนามาสู่ขั้นที่สอง คือ
15. องค์กรเป็นระบบฉันทามติ หรือทุกคนมีความเห็นร่วมกันทั้งหมด
16. พนักงานมีคุณภาพในระดับสามารถทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งของหัวหน้ามากนัก ในส่วนการตัดสินใจต่างๆ
17. การทำงานขององค์กรก็จะเป็นทีม
18. มีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
19. ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ตั้งแต่ระดับทั่วไปจนถึงระดับเฉพาะด้าน นำไปสู่การแบ่งปัน
20. มีความไว้วางใจกัน
ระดับที่ 3 หลังจากระดับที่ 2 จะเป็นการขยับขึ้นมาเป็นระดับการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร คือ
21. จะเกิดนวัตกรรมขึ้นในองค์กรทุกระดับอย่างเป็นระบบ
22. พนักงานจะมีส่วนร่วมกับองค์กรธุรกิจ
23. คุณภาพของสินค้าและบริการขององค์กรจะสูงมากจากมาตรฐานและความคาดหวังของลูกค้า
แน่นอนว่า การบริหารจัดการองค์กรทั้ง 3 ระดับนี้ได้ จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้องค์กรธุรกิจมีความยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้ แบรนด์และการยอมรับของลูกค้าสูงขึ้น ความพึงพอใจของลูกค้าสูงขึ้น ฐานะทางการเงินขององค์กรจะดีและมีความมั่นคง และสุดท้ายผลตอบแทนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาวขึ้น
ก็คล้ายๆ กับปรัชญาการทำธุรกิจในแบบ “ต้นไผ่ (แบบตั๊กแตน)” และ “ต้นสน (แบบผึ้ง)” ของญี่ปุ่น ถ้ามีองค์กรที่คิดแบบนี้เยอะๆ เจริญแน่นอน แต่แหม... ตั้งแต่ทำงานบริษัทข้ามชาติ บริษัทคนไทย มาตลอดชีวิต ยังไม่เคยเจอแบบผึ้งหรือแบบต้นสนเลยนี่สิ บริษัทแบบนี้มันมีน้อยหรือกระไร? ช่างน่าเศร้าใจจริง!!!
Source : Strategy + Marketing
Create : NokCB - Branding, Corporate Branding, Communications Branding & Consultant
============================
ติดตามทุกเรื่องเกี่ยวกับ การสร้างแบรนด์ การตลาด การโฆษณา ธุรกิจ ดีไซน์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ แบบลึกซึ้ง สนุกสนานได้ที่...
Facebook : ความรู้เรื่องการสร้างแบรนด์ by BirdBrand
Blockdit : BirdBrand & Nok Creative Branding
โฆษณา