21 ก.ย. 2021 เวลา 08:16 • ท่องเที่ยว
หลงป่า : บันทึกระหว่าง คน กับ ป่า @ ทามัน นาการา ประเทศมาเลเซีย
การท่องเที่ยวไปในดินแดนของป่าเขตร้อนตลอดแนวเส้นศูนย์สูตร เป็นการท่องเที่ยวในโลกที่มหัศจรรย์ เต็มไปด้วยเรื่องราวของสรรพชีวิตที่น่าเรียนรู้และควรค่าต่อการค้นหาอย่างยิ่ง
ช่วงที่เดินทางไปมาเลเซีย ฉันเพิ่งจะเริ่มดูนกและถ่ายรูปนกราวสองปี .. ความท้าทายในการถ่ายรูปเจ้าสัตว์ที่เหมือนเป็นอัญมณีหลากสีมีปีกเหล่านี้จึงมีมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตป่าที่มีปัจจัยให้ต้องเรียนรู้ละเข้าใจถึงสภาพแวดล้อม แหล่งที่พบ
ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่มีน้อย ... คนถ่ายภาพนก จึงต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม และต้องพึ่งตัวเอง ตั้งแต่การแบกอุปกรณ์ แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายและเร้าใจตลอดเวลา จนทำให้ฉันชอบถึงขั้นติดใจ และรอนแรม ระหกระเหินไปในที่ต่างๆที่มีนกที่น่าสนใจให้ถ่ายภาพ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ
บนถนนคนแรมทางที่ฉันเคยสัมผัส การท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มาเลเซียนั้น ฉันเคยไปเยือนแค่ไม่กี่ครั้ง และรู้จักมาเลเซียในแง่มุมนี้น้อยมาก เมื่อเพื่อนชวนไปดูนกที่ ทามัน นาการา ประเทศมาเลเซีย ฉันจึงไม่รีรอที่จะขอตามไป
ฉันกลับมาเยือนทามัน นาการาอีกครั้ง ที่เมืองเมลาโปร์ แม้ว่าจะเป็นคนละด้านกับที่เคยไปมาแล้ว … แต่ทามัน นาการาวันนี้ก็ยังยิ่งใหญ่ตระหง่านเงื้อม ท้าทายอยู่ในที ไม่ต่างกับวันแรกที่ป่าผืนนี้ปรากฏในสายตาเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ช่วงเช้าที่เรามาถึง ฝนตกปรอยๆ … หลังจากเก็บข้าวของเข้าที่พัก พวกเราส่วนใหญ่เดินเก็บภาพนกในบริเวณใกล้ๆที่พัก ที่พอจะมีร่มเงาของศาลาหรือต้นไม้ใหญ่คุ้มกัน พอที่ละอองฝนจะไม่ทำให้กล้องถ่ายรูปเสียหาย
นกที่เราถ่ายรอเวลาให้ฝนหยุด ... ส่วนมากอยู่บนต้นไม้ที่มีลูกสุก เป็นที่ชื่นชอบของนกจำพวก กาฟากก้นเหลือง ปรอด และเขียวก้านตอง…
ในขณะที่หลายคนบ่นๆว่า ลูกไทรบนต้นเหลืออยู่น้อยมาก โอกาสที่จะเห็นนกเงือกลงมาเกาะต่ำๆเพื่อกินลูกไม้อย่างที่เพื่อนเราหลายคนได้มาถ่ายรูปเอาไว้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนดูจะริบหรี่เต็มที
อีกด้านหนึ่ง ... มองเห็นเหยี่ยวรุ้งเกาะกิ่งไม่อยูไกลๆ ด้วยความอ่อนด้อยคุณภาพของกล้องและเลนส์ที่ใช้อยู่ รูปที่ได้มาจึงดีที่สุดเท่าที่เห็นค่ะ
ฉันมีโอกาสเจอนกพญาปากกว้างท้องแดงที่มาเกาะกิ่งไม้ใกล้รังเก่าที่ถูกกระรอกรื้อไปแล้ว เลยเก็บภาพมาฝาก … ในวันต่อๆมาเราพบว่ามันไปบินป้วนเปี้ยนแถวโรงอาหาร คิดว่าคงจะไปจับจองทำเล สร้างอาณาเขตเพื่อทำรังใหม่
ที่พักของเราตั้งอยู่ชายป่า ... มีต้นไม้ร่มรื่นทั่วบริเวณ และต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ปลุกที่นี่มักจะเป็นต้นที่มีลูกไม้ จึงมีนกหลากชนิดลงมาจิกกินเกือบตลอดเวลา แค่เดินในพื้นที่ใกล้ที่พักก็มีนกให้ถ่ายมากมาย หากไม่เกี่ยงว่าจะเป็น "นกพื้นๆ"
