24 ก.ย. 2021 เวลา 13:04 • ไลฟ์สไตล์
รู้จัก ‘Emotional Ambivalence’ เมื่อพนักงานสับสนทางอารมณ์ หัวหน้าจะรับมืออย่างไร?
โรคระบาดทำให้ชีวิตของเราทุกคนมีแต่ความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ สิ่งนี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ใครหลายคนเกิด ภาวะ “Emotional Ambivalence” หรือความสับสนทางอารมณ์
สภาวะอารมณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อเราเผชิญเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกด้านบวก และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบพร้อมกัน จนเกิดเป็นความสับสน ไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกเช่นไรดี
โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ใครหลายๆ คนรู้สึกไม่ชิน เมื่อกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ กลัวว่าจะเกิดการแพร่ระบาดจากที่ทำงาน แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกดี เพราะไม่ต้องอุดอู้อยู่บ้าน ได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน
หรือบางครั้งเรากลับรู้สึกสับสน แต่ไม่กล้าแสดงออกให้เพื่อนร่วมงานเห็น เพราะอีกนัยหนึ่ง สังคมการทำงานคือการแข่งขัน ผู้คนมักให้ความสำคัญกับความมั่นใจ ความเด็ดเดี่ยวและกล้าแสดงออก ด้วยเหตุนี้ทำให้เราไม่กล้าให้ใครเห็นมุมอ่อนแอของตัวเอง ผู้นำหลายคนคิดว่าการเป็นคนคิดบวกเป็นวิธีที่ปลอดภัยและดีกว่าในการแสดงออกทางอารมณ์ในที่ทำงาน เพราะความสุขที่บ่งบอกถึงความมั่นใจและความสามารถ ซึ่งจะทำให้ตัวเองเป็นที่ชื่นชอบของคนรอบข้าง
1
แต่ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเป็นผู้นำที่มีอารมณ์เชิงบวก อาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่ทำให้งานออกมาดีเสมอไป บางทีการแบ่งปันความสับสนและความรู้สึกร่วมกัน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถปลดล็อกปัญหาที่อัดอั้นอยู่ในใจของทุกคนได้ จากคำบอกเล่าของผู้จัดการคนหนึ่งจากบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 เขากล่าวว่าการที่ Managing Director ของบริษัทออกมาบอกเล่าถึงความรู้สึกสับสนอย่างเปิดเผย ทำให้พวกเขามีแรงบันดาลใจในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานได้ดียิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น เราสามารถหยิบยืมอารมณ์เชิงลบที่ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นคงนี้ เปลี่ยน
เป็นใช้มันด้วยวิธีการที่ชาญฉลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพนักงานและองค์กร
และสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่จะต้องนำพาพนักงานและรับมือให้ได้โดยเร็วที่สุดไปดูกันเลยว่าจะมีวิธีอะไรบ้าง!
1)กระตุ้นความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบของพนักงานออกมา
หัวหน้าสามารถถามความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อปัญหา ทั้งด้านบวกและด้านลบ การพูดคุยส่วนตัวแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หัวหน้าอาจจะใช้คำถามชี้นำให้พนักงานได้แสดงออกถึงอารมณ์ที่หลากหลาย เพื่อให้ความคิดของพนักงานมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เช่น “ให้คุณบอกสิ่งหนึ่งที่คุณรู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับการเปิดตัวสินค้าและอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณกำลังเป็นกังวล” หรือ “คุณคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอะไรต่อเราบ้าง และเราได้อะไรจากสิ่งนี้”
2)ยอมรับว่าความรู้สึกสับสน เพราะความอ่อนแอไม่ได้แย่เสมอไป
หัวหน้าสามารถยอมรับถึงความสับสนของตัวเอง แสดงออกถึงอารมณ์ที่หลากหลายให้ลูกน้องเห็นว่าการแสดงความรู้สึกเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินและให้เกียรติ วิธีนี้ไม่เพียงทำให้พนักงานเข้าใจความรู้สึกของตนเองมากขึ้น แต่ยังทำให้ตนเองมีความอดทนต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย
3)แบ่งปันความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองให้กับพนักงาน
จากการวิจัยพบว่า ความคล้ายคลึงทางอารมณ์สามารถยับยั้งการตอบสนองต่อความเครียดของอีกฝ่ายได้ การแบ่งปันประสบการณ์ของเราให้พนักงาน จะช่วยลดความเครียดของพวกเขาและช่วยไม่ให้พวกเขารู้สึกแปลกแยก และเมื่อเกิดปัญหาพนักงานจะไม่ลังเลที่จะเอ่ยปากและขอความช่วยเหลือ ทำให้ประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างเจ้านายกับลูกน้องเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
4)ถ่ายทอดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความสับสนทางอารมณ์ผ่านเรื่องราวต่างๆ
เมื่อหัวหน้าบอกเล่าโดยใช้ข้อมูลสองฝั่งที่มีความขัดแย้งแต่ลงตัว จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้เสมอ เช่น เราจะมีวิธีแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ เพราะก่อนหน้านี้การทำงานที่บ้านทำให้งานที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร การเล่าเรื่องที่มีจุดเปลี่ยนเช่นนี้ สามารถช่วยรักษาความสับสนให้เกิดเป็นคุณค่าให้กับพนักงานได้
5)การเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น
เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน เช่น จัดกิจกรรมให้คนในองค์กรรู้จักกันได้ดียิ่งขึ้น หรืออาจจะจัดโครงสร้างงานแบบพึ่งพาอาศัยกัน เอื้อให้เกิดความพยายามร่วมกันมากขึ้นในองค์กร และกระตุ้นให้พนักงานให้ความสนใจต่ออารมณ์ของผู้อื่นมากขึ้น
แปลและเรียบเรียงจาก:
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
#psychology
โฆษณา