24 ก.ย. 2021 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
สรุปเส้นทาง Unilever ผู้ผลิตสินค้าครอบจักรวาล
1
หากเราลองสำรวจของใช้ภายในบ้าน เช่น สบู่ ยาสระผม ผงซักฟอก และน้ำยาล้างจาน
เราก็คงพบเจอชื่อแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน
10
แต่หากลองสังเกตอย่างละเอียดแล้ว เราก็จะพบว่าหลายแบรนด์สินค้าที่เราคุ้นเคย
ถูกผลิตขึ้นจากบริษัทเดียวกัน ที่ชื่อว่า “Unilever” ยกตัวอย่างเช่น
7
- น้ำยาล้างจาน แบรนด์ ซันไลต์
- สบู่ แบรนด์ ลักส์
- ผงซักฟอก แบรนด์ โอโม
ปัจจุบัน Unilever นับเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 92 ปี ทำธุรกิจอยู่ใน 190 ประเทศทั่วโลก และมีมูลค่าบริษัท 4.7 ล้านล้านบาท
3
แล้วเรื่องราวของ Unilever เป็นอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Unilever นั้น อยู่ในช่วงประมาณปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงเวลานั้น จำนวนประชากรในทวีปยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการเนยซึ่งเป็นอาหารที่บริโภคกันอย่างแพร่หลายในยุโรปก็ได้ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ
แม้จะมีการนำเข้าจากประเทศรอบข้างอย่างไอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
เรื่องดังกล่าวจึงไปจุดประกายให้ 2 ตระกูลพ่อค้าเนยในเนเธอร์แลนด์คือ Jurgens และ Van den Bergh ที่เป็นผู้ส่งออกเนยไปยังประเทศอังกฤษอยู่แล้ว ได้เริ่มหันมาผลิตเนยเทียม (Margarine) ที่ทำจากไขมันสัตว์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าและเก็บรักษาได้นานกว่าเนยแบบปกติทั่วไปที่ทำจากนมวัว
4
จริง ๆ แล้วเนยเทียมนั้นมีรสชาติที่ไม่ดีนัก แต่จากการแข่งขันและพัฒนาของทั้ง 2 ตระกูลทำให้ในเวลาต่อมา เนยเทียมสามารถนำมาแทนที่เนยดั้งเดิมได้และตลาดเนยเทียมก็ได้เริ่มเติบโตขึ้น
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตลาดเนยดั้งเดิม ก็ได้เข้าสู่ภาวะปกติ มีกำลังผลิตเพียงพอต่อความต้องการและกลับมาหาซื้อได้ง่าย นั่นจึงทำให้ความต้องการเนยเทียมเริ่มปรับตัวลดลง
2
ทั้ง 2 ตระกูลที่เป็นคู่แข่งกัน จึงได้ตัดสินใจรวมกิจการ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในปี 1908
2
ต่อมาในปี 1927 จึงได้ขยายกิจการและเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Margarine Unie”
ซึ่งจะดำเนินธุรกิจผลิตสินค้าจากน้ำมันและไขมันในทวีปยุโรป
จุดนี้เองที่ทำให้ในเวลาต่อมา Margarine Unie ได้ควบรวมกับ Lever Brothers ผู้ผลิตสบู่รายใหญ่ของประเทศอังกฤษ
Lever Brothers นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 1885 โดย 2 พี่น้อง William และ James Lever ซึ่งธุรกิจของพวกเขาเติบโตจากการขายสบู่สำหรับซักผ้า ชื่อว่า “ซันไลต์” ที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าว ที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดฟองได้ง่ายกว่าสบู่แบบดั้งเดิมที่ทำจากไขมันสัตว์
2
นอกจากประสิทธิภาพของสบู่ที่โดดเด่นแล้ว อีกความแตกต่างหนึ่งของ Lever Brothers
คือ การเป็นผู้ผลิตรายแรกที่ขายสบู่แบบบรรจุหีบห่อ ติดฉลากสินค้าและแบ่งขายเป็นก้อนเล็ก ๆ
1
ต่างจากการวางจำหน่ายรูปแบบเดิมที่เป็นลักษณะของการขายส่งแบบก้อนใหญ่
จากโรงงานไปสู่ร้านค้า แล้วร้านค้าเหล่านั้นค่อยแบ่งขายให้กับผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง
ด้วยวิธีการนี้เองทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์และบอกต่อได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้สบู่ของ Lever Brothers เป็นที่นิยมอย่างมากและสามารถวางจำหน่ายไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจากเปิดตัว
เมื่อธุรกิจสบู่ขยายใหญ่ขึ้น Lever Brothers จึงขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ อย่างเช่น
ในปี 1922 ได้เข้าซื้อ Wall’s ธุรกิจไอศกรีมที่ต่อมากลายเป็นแบรนด์ขายดีที่สุดในโลก
หรือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Viking เนยเทียมที่อุดมไปด้วยวิตามิน
1
จากการที่ Margarine Unie และ Lever Brothers กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในยุโรป
และทั้ง 2 บริษัทต่างก็อยู่ในอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าจากน้ำมันและไขมันอยู่แล้ว
ทั้ง 2 บริษัทจึงได้มีการเจรจากัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อแข่งกันเอง
จนในที่สุด การเจรจาก็ได้จบลงที่ทั้ง 2 บริษัทควบรวมกันเป็น “Unilever” ในปี 1929
หลังจากการควบรวมกิจการ Unilever ก็ได้ผลิตและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอยู่ตลอดเวลา
จนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของโลก
1
ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการวิจัยและพัฒนากว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
2
และรู้หรือไม่ว่า แต่ละแบรนด์ที่ Unilever นำไปวางจัดจำหน่ายแม้จะมีชื่อแบรนด์เดียวกัน
แต่สินค้าเป็นคนละชนิดกันก็ได้ เพื่อให้เหมาะสมกับท้องถิ่น เช่น ซันไลต์ ที่คนไทยคุ้นเคยในรูปแบบของน้ำยาล้างจาน แต่ในทวีปแอฟริกาจะสามารถพบเจอในรูปของสบู่สำหรับซักผ้า
2
หรืออีกกรณีหนึ่งคือความแตกต่างในด้านชื่อแบรนด์สินค้าที่แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน อย่างเช่น ไอศกรีม Wall’s ที่ชื่อแบรนด์นี้เราจะพบเห็นได้ในประเทศไทยแต่จะแตกต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะใช้ชื่อว่า Good Humor แต่ยังคงใช้สัญลักษณ์รูปหัวใจเป็นโลโกของแบรนด์ เช่นเดิม
1
ในปี 2020 Unilever มีรายได้กว่า 1.98 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากสินค้ากว่า 400 แบรนด์ที่วางจำหน่ายอยู่ใน 190 ประเทศ โดยในแต่ละวันมีคนจำนวนกว่า 2,500 ล้านคน
คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกบริโภคสินค้าของบริษัทแห่งนี้
และปัจจุบัน Unilever มีมูลค่าบริษัท 4.7 ล้านล้านบาท
1
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องราวของบริษัท Unilever หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ได้ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 92 ปี
ซึ่งพอเรามองย้อนกลับไปในวันแรกนั้น
ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทแห่งนี้ จะเกิดขึ้นจากการควบรวมกันของผู้เห็นโอกาสในการผลิตเนยเทียมและผู้ที่มีไอเดียในการขายสบู่แบบบรรจุหีบห่อ จนกลายมาเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าให้ประชากรทั่วโลกกว่าพันล้านคน ได้ใช้กันในวันนี้..
2
โฆษณา