3 ต.ค. 2021 เวลา 11:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูร้านอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกา (Restaurant Revitalization Fund)
บทความโดย
นางสาวสุมาลี สถิตชัยเจริญ
อัครราชทูต (ฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง) ประจำกรุงวอชิงตัน
สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน
นางสาววิสาร์กร เพชรฐิติวัฒน์
ผู้ช่วยดำเนินการด้านการเงินการคลัง
สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน
credit: https://unsplash.com/photos/sQopSb2K0CU
1. บทนำ
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูร้านอาหารของสหรัฐอเมริกา หรือ Restaurant Revitalization Fund (RRF) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมาย American Rescue Plan Act 2021 ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 โดย RRF เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 มีงบประมาณรวม 2.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินให้เปล่า (grant) เพื่อช่วยเหลือร้านอาหาร บาร์ รถขายอาหาร และธุรกิจที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้ความสำคัญกับธุรกิจร้านอาหารเนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มทำงานครั้งแรกในร้านอาหารเป็นส่วนใหญ่
2. สาระสำคัญของ RRF[1]
[1] สามารถดูรายละเอียดได้จาก https://www.sba.gov/sites/default/files/2021-04/RRF%20Overview%20Deck%20FINAL%204.27-508.pdf
2.1 RRF บริหารโดย Small Business Administration (SBA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้สินเชื่อ การค้ำประกันสินเชื่อ การให้คำปรึกษา และการอบรมผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ
2.2 RRF มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ร้านอาหารและธุรกิจอื่นที่เข้าข่ายที่สูญเสียรายได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 สามารถเปิดบริการต่อไปได้ โดย RRF มีการกำหนดธุรกิจที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ และเกณฑ์การใช้เงินช่วยเหลือ สรุปได้ ดังนี้
(1) ธุรกิจที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ
(1.1) ต้องเป็นธุรกิจที่สูญเสียรายได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่ปิดกิจการถาวร หรือกำลังจะเปิดให้บริการซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในวันที่ 11 มีนาคม 2564 และดำเนินธุรกิจให้บริการอาหารหรือเครื่องดื่มแก่ลูกค้าเป็นหลัก เช่น ร้านอาหาร รถขายอาหาร ผู้ให้บริการจัดเลี้ยง บาร์ และร้านเบเกอรี่ เป็นต้น โดยธุรกิจต้องมีรายรับจากการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในสถานที่ตั้งอย่างน้อยร้อยละ 33 ของรายรับรวม ในปี 2562 สำหรับธุรกิจที่เปิดในปี 2563 หรือธุรกิจที่ยังไม่เปิดทำการแต่มีรายจ่ายล่วงหน้าเกิดขึ้นแล้ว ลักษณะในการดำเนินธุรกิจต้องมีรายรับจากการขายอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อยร้อยละ 33 ต่อสาธารณชน โดยรวมถึงร้านอาหารที่ดำเนินธุรกิจอิสระที่ตั้งอยู่ในสนามบิน โรงแรม หรือศูนย์ประชุม
(1.2) ต้องเป็นธุรกิจที่จัดตั้งในรูปแบบทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา และมีเลขการประกอบธุรกิจที่ยังไม่หมดอายุที่ใช้ในการยื่นภาษี (Tax Identification Number-TIN) ได้แก่ เลขประจำตัวนายจ้าง (Employer Identification Number -EIN) เลขประกันสังคม (Social Security Number -SSN) หรือ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (Individual Tax Identification Number -ITIN)
(1.3) ข้อจำกัดสำหรับธุรกิจที่ข่ายเข้า เช่น ต้องไม่เป็นธุรกิจที่มีสาขามากกว่า 20 สาขา ไม่เป็นธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เป็นองค์การที่ไม่แสวงหากำไร ต้องไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจาก Shuttered Venue Operators Grant ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือฉุกเฉินธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามกฎหมาย Economic Aid to Hard-Hit Small Business, Nonprofit, and Venues Act ที่ได้มีการแก้ไขตาม the American Rescue Plan Act ที่ดำเนินการโดย SBA เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือ
(2) เกณฑ์การใช้เงินช่วยเหลือ
(2.1) ให้เงินช่วยเหลือเท่ากับรายได้ที่สูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงสุด 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งธุรกิจ (ประมาณ 32 ล้านบาท) และไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16 ล้านบาท) ต่อหนึ่งสถานที่ตั้ง วงเงินขอความช่วยเหลือต่ำสุดอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 32,000 บาท) ทั้งนี้ผู้ขอรับเงินช่วยเหลือไม่ต้องคืนเงินให้เปล่าหากใช้เงินตามเกณฑ์ที่กำหนดภายในวันที่ 11 มีนาคม 2566
(2.2) ธุรกิจต้องนำเงินช่วยเหลือไปใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1) ค่าจ้างพนักงานซึ่งรวมถึงการลาป่วยที่ได้รับค่าตอบแทน (sick leave) และค่าประกันสุขภาพของพนักงาน 2) ค่าเช่าร้าน 3) ดอกเบี้ยที่เกิดจากการจำนองร้าน 4) ค่าสาธารณูปโภค 5) หนี้ค้างชำระของธุรกิจ
6) ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมร้าน 7) ค่าก่อสร้างที่นั่งทานอาหารกลางแจ้ง (outdoor) 8) ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งไปถึงอุปกรณ์ป้องกันและทำความสะอาด 9) ค่าใช้จ่ายของธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยรวมถึงวัตถุดิบสำหรับเบียร์ ไวน์ และสุรา 10) ค่าใช้จ่ายในการจัดหา (suppliers) จากนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในการจัดหาสินค้าที่จำเป็นในการดำเนินกิจการ ตามสัญญาจ้าง หรือสั่งซื้อ ทั้งก่อนเวลาที่ได้รับเงินจาก RRF หรือในช่วงเวลาที่ได้รับเงินจาก RRF และ 11) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจตามปกติที่จำเป็นและธุรกิจต้องจ่ายในการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ ค่าประกัน การฝึกอบรม เป็นต้น
ทั้งนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายของกิจกรรมรายวันที่เกิดขึ้นนอกบริษัท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2566 และต้องใช้เงินจากกองทุนให้หมดภายในวันที่ 11 มีนาคม 2566 หากใช้ไม่หมดต้องคืนเงินช่วยเหลือในส่วนที่เหลือแก่ SBA
(2.3) SBA ได้กันวงเงินช่วยเหลือเพื่อให้กระจายไปถึงธุรกิจขนาดเล็ก ดังนี้
1) 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ขอรับความช่วยเหลือที่มีรายรับไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐในปี 2562
2) 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ขอรับความช่วยเหลือที่มีรายรับเกิน 5 แสน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562
3) 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้ขอรับความช่วยเหลือที่มีรายรับไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2562
ทั้งนี้ธุรกิจจะต้องยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือต่อ SBA ตามแบบฟอร์มที่กำหนดซึ่งมีการจัดทำ ตัวอย่างถึง 34 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย
3. ผลการดำเนินการ
RRF ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 และปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากมีผู้ยื่นสมัครเกินกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยมีธุรกิจสมัครขอรับความช่วยเหลือประมาณ 278,000 ราย เงินที่ขอความช่วยเหลือมากกว่า 7.22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสามสัปดาห์แรกของการเปิดสมัคร ซึ่ง SBA สามารถให้เงินช่วยเหลือได้เพียง 101,004 ราย จากงบประมาณ 2.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งตามวงเงินช่วยเหลือที่ได้รับ ดังนี้
ที่มา: https://www.sba.gov/sites/default/files/2021-07/RRF_Report-508.pdf ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จากทั้งพรรคเดโมเครตและพรรครีพับลีกัน ได้เสนอให้จัดสรรเงินช่วยเหลือรอบสองแก่ RRF วงเงิน 6.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภาสหรัฐฯ นอกจากนี้การพิจารณาให้เงินช่วยเหลือของ SBA จาก RRF ได้รับการเรียกร้องให้เปิดเผยผลการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือดังกล่าว เนื่องจากมีผู้ที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีประเด็นในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจที่เจ้าของเป็นผู้หญิง ทหารผ่านศึก และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเป็นกรณีพิเศษก่อน ทำให้ผู้เรียกร้องหลายรายเห็นว่าไม่เป็นธรรมจนมีการฟ้องร้องในชั้นศาล ทั้งนี้ SBA ได้มีการแสดงข้อมูลในการพิจารณาว่ามีการอนุมัติให้แก่ธุรกิจใดและไม่อนุมัติให้แก่ธุรกิจใดเพื่อความโปร่งใสในเว็บไซต์ของ SBA ด้วย
4. บทสรุป
RRF เป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดเป็นการเฉพาะนอกเหนือไปจากโครงการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบมาก และเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานมาก แต่การช่วยเหลือดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอหากพิจารณาจากข้อมูลที่ผู้ร้องยื่นขอความช่วยเหลือมากกว่า 3 เท่าของวงเงินที่ให้ความช่วยเหลือได้
อย่างไรก็ดีการช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถช่วยธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยทำควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาดโดยสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานที่ให้บริการ รวมทั้งบางมลรัฐในสหรัฐฯ ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการในร้านอาหารต้องได้รับการฉีดวัคซีนด้วยเพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นยังอำนวยการสะดวกให้แก่ร้านค้าที่มีขนาดเล็กในการจัดทำสถานที่ข้างทางด้านนอกร้านอาหารเพื่อให้รับประทานอาหารด้านนอกที่มีอากาศถ่ายเท ซึ่งเป็นการช่วยเหลืออย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวต่อการประกอบธุรกิจต่อไป
โฆษณา