คนที่เดินทางมาที่นี่ ส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าจะเห็นนกเงือกมากมายหลายชนิด ... แต่ในช่วงกลางเดือนเมษายน ลูกไทรแทบจะไม่มีบนต้น จึงพบเห็นนกเงือกน้อยมากแถวบริเวณทีพัก
โชคดี ... ก่อนกลับได้ภาพเลือนๆของนกเงือกสีดำมาหนึ่งตัว ด้วยเขาเกาะกิ่งไม้อยู่ไกลมาก
จากนั้นเราก็เดินตามๆกันไป ข้ามสะพาน มุ่งตรงไปบนถนนที่ทอดยาวขึ้นๆลงๆไปสุดสายตา … บนถนนนี้นับว่าเป็นเส้นทางดูนกที่สำคัญยาวนับสิบกิโลเมตร มีเทรลเล็กๆหลายเทรลแยกเข้าไปในราวป่า ความยาวสั้นบ้าง ยาวบ้าง
แม้ว่าทามัน เนการา จะเป็นแหล่งรวมของนกราว 300 ชนิด แต่บนถนนในวันที่เราไปเยือนมีนกไม่มากนัก ... แต่ก็ยังพบว่านกบินออกมาอวดโฉมให้ได้ถ่ายรูปอยู่บ้างพอไม่เหงามือ … เราพบ นกจับแมลงปีกสีน้ำตาลแดง หัวขวานจิ๋วหลังแดง
วันที่สอง … หลายคนเฝ้ารอนกดาราของที่นี่ … แต้วแล้วแดงมลายู (Garnet Pitta) แต่เนื่องจากในช่วงเวลาที่เราไปนั่นน่าจะเป็นช่วงที่นกแต้วแล้วส่วนใหญ่จับคู่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีนกออกมาเดินอวดโฉมเรียกคู่ให้เห็น … คาดว่าอาจจะอยู่ในช่วงสร้างรัง เลี้ยงลูก ... อาจจะได้ยินเสียงนกร้องอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อยู่ในรัศมีใกล้ๆ
น้องเต้ย … หนุ่มน้อยแต่มากประสบการณ์ในการดูนก กลายเป็นกำลังสำคัญในการค้นหาแต้วแล้วตัวสำคัญที่ใครๆก็อยากให้เป็นนางแบบ นายแบบในการถ่ายภาพ …
เพื่อนเราจำนวนหนึ่งโชคดีที่ได้เห็น ได้ถ่ายรูปแต้วแล้วดาราตัวนี้ … สำหรับฉัน “กินแห้ว” เพราะอาสาเฝ้าบังไพรอันหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปมาก
... ช่วงเวลาที่เฝ้าคอยดู แต้วแล้วแดงมลายู มีเพียงนกกางเขนดง และกระรอกที่ออกมาหากิน และส่งเสียงทักทาย เป็นเพื่อนพอไม่ให้เหงา
ช่วงบ่าย … หลายคนรวมตัวกันออกตามหาแต้วแล้วอีกครั้ง … เราเดินตามเสียงนกซึ่งดูเหมือนจะอยู่ใกล้ๆ แล้วค่อยๆลากเราให้เดินตามลึกเข้าไปเรื่อยๆ … สุดท้ายเราต้องถอยออกมา ก่อนที่จะหาทางออกไม่ถูก
ช่วงกลางคืน … เราพยายามที่จะออกไปส่องและถ่ายรูปนกปากกบยักษ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จค่ะ
วันต่อมา …
ฉันเริ่มต้นวันด้วยการออกไปดูนกปากกบยักษ์อีกครั้งในตอนเช้ามืด … ครั้งนี้เราส่องไฟผิดจุด นกเลยบินข้ามหัวไปซะงั้น "กินแห้วอีกตามเคย"
หลังอาหารเช้า … เพื่อนเราหลายคนเลือกที่จะเดินทางไปดูนกในบริเวณที่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร … ที่นั่นมีเหยี่ยวปลา และนกอีกหลายชนิดที่น่าสนใจ ให้ไปถ่ายรูป
ส่วนฉันเดินกับไกด์นายไปตามถนนเส้นเดิม หยุดถ่ายรูปสะพานข้ามธารน้ำที่เชื่อมระหว่างที่พักกับพื้นที่ป่า ก่อนที่จะเดินตามทางเดินบนถนน หยุดถ่ายรูปนกที่ผ่านเข้ามาในสายตาบ้าง
ชาวมาเลเซียที่ฉันพบเมื่อเย็นวาน
Hello, there.
Did you see the nest of the Black-napped Monarch yet? Let me show you.
แม้ว่าฉันจะเห็นในรูปที่เพื่อนร่วมทริปโชว์ให้ดูเมื่อวานนี้แล้ว แต่เพื่อรักษาน้ำใจของเพื่อนคนนี้ ฉันเลยยอมให้เขาพาเดินกลับไปชี้รังของนกจับแมลงจุกดำบนกิ่งไม้ที่ห้อยลงมากลางถนน และอยู่ไม่ไกลนัก ก่อนที่จะเดินกลับมาที่ทางเข้าเทรลใกล้ๆ
ฉันกับเพื่อนชาวมาเลเซีย และเพื่อนของเขาอีก 1 คนเดินไปตามเทรล แล้วเราก็พบและหยุดถ่ายรูปนกจับแมลงอกแดง (Maroon-breasted Philentoma) อันเป็นนกในฝันของใครอีกหลายคน
I’ve come a long way just to find one bird, Garnet Pitta.
Too bad, could not find one yet.
ฉันบอกกับเพื่อนมาเลย์ว่า อุตส่าห์เดินทางมาตั้งไกลเพื่อมาดูเจ้านกแต้วแล้วแดงมลายู แต่น่าผิดหวังจริงๆที่ยังไม่พบเลยสักตัว
I’ll help you find one… ฉันจะช่วยเธอหา .. เพื่อนมาเลย์บอก ก่อนที่เราจะออกเดินต่อ
เราเดินตามทางเดินศึกษาธรรมชาติในช่วงแรกที่ดูจะเป็นเทรลธรรมดาๆ เหมือนเทรลอื่นๆ เดินไม่ยาก มีพรรณไม้ขนาดใหญ่ชูอวดลำต้นตระหง่านง้ำขึ้นไปในอากาศสูงหลายสิบเมตร ท่ามกลางผืนป่าแน่นขนัด แต่ก็รื่นรมย์ไม่น้อย
I think, the pitta is at that direction, not very far but we have to be off trail.
หลังจากที้ดินตามเสียงนกแต้วแล้วแดงมลายูในเทรลมาได้พักหนึ่ง เพื่อนมาเลย์บอกกับฉันว่า นกที่เราตามหาอยู่ไม่ไกล แต่เราต้องเดินออกนอกเทรล
ด้วยความที่ฉันนึกไปเองว่า เพื่อนมาเลย์ทั้งสองคนคงคุ้นเคยกับพื้นที่ดี เลยตอบตกลงที่จะเดินออกนอกเส้นทาง โดยไม่ลืมบอกกับพวกเขาว่าฉันเองแย่มากในเรื่องของทิศทาง หวังพึ่งไม่ได้นะ
เพื่อนร่วมทางของฉันหักกิ่งไม้ตามทางที่เราเดินผ่าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่จะนำเรากลับมายังทางเดิม …
เราเดินตามเสียงนกไปเรื่อยๆ … ข้ามพงหนาม เรียวป่าที่ถึงแม้ไม่ทึบมาก แต่ก็ดูวกวนไม่น้อย … ฉันมั่นใจในประสบการณ์ของเพื่อนร่วมทาง จึงไม่วิตกกังวลอะไร
เราเดินวนไป วนมา มุ่งหน้าไปตามเสียงของนกแต้วแล้วแดงมลายูที่ดูเหมือนจะอยู่ใกล้เรานิดเดียว และส่งเสียงร้องตลอดเวลา
สักพักเพื่อนร่วมทางของฉันก็ชี้ให้ดูนกที่เราเฝ้าตามหาที่กำลังเกาะกิ่งไม้สูง พร้อมกับเสียงที่ร้องอยู่ตลอดเวลา … แม้มุมจะไม่ดีในการได้รูปสวยๆ แต่ก็ยังดีที่ได้เห็นค่ะ … ฉันถ่ายรูปนกมาได้ 2-3 ภาพ ก่อนที่นกตัวนั้นจะบินหายไปลึกยิ่งขึ้น
I think we better go back. The bird is going deeper.
เมื่อเราตกลงว่าจะกลับออกมา เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ฉันตระหนักว่าไม่มีใครในบรรดาเราทั้ง 3 คนที่จำได้ว่าเราจะต้องกลับออกไปทางไหน !!
เราเริ่มเดินไปตามทางที่คิดว่าถูกต้อง … แต่ความยากลำบากก็คือ เมื่อเราหันหลังกลับ ป่าทั้งป่าดูเหมือนกันไปหมด ทั้งต้นไม้ใหญ่ที่เมื่อแรกเริ่มเราคิดว่าจะเป็นหมุดหมายในการจดจำ หรือแม้กระทั่งรอยกิ่งไม้ที่หักมาตามทางก็ดูเหมือนว่าจะอันตรธานหายไปเหมือนโกหก
เพื่อนชาวมาเลเซียหันมาบอกฉันว่า Please don’t worry. I promise to take you home.
อากาศที่ร้อนอบอ้าวในวันที่เหนื่อยล้าและพักผ่อนน้อยในคืนที่ผ่านมา เวลาที่ก้าวเดินแต่ละก้าวผ่านพงหนามและกลุ่มทากจึงสาหัสจนฉันต้องทำเป็นลืมๆไปเสียบ้าง ก่อนที่จะหยุดหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปในปอด แล้วเดินต่อไปเรื่อยๆ
I’ll proceed on that way & find out if we can reach the main trial. Please wait here.
เพื่อนชาวมาเลย์ร่างเล็กบอกกับฉันและเพื่อนมาเลย์อีกคน ก่อนที่จะเดินหายไปในทิศทางที่เขาคิดว่าถูกต้อง
เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า … สักพักเราก็ตะโกนเรียกเพื่อนที่หายไป
Hey, are you there? Where are you now?
