22 ก.ย. 2021 เวลา 13:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิวัฒนาการของเสียงเพลงพกพา จาก Sony Walkman จนถึง iPod และ Music Streaming
ภาพคนสวมหูฟังขณะนั่งรถไฟฟ้า ออกกำลังกาย หรือเรียนคลาสการเต้น นับเป็นภาพที่คุ้นตาของผู้คนในปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปในยุคก่อนปี 1980 เทคโนโลยีที่นำเสียงเพลงให้ติดตัวไปกับทุกคนได้ถือเป็นสิ่งที่หลายคนคงจินตนาการไม่ถึง จำไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ดี ด้วยคำร้องขอของคุณมาซารุ อิบุกะ (Masaru Ibuka) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Sony ก็ทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นจริงขึ้นมา...
จาก Sony Walkman จนถึง iPod
📌 Sony Walkman เครื่องเล่นปฏิวัติการฟังเพลง
ในช่วงปลายคริสตวรรษที่ 1960 นั้น เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ท (Cassette Tape) เริ่มเข้ามาตีตลาดในฐานะทางเลือกที่ใช้ในการฟังเพลง อย่างไรก็ดี ในตอนนั้นมันก็ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะฟังเพลงผ่านเครื่องแผ่นเสียงกันอยู่ จะมีก็แต่เครื่องเล่นเพลงที่อยู่ในรถยนต์เท่านั้นที่เลือกใช้เครื่องเล่นเทปคาซเซต แต่ขนาดที่ใหญ่ของเครื่องเล่นก็ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้จินตนาการได้ยากว่าจะพกพามันไปไหนต่อไหนได้อย่างไร
แต่แล้วจากความต้องการของคุณมาซารุ อิบุกะที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Sony ผู้ที่ต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจต่างที่อยู่เสมอ และที่สำคัญเขาก็ยังเป็นคนที่มีดนตรีในหัวใจ ต้องแบกเจ้าเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทขนาดใหญ่รุ่น TC-D5 ติดตัวไปเสมอ
ตอนนั้นคุณมาซารุจึงได้บอกกับโนริโอะ โอกะ (Norio Ohga) รองประธานบริหารในตอนนั้น ให้ไปออกแบบเครื่องเล่นเสียงที่สามารถใช้ร่วมกับหูฟังได้ หลังจากผ่านการลองผิดลองถูกโนริโอะกลับมาพร้อมกับสิ่งที่ดียิ่งกว่าที่ถูกร้องขอ เมื่อเขาได้เสนอเครื่องเล่นเพลงที่สามารถฟังได้แม้คุณจะกำลังเดินอยู่ และในวันที่ 1 กรกฎาคม 1979 Sony Walkman รุ่นแรกในชื่อรุ่นว่า TPS-L2 ก็ได้เปิดตัวให้ผู้คนสามารถยลโฉมมันได้
Sony Walkman รุ่น TPS-L2 เปิดตัววันที่ 1 กรกฎาคม 1979
เครื่องเล่น Walkman ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในตอนแรก Sony คาดการณ์ว่ายอดขายของเครื่องจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 เครื่องต่อเดือนเท่านั้น แต่ในความจริงพวกเขาขาย Walkman รุ่นนี้ได้ถึง 50,000 เครื่อง โดยใช้เวลาเพียงสองเดือนเท่านั้น
ความสำเร็จของ Walkman นำพาให้แบรนด์อื่นๆ ต่างพากันเข้ามาสู่ตลาดของเทปคาสเซ็ททั้ง Aiwa Panasonic และ Toshiba จนในที่สุดยอดขายของเครื่องเทปคาสเซ็ทก็สามารถแซงเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ในปี 1983 และในปี 1986 นั่นเองความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมนี้ก็ทำให้ Oxford Dictionary ต้องบัญญัติศัพท์คำว่า “Walkman” เข้าไปอยู่ในดิกชันนารี่ของตัวเองเลยทีเดียว
1
Sony พบความเปลี่ยนแปลงมากมาย และได้พัฒนาเครื่องเล่น Walkman รุ่นใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบทั้งที่มีขนาดเล็กลง มีน้ำหนักเบาลง ฟังวิทยุได้ หรือเปลี่ยนมาเป็นเครื่องเล่นแผ่น CD และก็ประสบความสำเร็จตลอดมา สะท้อนผ่านยอดกว่า 200 ล้านเครื่องในช่วงปลายคริสตวรรษที่ 20
1
แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ฉุด Walkman ลงมาจากบัลลังก์ก็มาถึง นั่นก็คือการเข้ามาของเทคโนโลยีเครื่องเล่นเพลง MP3 และการเกิดขึ้นของคู่แข่งคนสำคัญที่จะกลายมาเป็นผู้นำในตลาดเครื่องเล่นเพลงในอนาคตอย่าง “iPod”
1
📌 iPod เครื่องเล่นเพลงที่ไม่ใช่แค่เครื่องเล่นเพลง
ในปี 1998 เครื่องเล่น MP3 รุ่นแรกในชื่อว่า MPMan ได้ถือกำเนิดขึ้นมา อย่างไรก็ดี ตอนแรกๆ องค์ประกอบก็ยังไม่ลงตัวดี ยังไม่เป็นที่นิยม ซึ่งเครื่องเล่น MP3 ที่ประสบความสำเร็จที่สุด ได้เกิดขึ้นสามปีหลังจากนั้น เมื่อในเดือนตุลาคมปี 2001 โดย Apple ได้เปิดตัวเครื่องเล่น iPod ที่เป็น ”เครื่องเล่นเพลงที่ไม่ใช่เครื่องเล่นเพลงอย่างเดียว”
