23 ก.ย. 2021 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
ทองคำผิดกฎหมาย หนึ่งตัวการทำลายป่า-คุกคามชนพื้นเมืองในแอมะซอน
นอกจากความต้องการพื้นที่ทำการเกษตร สำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์แล้ว อีกหนึ่งสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้ผืนป่าแอมะซอนในประเทศบราซิลถูกทำลายนั้นมาจากการทำเหมืองทองคำ
โดยเฉพาะเหมืองที่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งคาดว่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ตามข้อมูลงานวิจัยของ Federal University of Minas Gerais (UFMG) พบว่าในระหว่างปี 2019-2020 บราซิลส่งออกทองคำอยู่ที่ 174 เมตริกตัน
ในจำนวนดังกล่าวมีเพียง 34% เท่านั้นที่สามารถระบุแหล่งที่มา และมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่อีก 38% ไม่ทราบที่มา
และอีก 28% พบความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินงาน
ในส่วนทองคำที่ผิดกฎหมายคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 229 ล้านดอลลาร์ และเชื่อมโยงกับการเสียพื้นที่ป่าจำนวน 21,000 เฮกตาร์
สำหรับทองคำจากบราซิลที่ถูกส่งออกนอกประเทศ จะถูกส่งไปยังประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งคิดเป็น 72% ของการส่งออกทองคำในช่วงเวลาดังกล่าว
แม้พูดไม่ได้เต็มปากว่า ทองคำที่ผิดกฎหมายถูกส่งไปยังประเทศดังกล่าวทั้งหมด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในจำนวนนั้นย่อมมีของผิดกฎหมายปะปนอยู่ ซึ่งอธิบายได้ว่าผู้รับซื้อมีส่วนร่วมในการทำลายพื้นที่ป่าไม่มากก็น้อย
นอกจากนี้ การทำเหมืองคำแบบผิดกฎหมายยังเชื่อมโยงสู่ประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างการคุกคามชนพื้นเมืองดั้งเดิมของแอมะซอน
นักมานุษยวิทยาจาก Instituto Socioambiental (ISA) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ปกป้องสิทธิชนพื้นเมือง อธิบายว่า กิจกรรมการทำเหมืองในพื้นที่คุ้มครอง พื้นที่สงวน และพื้นที่อนุรักษ์ของชนพื้นเมืองเติบโตขึ้นอย่างทวีคูณ
จากข้อมูลที่ได้มาล่าสุด ระบุว่า การตัดไม้ทำลายป่าในที่ดินของชนพื้นเมืองดั้งเดิมเพิ่มขึ้น 236% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
พื้นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองบางแห่งยังอยู่ห่างไกล มีสถานะเปราะบาง เพราะขาดการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาล
นั่นทำให้กลุ่มทำเหมืองผิดกฎหมายยิ่งเหิมเกริมเพราะมั่นใจว่าจะถูกจับกุม
มีการนำออกกำลังติดอาวุธเข้าไปทำงาน มีการขนย้ายเครื่องมือกันโดยเฮลิคอปเตอร์อย่างเอิกเกริก
การขุดทองอย่างผิดกฎหมายทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมประมาณ 429 ล้านดอลลาร์ ในเขตสงวนชนพื้นเมืองยาโนมามิเพียงแห่งเดียวเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นักวิจัยของ UFMG ร่วมมือกับ Federal Public Ministry (MPF) เพื่อทำแผนที่การผลิตทองคำผ่านภาพถ่ายดาวเทียม อ้างอิงรายการธุรกรรมทองคำมากกว่า 17,000 รายการ ที่จดทะเบียน National Mining Agency (ANM) และธุรกรรมการซื้อและขายทองคำจากธนาคารกลางบราซิล
ข้อมูลนั้นได้นำไปสู่การฟ้องร้องคดี เพื่อจัดการกับกลุ่มทำเหมืองผิดกฎหมายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ปัจจุบันเริ่มดำเนินการไปแล้ว 2 คดี
คดีแรก เป็นการจัดการสถาบันทางการเงิน ที่อยู่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังขายทองคำผิดกฎหมายมากกว่า 4.3 เมตริกตันระหว่างปี 2019-2020 ทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 3 ราย
โดยอัยการของรัฐบาลกลางได้ระงับกิจกรรมการซื้อขาย และเรียกร้องค่าปรับสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับความเสียหายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับคดีที่สอง เป็นคดีระงับใบอนุญาตทั้งหมดไปยังเหมืองขายและส่งออกทองคำในบางภูมิภาค
อัยการกล่าวหาว่า การบุกรุกและความรุนแรงที่ทวีมากยิ่งขึ้น และได้รับการสนับสนุนโดยแก๊งค์คนงานเหมืองผิดกฎหมายกำลัง “ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง” ต่อกลุ่มชนพื้นเมือง
ซึ่ง ณ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตัดสิน
การตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองทองคำ และสินแร่อื่นๆ ตลอดจนการเกิดไฟป่า ทำให้ป่าแอมะซอนแทบจะเรียกได้ว่ามาถึงจุดวิกฤตแล้วในปัจจุบัน
ตามรายงานก่อนหน้าระบุว่า แอมะซอนในพื้นที่ประเทศบราซิลสูญเสียกลายเป็นพื้นที่ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่กักเก็บได้ [อ่านบทความ https://bit.ly/3e6a9IG]
ขณะเดียวกัน การสูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลยังทำให้พืชและสัตว์ในป่าแห่งนี้กว่าหมื่นสปีชีส์มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง [อ่านบทความ https://bit.ly/3yY8E7c]
#IsLIFE #Amazon #IllegalGold
อ้างอิง
Photo : Amazônia Real
โฆษณา