ส่วนฉันก็ช่วยตะโกน … Hello .. Hello … แต่ไม่มีเสียงตอบรับค่ะ
"He probably got lost." เพื่อนชาวมาเลย์ที่อยู่กับฉันพูดขึ้น แล้วเราก็ตกลงกันว่าจะเดินหาทางออกด้วยกัน …
ฉันเองเริ่มคิดว่า หากติดอยู่ในป่าช่วงกลางคืนจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ปลอดภัยที่สุดจากสัตว์ป่า และความหนาวเย็นจากฝนที่ทำท่าว่าจะตกลงมาในไม่ช้า เท่าที่สถานการณ์ขณะนี้จะอำนวย
ยิ่งบ่ายคล้อย กลุ่มเมฒเบื้องบนก็ดูเหมือนจะมีสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ ส่งสัญญาณว่าในไม่ช้าฝนอาจจะตกลงมา ยอดไม้ที่มองเห็น รวมถึงบรรยากาศรอบตัวเริ่มสลัวหม่นลงอย่างไม่น่าเชื่อ
แม้จะเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นชั่วนาตาปี แต่ในสถาณการณ์ที่เราเผชิญอยู่ ก็ยิ่งเพิ่มความกังวลว่าเรามีโอกาสที่จะติดอยู่ในป่าท่ามกลางสายฝน จนอาจเกิดอันตรายต่อสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าของเราได้ … เราไม่มีอาหาร ไม่มีอุปกรณ์กันฝน และอุปกรณ์นำทางใดๆ
อากาศช่วงบ่ายคล้อยนั้นอบอ้าวมากมาย พร้อมกับมียุงและแมลงจำนวนมาก …
ท้อได้ แต่หมดหวังไม่ได้ .. ฉันบอกตัวเอง แสงที่น้อยลงทุกขณะทำให้เราต้องเร่งเดินเร็วขึ้นเพื่อค้นหาเทรลที่ถูกต้อง พละกำลังที่เกือบจะหมดไปกับการเดินมาแล้วกว่า 5-6 ชั่วโมงต้องถูกรีดเร้นออกมาจากกล้ามเนื้อทุกส่วน มีเพียงใจที่พาร่างเดินฝ่าพงหนาม และไม้ใบที่ขึ้นหนาทึบจนมองดูแล้วเหมือนๆกันไปหมด
Please stay put, I will go & check at the other side. I’ll be back.
ฉันบอกเพื่อนชาวมาเลเซียร่วมชะตากรรมเดียวกันให้ยืนรอ ก่อนที่จะก้าวเดินอย่างระมัดระวังไปตามทางที่ดูเหมือนจะเคยถูกใช้สัญจรมาก่อน … ข้ามต้นไม้ล้มขวางทางก็หลายครั้ง …
ทางเดินที่ชัดบ้าง เลือนรางบ้าง เป็นหลุมขนาดใหญ่เต็มไปด้วยดินเลน ซึ่งฉันคาดว่าจะเป็นโป่งที่หมูป่ามาขุดกินแร่ธาตุ …
หลายครั้งที่ฉันลื่นไถลไปกับโคลน แต่เท้าทั้งคู่ก็ยังไม่หยุด ใจยังเปี่ยมความหวังที่จะพาร่างออกไปจากราวป่าให้ได้ก่อนที่ความมืดจะย่างกรายเข้ามาทักทาย
Doctor, are you there? We’re not in the right track!!
Have to try another route?
ฉันตะโกนบอก ก่อนที่จะเดินกลับมาสมทบ ณ ที่เดิม … แล้วเราก็พยายามเปลี่ยนทิศทางในการค้นหากันอีกซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
Did you hear someone shouting?
เพื่อนชาวมาเลย์หยุดฟังเสียงอะไรบางอย่าง ก่อนที่จะหันมาถามฉัน … แล้วเขาจะตะโกนถามเสียงที่ได้ยิน และพบว่าเป็นชาวมาเลย์อีกคนที่หายไปนั่นเอง
เราทั้ง 3 คนเดินฝ่าออกมายังเทรลอีกหลายแห่ง จนเวลาล่วงเลยมาหลัง 4 โมงเย็น …
ภาพแผ่นพลาสติกสีเหลืองที่ตอกติดอยู่กับลำต้นของต้นไม้ข้างทางที่ปรากฏอยู่ในสายตา แทบจะกลายเป็นรางวัลวิเศษของชีวิตที่ฉันต้องการ ก่อนที่ฟ้าที่ยังคงเรืองรองด้วยแสงอาทิตย์จะลับหายไปกับตา และความมืด ความเงียบ และกรีดหริ่งแห่งพงไพรจะย่างกรายเข้ามาครอบครองผืนป่า …
ความหมายที่แปลกลับเข้ามาในสมองของฉันในขณะนั้นก็คือ ฉันพบทางที่จะกลับบ้านแล้ว และนั่นก็คงจะเป็นสิ่งที่ปลอบประโลมใจให้เราคลายความกังวล ความเหน็ดเหนื่อยไปบ้าง เหมือนดังที่เพื่อนชาวมาเลเซียพร่ำบอกกับฉันซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าว่า I promise to take you home !!
