23 ก.ย. 2021 เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งล่าสุด พร้อมส่งสัญญาณปรับลดปริมาณ QE ในไม่ช้า และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามคาดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
วันที่ 23 ก.ย. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เมื่อคืนนี้ ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรรายเดือนตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ในอีกไม่ช้า หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีความคืบหน้าในทิศทางบวกตามที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ มาตรการ QE เป็นมาตรการที่ Fed ใช้ในการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเข้าไปซื้อพันธบัตรหรือสินทรัพย์ทางการเงิน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น โดยปัจจุบัน ได้มีการกำหนดวงเงินในการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) วงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่ประชุม FOMC ยังมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ต่อไป แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่คาดว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า เร็วขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อนในเดือนมิ.ย. ซึ่งคณะกรรมการ Fed คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีขึ้นในปี 2566
สำหรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ Fed ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเหลือ 5.9% จากระดับเดิมซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 7.0% แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวในปี 2565 มาอยู่ที่ 0.38%, ปี 2566 ที่ 2.5% และปี 2567 ที่ 2.0% และคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวในระยะยาวที่ระดับ 1.8%
ขณะเดียวกัน Fed ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2564 สู่ระดับ 4.2% และปี 2565 สู่ระดับ 2.2% และคงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2566 ที่ระดับ 2.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 2.1% และคงอัตราเงินเฟ้อในระยะไว้ที่ 2.0%
นอกจากนี้ Fed ยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในปีนี้ สู่ระดับ 4.8% ขณะที่คงตัวเลขคาดการณ์ในปี 2565-2566 ที่ระดับ 3.8% และ 3.5% ตามลำดับ พร้อมระบุว่าอัตราว่างงานในปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 3.5% และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในระยะยาวที่ระดับ 4.0%
 
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com
โฆษณา