การเปิดตัวเครื่อง iPod วันที่ 23 ตุลาคม 2001
ความสำเร็จของ iPod ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ถึงแม้จะเปิดตัวช้ากว่าคู่แข่งคนแรกถึง 3 ปี และต้องต่อสู้กับคู่แข่งเครื่องเล่น MP3 ประมาณ 50 รุ่นที่วางขายอยู่ในสหรัฐอยู่ก่อนแล้ว แต่การรอเวลาที่เหมาะสมให้อินเทอร์เน็ตแพร่กระจายออกไปครอบคลุมผู้คนมากพอ และการพัฒนาส่วนซอฟแวร์ที่เพิ่มการเข้าถึงเพลงดิจิทัลควบคู่ไปกับการพัฒนาเครื่องเพลงที่ดีพร้อมๆ กัน อย่างลงตัว จนคนที่ได้จับต้องห้ามใจไม่ได้ นับเป็นกุญแจที่สร้างให้ iPod ประสบความสำเร็จอย่างสูง
1
ในปี 2003 Apple ได้เปิดตัว iTunes Music Store ที่เป็นแพลตฟอร์มขายเพลงออนไลน์สำหรับผู้ใช้งาน เพียงสองปีถัดมา iTunes ก็ได้มีเพลงให้เลือกสรรช้อปปิ้งกว่า 1.5 ล้านเพลงแล้ว ซึ่ง iTunes นี่เองที่เป็นส่วนสำคัญที่เครื่องเล่น MP3 เจ้าอื่นไม่สามารถตอบโจทย์ได้เหมือนที่ iPod ทำได้
1
ยอดขายของ iPod เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 2004 และ 2005 ที่ยอดขายได้กระโดดขึ้นกว่า 616% ในปีเดียว และในปี 2008 iPod ก็ได้ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดของเครื่องเล่น MP3 มากกว่า 40% เลย
แต่ความยิ่งใหญ่ของ iPod ก็มาสู่ช่วงขาลงยอดขาย iPod ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจุดสูงสุดที่ 54.8 ล้านเครื่องในปี 2008 ลงมาเหลือแค่ 14.3 ล้านเครื่องในปี 2014 ที่เป็นปีสุดท้ายที่ทาง Apple ได้รายงานยอดขายของ iPod แยกออกมาต่างหาก แสดงถึงความสำคัญของ iPod ต่อรายได้ของ Apple ที่ลดลงอย่างน่าใจหาย
1
ยอดขาย iPod ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2014
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ iPod ตกต่ำลงก็ไม่ใช่สิ่งอื่นไกลนอกจาก iPhone ที่เปิดตัวในปี 2007 กรุยทางให้สมาร์ทโฟนอีกหลายเจ้าเข้ามาแย่งพื้นที่ของเครื่องเล่น MP3 ไปอย่างมาก จนนำพาให้ยุคของเสียงเพลงติดตัวก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง
1
📌 ยุคของ Music Streaming
หลังจากยุคของการซื้อขาดเพลงออนไลน์ โลกในปัจจุบันก้าวไปอีกขั้นหนึ่งกับรูปแบบธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของก็ได้ แต่ขอเช่าใช้เป็นรายเดือนไป หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “Sharing Economy”
เจ้า Sharing Economy เมื่อประกอบร่างรวมกับธุรกิจเพลงติดตัวแล้วก็ได้สร้างออกมาเป็น Music Streaming ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน โดยผู้ให้บริการ Music Streaming ที่มีผู้สมัครใช้งานมากที่สุด (ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2020) ก็คือ Spotify ที่มีส่วนแบ่งกว่า 30%
การแข่งขันในธุรกิจนี้ก็ยังคงดุเดือด เมื่อผู้ที่ตามอยู่ในขนาดนี้ก็ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้นำในตลาดเพลงพกพาอย่าง Apple Music หรือแพลตฟอร์มของ E-commerce อันดับหนึ่งในอเมริกาอย่าง Amazon และก็ยังมี YouTube ที่บุกเข้ามาในตลาดนี้เช่นเดียวกัน
ระยะเวลา 40 ปี เป็นระยะเวลาที่น้อยยิ่งกว่าชีวิตของคนทั่วไปเสียอีก แต่ชีวิตของเทคโนโลยีในวงการเพลงที่สามารถพกพาไปทุกที่กลับเกิดและดับสูญไปอย่างรวดเร็วหลายครั้งแล้ว ด้วยกระบวนการ Creative Destruction ที่ทำให้เห็นว่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การรักษาความเป็นผู้นำตลอดเวลาในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะการหยุดพักเพียงไม่นานสามารถทำให้นวัตกรรมที่เคยโด่งดัง ที่เคยเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน สามารถพลิกผันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตายได้ ในเวลาสั้นๆ
#ถ้าเราไม่เปลี่ยนเราก็จะหายไป #ถ้าเราเปลี่ยนช้าเราก็จะหายไปเช่นกัน
#Sonywalkman #iPod #ย้อนวันวาน #Retro_Technology
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา