23 ก.ย. 2021 เวลา 04:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ 7 เดือนแรก โตแรง 13.7% แต่อานิสงส์หลัก ไม่ได้มาจากบริการดิลิเวอรี - Krungthai COMPASS
1
-ระยะหลังตลาดมอเตอร์ไซค์เริ่มอิ่มตัว
ย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีก่อนเกิดโควิด ตลาดมอเตอร์ไซค์มียอดขายสูงสุด 1.8 ล้านคันในปี 2560 ก่อนจะชะลอต่อเนื่องจนถึงปี 2563 เป็น 1.5 ล้านคัน
ผู้ประกอบการหลายราย ยอมรับว่าตลาดเริ่มอิ่มตัวจากยอดจดทะเบียนสะสมที่อยู่สูงราว 21 ล้านคัน ส่งผลให้สัดส่วนการครอบครองมอเตอร์ไซค์ต่อประชากรอยู่ระดับสูง
1
การที่ตลาดเริ่มอิ่มตัว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับทิศทางการตลาดโดยให้น้ำหนักกับตลาดมอเตอร์ไซค์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า อย่างมอเตอร์ไซค์ที่มีขนาด 250 ซีซีขึ้นไป
ทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ของไทยเติบโตขึ้นสวนทางกับตลาดมอเตอร์ไซค์หลัก ที่เริ่มชะลอลง
1
ยอดขายมอเตอร์ไซค์ที่มีขนาด 250 ซีซีขึ้นไป
ปี 2560 ขายได้ 21,941 คัน
ปี 2561 ขายได้ 63,086 คัน
ปี 2562 ขายได้ 69,692 คัน
ปี 2563 ขายได้ 70,469 คัน
-ตลาดมอเตอร์ไซค์ 7 เดือนแรกปีนี้ กลับมาโตได้ดีในอัตราที่สูงกว่าที่หดตัวในปีก่อน
ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัว 13.7% หลังจากหดตัว 11.8% ในปีก่อน
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทั้งประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 9.7% หลังจากหดตัว 21.4% ในปีก่อน
การขยายตัวของยอดขายมอเตอร์ไซค์ จึงไม่ได้มีสาเหตุจากปัจจัยจากฐานต่ำในปีก่อนเพียงอย่างเดียว แต่สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดมอเตอร์ไซค์ เมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์
-การเติบโตของตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ มาจากภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่
โดยการวิเคราะห์รายภาคและรายจังหวัด ดูจากยอดจดทะเบียนรถใหม่ป้ายแดง ในช่วง 7 เดือนแรกของปี
ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ใหม่ในส่วนภูมิภาคเติบโตถึง 16.9% ในขณะที่เป็นการเติบโตในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเพียงแค่ 5.8%
1
การเติบโตของยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์เขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ต่ำกว่าในภูมิภาค ทำให้สัดส่วนยอดจดทะเบียนในกรุงเทพและปริมณฑลเมื่อเทียบกับทั้งประเทศ ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน
(จาก 28.3% ในปี 2563 เป็น 27.1% ในเดือน ก.ค. ปี 2564)
1
-ภาคอีสานเป็นภาคเดียวที่ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์กลับมาเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิด
แม้ตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้จะโตดี แต่ภาคอีสานเป็นเพียงภาคเดียวที่ฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด
การวิเคราะห์ว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์ในแต่ละภาคกลับมาในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดแล้วหรือไม่ คำนวณจากสัดส่วนของยอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในปี 2564 กับยอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือน 5 ปีก่อนเกิดโควิด (ปี 2558 - 2562) ซึ่งจากวิเคราะห์ข้อมูลรายภาค พบว่า มีเพียงภาคอีสานเท่านั้นที่ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์เฉลี่ยรายเดือนกลับมาเท่ากับระดับช่วงก่อนเกิดโควิด
1
ด้านภาคเหนือก็มีระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด ที่ประมาณ 97%
ขณะที่ภาคอื่น ๆ ยังมียอดจดทะเบียนในระดับที่ต่ำกว่าพอสมควร โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ที่คาดกันว่าจะได้รับผลบวกจากการบริการขนส่งสินค้าในยุค New Normal แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
-แล้วเพราะอะไร ที่ทำให้ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ในภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นมาได้จนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด
1
: รายได้เกษตรกรในภาพรวมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีผลต่อตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ ตลาดมอเตอร์ไซค์พึ่งพาตลาดต่างจังหวัดมากกว่า 70% ทำให้ตลาดขึ้นอยู่กับรายได้เกษตรกรค่อนข้างมาก และด้วยรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีก่อน ก็มีผลทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ขยายตัวไปด้วย
1
รายได้เกษตรกรคำนวณจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรกร และดัชนีผลผลิตเกษตรในแต่ละช่วงเวลา
ในปี 2564 ราคาสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าวหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ราคาอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ปรับตัวสูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม ในด้านผลผลิต พบว่า ยางพาราและมันสำปะหลังมีผลผลิตที่ขยายตัวดีขึ้น แต่อ้อยกลับมีปริมาณผลผลิตที่ลดลง ทำให้เกษตรกรที่เพาะปลูกอ้อยเป็นหลักอาจไม่ได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากนัก
: จังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังและยางพาราเป็นจำนวนมาก กระจุกตัวในภาคอีสานมากที่สุด
เมื่อวิเคราะห์ภาพรายจังหวัด พบว่า หลายจังหวัดที่มียอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในปีนี้ สูงกว่ายอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในช่วง 5 ปีก่อนโควิด และอีกหลายจังหวัดที่เกือบจะเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด เป็นจังหวัดที่มีการปลูกพืชอย่างมันสำปะหลัง ยางพารา เป็นจำนวนมาก
1
ซึ่งในปีนี้มีราคาและผลผลิตที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับดัชนีรายได้เกษตรกรในปีนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากมันสำปะหลังและยางพาราเป็นหลัก โดยจังหวัดเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด และเป็นสาเหตุให้ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ในภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นมาได้จนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด
: การเติบโตของตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ ยังมาจากรายได้เกษตรกรเป็นหลัก และไม่ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรม On Demand Delivery มากนัก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ยกเว้นนครปฐม) รวมทั้งจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาคที่คาดว่ากิจกรรม On Demand Delivery มากกว่าจังหวัดอื่นในภาค กลับไม่ได้มียอดจดทะเบียนฟื้นตัวกลับมาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด
ซึ่งก็อาจมองได้ว่า การเติบโตของตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ เป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก
-แล้วในอนาคต On Demand Delivery จะช่วยขับเคลื่อนตลาดมอเตอร์ไซค์ได้หรือไม่ ?
ด้วยวิถี New Normal ตลาด On Demand Delivery ยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง Euro Monitor คาดการณ์ว่า ตลาด Food Delivery ที่มีสัดส่วนสูงในตลาด On Demand Delivery ในไทยจะเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2565-2567 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ประมาณ 10.7%
1
ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย ทำให้คาดว่าถึงแม้ภาครัฐจะทยอยผ่อนปรนมาตรการการทานอาหารในร้าน แต่ Food Delivery ก็จะยังคงเติบโตได้
-ตลาด On Demand Delivery ที่เติบโต ส่งผลต่อความต้องการไรเดอร์ และตลาดมอเตอร์ไซค์จะได้รับอานิสงส์
จากข้อมูลยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์รายจังหวัด พบว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์ของไทยยังมีสัดส่วนอยู่ในภูมิภาคมากกว่า 70% และขับเคลื่อนจากรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก แต่ในอนาคตตลาด On Demand Delivery ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง จะขยายขอบเขตไปในภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ความต้องการไรเดอร์มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนั้น คุณสมบัติเบื้องต้นที่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ต้องการ คือ ผู้ที่มาสมัครเป็นไรเดอร์ต้องมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อตลาดมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรายงานเรื่อง “ไรเดอร์- ฮีโร่-โซ่ตรวนสภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19“ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระบุว่ารายได้เฉลี่ยของไรเดอร์ทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน หักต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ค่าอินเตอร์เน็ต เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน จะเหลือเงินประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้หลังหักต้นทุนนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่อนชำระค่างวดของมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสมกับไรเดอร์ (ไม่เกิน 150 ซีซี และเป็นเกียร์อัตโนมัติ) ซึ่งอยู่ในช่วง 2,035 - 4,207 บาทต่อเดือน 1 หรือคิดเป็น 13.6 - 28.1% ของรายได้หลังหักต้นทุนโดยเฉลี่ย
1
นอกจากนั้น แพลตฟอร์มหลายแห่ง เช่น Robinhood, Grab ยังมีการสนับสนุนสินเชื่อพิเศษในการซื้อจักรยานยนต์ที่อาจทำให้ภาระต่อเดือนในการซื้อมอเตอร์ไซค์ลดลงได้อีกด้วย
1
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกต่อตลาดมอเตอร์ไซค์ข้างต้น ก็อาจจะถูกท้าทายด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ล่าสุดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90.5% สูงสุดในรอบ 18 ปี
นอกจากนั้น ตลาดภูมิภาคที่เป็นตลาดหลักของมอเตอร์ไซค์ก็อาจถูกกดดันมากขึ้นไปอีก จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง “X Ray หนี้ครัวเรือนภูมิภาค” ที่ชี้ให้เห็นว่า ภาระหนี้ครัวเรือนในประเทศที่สูงจากส่วนภูมิภาคเป็นหลัก อีกทั้งสัดส่วนครัวเรือนที่มีความเปราะบางสูงก็กระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเช่นเดียวกัน
โฆษณา