24 ก.ย. 2021 เวลา 07:48 • ไลฟ์สไตล์
📢 รีวิวเอ๋ย ต้นทุนนี้ใครควรเป็นผู้จ่าย
สวัสดีครับ ก่อนอื่นต้องขอโทษเพื่อนๆ ที่หายหน้าหายตาไปนาน หลังจากไปจัดการธุระส่วนตัวของชีวิตมาแล้ว ก็พร้อมที่จะมาลุยงานเล่าเรื่องกันต่อครับ หวังว่าเพื่อนๆ คงจะยังไม่เบื่อกัน
เปิดมาใหม่รอบนี้ นึกถึงเรื่อง "รีวิว" ก่อนเลย เพราะเห็นช่วงหนึ่งมีกระแสนักรีวิว ไปข่มขู่ร้านค้าต่างๆ ว่าถ้าหากไม่ให้กินฟรี จะพาลูกเพจมาถล่มและแบนร้าน ซึ่งเหตุนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดกับเหตุการณ์ร้านบุฟเฟ่ต์ล่าสุดที่เพิ่งเป็นข่าวไป แต่มันมีมานานแล้วจริงๆ ครับ
ภาพจาก Pixabay
ในอดีต ย้อนไปสัก 70 - 80 ปีก่อน การรีวิวครั้งแรกเกิดบนหนังสือพิมพ์ และรายการโทรทัศน์ ซึ่งทุกอย่างทางร้านแทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วยซ้ำ ผู้ไปขอรีวิว อย่างทีมงานโปรดิวเซอร์ หรือคอลัมน์นิสต์​ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายตระเวนกินกันอยู่ร่ำไป
จนกระทั่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรุงรสต่างๆ เกิดขึ้นมา ก็มีการขอเข้าไปโฆษณาท้ายคอลัมน์บ้าง หรือเมื่อถึงยุคนิตยสาร ก็ขอซื้อหน้านิตยสาร เป็นรายได้ให้กับสื่อผู้ทำคอลัมน์ไป
💥 การรีวิวด้วยผู้ใช้งานจริง (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า User) เพิ่งจะมีมาเมื่อไม่ถึง 15 ปีนี้ เริ่มต้นจากการใช้งานเว็บไซต์ เช่น เว็บจองโรงแรมที่พัก เปดให้ผู้ไปพักได้เข้ามากดแสดงความคิดเห็น และให้ดาวกับบริการของที่พัก
สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นและยุคต่อมา กลายเป็นวัฒนธรรมที่เชื่อถือนักรีวิว ก่อนตัดสินใจชำระเงินซื้อบริการของลูกค้า จนกลายเป็นว่า ใครที่ไปรีวิวให้เขาเสียหายมาก ทางแบรนด์นั้นๆ ก็ฟ้องร้องกลับได้
ในขณะเดียวกัน การรีวิวก็เปรียบเสมือนกระจก
เมื่อสินค้าและบริการที่ปล่อยให้ออแกไนซ์ และพนักงานต่างๆ ให้บริการ ภาพลักษณ์ก็อาจจะเสียไปจากเดิม เช่น โรงแรมดูดี แต่พนักงานพูดจาไม่ดีกับลูกค้า ไม่ต้อนรับ ไม่ยิ้มแย้ม หรือร้านค้าที่คิดราคาเกินจริง ก็กลายเป็น Feedback กลับไปให้กับองค์กรได้ปรับปรุงตัว
💰 มาดูถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อการรีวิว 1 ครั้งบ้างครับ 💰
ในมุมมองของนิตยสาย หนังสือพิมพ์ รายการทีวี หรือเพจต่างๆ มีค่าใช้จ่ายดังนี้
💥 ต้นทุน 💥
1. ค่าคิด Content
ซึ่งอาจหมายถึงทุนในการจ้างโปรดิวเซอร์ประจำช่อง แม้ว่าทางเจ้าของเพจจะเป็นคนคิดทำคอนเท้นท์เองก็ตาม
2. ค่าช่างถ่ายภาพ
ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องโปร ก็เป็นต้นทุนทั้งกล้อง และการล้างภาพ รวมถึงการจ้างช่างภาพเพื่อมาถ่ายภาพด้วย (ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอ)
3. ค่าผลิตสื่อ
หมายถึง ค่าต้นทุนกระดาษผลิตหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ค่าจองเวลาช่องออกอากาศ เป็นต้น
💥 รายได้ 💥
ทางเจ้าของสื่อไม่ได้รับภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนเพียงอย่างเดียว เขาได้รายได้จากส่วนนี้ด้วย เช่น
❗ รายได้จากการลงโฆษณา
❗ รายได้จาก Youtube, Google และสื่ออื่นๆ เป็นต้น
ซึ่งค่าใช้จ่าย และต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้การลงโฆษณา หรือการติดต่อรีวิวในฐานะใดๆ ก็ตาม ทางผู้ติดต่อต้องขอดูความสมเหตุสมผล
เรื่องยุคสมัยก็เกี่ยวข้องเช่นกัน ปัจจุบันสื่ออนไลน์ในเพจ อินสตาแกรม หรือ TikTok ก็มีอิทธิพล แต่ยุคหน้า สื่อเหล่านี้ก็อาจถูกเปลี่ยนแปลงไป เพราะสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสารก็เริ่มสาปสูญ
📝 เมื่อทราบต้นทุนอย่างนี้แล้ว ในฐานะแบรนด์ เมื่อได้รับการติดต่อ ก็ต้องบวกลบว่าคุ้มค่าหรือเปล่า ที่คุณจะให้เพจหรืออินฟลูฯ เจ้าใดเจ้าหนึ่งมารีวิวสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการของคุณ
📝 ไม่เพียงแค่เจ้าของแบรนด์ ต่อให้เป็นกิจกรรมเหล่านี้ ก็ควรสอบถามว่ามีค่าตอบแทนให้คุณ ในฐานะเจ้าของสิทธิ์หรือไม่?
1. ผู้ให้สัมภาษณ์ความรู้ต่างๆ เช่น มีคนมาสัมภาษณ์คุณในฐานะผู้เลี้ยงผึ้ง สัมภาษณ์วิธีเลี้ยงผึ้ง หากเห็นหน้าคุณไปในคลิป แล้วคลิปนี้เกิดดังขึ้นมา ช่องมีรายได้ แต่สิ่งที่สื่อออกไปเป็นองค์ความรู้ของคุณ เท่ากับว่า องค์ความรู้ของคุณก็เป็นต้นทุนให้กับทางช่องเหมือนกัน
2. มาถ่ายทำสถานที่ของคุณ เช่นกรณีข้อ 1 เท่ากับว่าสิ่งที่คุณออกแบบ สร้างสรรค์ไว้บนพื้นที่ของคุณ เป็นต้นทุนให้กับช่องนั้น
3. การตรวจสอบและให้เครดิต เมื่อทางผู้สัมภาษณ์ทำข้อมูลเสร็จแล้ว ควรให้คุณซึ่งเป็นต้นเรื่องได้ตรวจสอบ ป้องกันความผิดพลาดของข้อมูลที่คุณเป็นผู้ให้ ซึ่งจะติดตัวคุณไปตลอดแบบขอแก้ไขไม่ได้
รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ ยังเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบัน และส่วนใหญ่ก็เป็นการให้สัมภาษณ์ฟรี ใช้สถานที่ฟรี
เพราะคนส่วนหนึ่งยังตื่นเต้นกับการออกสื่อ ออกฟรี คิดว่าออกแล้วจะดัง
แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลของคุณ ดันไปสร้างรายได้ ให้กับคนอื่น ทั้งๆ ที่คุณเป็นต้นคิดคอนเท้นท์นะครับ
ฝากไว้ให้คิดครับ
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาครับ
24.09.2021
โฆษณา