เราต้องตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเดินไปทางไหน … ครั้งแรกเราเลือกที่จะเดินไปทางซ้ายของเทรล เวลาผ่านไปราว 15 นาที เราพบว่ายิ่งเดิน ป่าก็ยิ่งดูรกทึบมากขึ้น
… หันหลังกลับคือสิ่งที่เราเลือกทำ … เดินๆๆๆๆ จนมองเห็นถนนอยู่เบื้องหน้า
ฉันกล่าวขอบคุณเพื่อนชาวมาเลย์ทั้งสองคนที่พาฉันออกจากป่ามาได้ … พวกเขาก็กล่าวเสียใจที่พาหลงทาง และบอกว่าดีใจที่เราไม่เกิดอาการวิตกจริต และทุกคนยังช่วยกันค้นหาทางออกโดยไม่บ่น ไม่โทษกัน และสามารถเดินอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยตลอด 6-7 ชั่วโมงที่ติดอยู่ในป่า
บนถนนที่ทอดยาวกลับที่พัก … ฉันตระหนักว่าได้เรียนรู้สิ่งต่างๆในธรรมชาติมากขึ้น … เสี้ยวหนึ่งของวันเวลาที่หลงอยู่กลางป่า ฉันได้มาสัมผัสภาพชีวิตแห่งทามัน นาการา แม้จะเป็นช่วงเวลาระทึกขวัญ แต่ยังเป็นโมงยามแห่งสัจจะธรรมของชีวิตที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเป็นไปตามกระแสของวันเวลา
ตราบใดที่มนุษย์ไม่รบกวนธรรมชาติจนเกินไป และเคารพผืนป่าและธรรมชาติ … ภาพชีวิตที่เราเห็นในวันนี้ก็คงจะเป็นภาพชีวิตที่ทุกคนสามารถพบเห็นได้ และมีโอกาสชื่นชมได้อีกนาน
ทามัน นาการาในวันนี้จึงยังคงเป็นโลกมหัศจรรย์ที่ฉันอยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสด้วยตนเอง และร่วมตระหนักถึงคุณค่าของผืนป่าเขตร้อนอันสมบูรณ์ที่เราทุกคนควรช่วยกันรักษาไว้ให้ยืนยาว … อย่าหวังเพียงได้พิชิต ได้ดู ได้ถ่ายภาพสัตว์ที่หายากเพียงอย่างเดียว
ฉันคิดว่า บางครั้งการเป็น "ผู้พิชิต" อาจจะไม่ใช่สิ่งที่มีความหมายสูงสุดของการเดินทาง หากแต่เรื่องราวมากมายบนเส้นทางที่เราเดินผ่านนั่นต่างหากที่ให้ความหมายที่แท้จริงกับการก้าวเดินของเรา ... แม้ในช่วง "หลงป่า"
Garnet Pitta
I was in Taman Negara NP, Sungai Relau, Malaysia in April 2012, hoping to get some photos of Garnet Pittas. There were few places that had high possibility to find the targeted birds, therefore, we spited into few groups to look for them.
I was at a site approximately 200 meters from the gate, spent the whole morning without seeing any of them, while other team found one around noon time. I tried again in the afternoon, but without success.
The next morning, friends went up the hill to photograph eagles. I decided to stay behind, tried again to look for Garnet Pitta with a Malaysian friend.
As we started, the sound of the bird was heard. I was hesitated quite a bit as we had to go off trail. However, I traveled a long way for this special bird and now it was here, so we moved forward.
We followed the bird’s sound to the direction where we thought the bird was and not forgot to make some marks along the paths, so that we could get out of the forest on our way back.
We spent hours, and were so happy to see the bird finally.
But as soon as we turn our backs, the trees and everything around us were the same everywhere. We got lost!! (I guessed, we were too close to the bird’s nest, and the bird dragged us around in circle).
We spent at least 5-6 hours walking in the circle and still could not locate the way that would lead us out of the forest. I even planned how to spend the night in that forest without a rain cloth, foods, source of light etc.
Fortunately, we managed to get out of the forest just before dark! That was one of the unforgettable experiences in my whole life.
The above photo was taken in March 2013. I especially like this pose.
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา