21 ก.ย. 2021 เวลา 05:30 • การศึกษา
📌OEC News📢 :: ก้าวผ่านโควิด-19 รีวิวเข้มข้น Resilient Education ปรับโฟกัสสภาวะการศึกษาไทยสนองการศึกษา
พลวัต-คลายวิชาการสู่วิชาชีพ-ลดอำนาจส่วนกลาง-กระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้น
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น(ร่าง)รายงานวิจัย เรื่อง "ทิศทางและแนวโน้มการจัดการศึกษาในยุคโควิด-19" ผ่านเครือข่ายระบบออนไลน์
โดยระดมแนวคิดผู้ทรงคุณวุฒิและนักบริหารการศึกษาชั้นแนวหน้า ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ กกส.) ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ดร.วณิชย์ อ่วมศรี ที่ปรึกษาโครงการพิเศษ Excellent Center สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.รังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษาขององค์กรเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในช่วงปี 2563 - 2564 อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องปรับทิศทางการจัดการศึกษาสอดคล้องสภาวะการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่สามารถเปิดเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ แต่ก็ยังต่อยอดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเป็น 5 รูปแบบ รับมือกับการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็น On-site เรียนที่โรงเรียน On-air เรียนผ่านการศึกษาทางไกล On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต และ On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ต่อเนื่องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในส่วนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สกศ. ขับเคลื่อนการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ .... ใช้ขับเคลื่อนการศึกษาที่ทันต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนต้องปรับปรุงแผนการศึกษาของชาติ และสอดรับแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มุ่งสู่ความเป็นเลิศและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งขับเคลื่อนไปได้ระดับหนึ่ง เช่น การปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องวิชาชีพทั้ง 7 หลักสูตร จัดให้เรียนในหลักสูตรที่จำเป็นต้องเรียน ใช้กลไกธนาคารสะสมหน่วยกิต (Creditbank) ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง
"ทำอย่างไร สกศ. จะเป็นขงบ้งทางการศึกษาที่มีบทบาทชัดเจนในฐานะผู้นำความคิดเช่นเดียวกับสำนักงานสภาพัฒน์ โดยสามารถชี้นำทิศทางการพัฒนาการศึกษาของชาติได้ และเตรียมปรับเปลี่ยนสู่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางจัดทำแผนการศึกษาของชาติ สร้างการยอมรับและความเชื่อถือจากทุกฝ่ายโดยใช้ผลงานวิจัยมาสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ประการสำคัญยิ่งการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิวันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงงานวิจัยทิศทางและแนวโน้มการจัดการศึกษาในยุคโควิด-19 ที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น" ดร.อำนาจ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 คณะทำงานพิเศษ สกศ. ได้สรุปผลงาน "เปิดฉากทัศน์ใหม่! สกศ.ปรับโฟกัสจัดการศึกษาอยู่ร่วมCovid" รายงานต่อคณะทำงานจัดทำรายงานผลการดำเนินงานรอบ 2 ปี ของหน่วยงานตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ที่มี นายศุภชัย ศรีหล้า เป็นประธาน ฯ สาระสำคัญระบุบทสรุปผลความก้าวหน้างานของ สกศ. ในปีงบประมาณ 2563 - 2564 ที่เกิดผลสัมฤทธิ์งานส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง (Impact)
อีกทั้งยังบ่งชี้ถึงความท้าทายในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านที่ต้องการ "ความกล้าหาญ" เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายการศึกษาที่ทันสถานการณ์และเปิดมุมมองของผู้เรียนแบบใหม่สอดรับกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ที่ยังต้องเร่งพัฒนาการจัดการศึกษาให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับคำชื่นชมและยกย่องว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการศึกษาของชาติ โดยคณะทำงาน "เสมา 2" อยู่ระหว่างจัดพิมพ์เล่มผลงาน สกศ. เผยแพร่สู่สาธารณะ
รายงานสรุปดังกล่าวข้างต้นที่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในวงประชุม "ทิศทางและแนวโน้มการจัดการศึกษาในยุคโควิด-19" ของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 ท่านอย่างสอดคล้องกันในหลายวาระผ่านการสังเคราะห์(ร่าง)รายงานสะท้อนสภาวการณ์ที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาในยุคโควิด-19 ที่ครอบคลุมทั้งสภาวะเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี การเมือง และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาพรวมสภาวะการศึกษาไทย ปี 2563
ซึ่ง สกศ. เป็นกลไกสำคัญในการรายงานข้อมูล/สถิติต่าง ๆ ย้อนหลังในช่วงปี 2559 - 2563 เช่น การเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนในทุกระดับระดับตั้งแต่ปฐมวัย-การศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา-อุดมศึกษา ผลการทดสอบทางการศึกษา จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประเทศไทย แนวโน้มสมรรถนะในภาพรวมของประเทศไทย งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาต่อ GDP ซึ่งจำเป็นต้องนำข้อมูลความจำเป็นของผู้เรียน และสถานศึกษา รวมทั้งบริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่มาคิดคำนวณการจัดสรรงบประมาณการศึกษา สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านประสิทธิภาพและความเสมอภาคไปพร้อมกันได้
จุดเน้นสภาวะการศึกษาไทยปี 2563 ผู้ทรงคุณวุฒิยกจุดเน้นสำคัญการขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็น การตราร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ .... พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา การพัฒนาบัณฑิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ การเปลี่ยนผ่านอุดมศึกษายุคโควิด-19 นอกจากนี้ ยังหารือถึงการจัดการเรียนการสอนในยุคโควิด-19 ของไทยที่มีการปรับใช้ทั้ง 5 ON โดยเปรียบเทียบกับนานาชาติ เช่น จีน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และแคนาดา
สุดท้ายสังเคราะห์ไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาการจัดการศึกษาของไทย ทั้งหมดคณะผู้ทรงคุณวุฒิต่างสะท้อนและเปิดมุมมองการวิเคราะห์และได้ให้เสนอแนะวิธีในการยกระดับการศึกษาโดยรวมของประเทศร่วมกันภายใต้แนวคิดการศึกษาพลวัต (Resilient Education) มุ่งเน้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ลดอำนาจส่วนกลางกระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้น
เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้อำนาจบริหารจัดการศึกษาเป็นของท้องถิ่นซึ่งเปลี่ยนมิติคิดการเรียนรู้ มุ่งเน้นคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย และดำรงชีวิตอยู่ได้ เร่งยกระดับมาตรฐานครูเท่าทันดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กต้องได้เรียนฟรีจริง ได้รับสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนอย่างทั่วถึง และจำเป็นต้องลงมืออย่างเร็วที่สุดสู่การพัฒนาการจัดการศึกษาทั้งระบบที่มีประสิทธิภาพและไม่ลืมจะพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) รวมถึงประเด็นการบูรณาการและทำงานกันของทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้หลากหลายมิติสู่การเชื่อมโยงจากระดับนโยบายสู่การปรับใช้ในพื้นที่/ภูมิภาค เพื่อปรับปรุงรายงานวิจัยฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์ต่อไป
#OECnews #สภาการศึกษา #การศึกษา
📝OEC News สภาการศึกษา
• LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews
โฆษณา