30 ก.ย. 2021 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Active Fund vs Passive Fund เลือกลงทุนแบบไหนดี
การลงทุนในกองทุนรวม สิ่งที่ผู้ลงทุนควรรู้อันดับแรกๆ คือกองทุนลงทุนในสินทรัพย์อะไร
เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ ลงทุนแบบผสม หรือสินทรัพย์ทางเลือก เป็นต้น
รวมถึงมีการลงทุนในต่างประเทศหรือไม่ มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหรือความอ่อนไหวต่อปัจจัยอะไรบ้าง และผลตอบแทนย้อนหลังเป็นอย่างไร
อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องรู้ก็คือกลยุทธ์ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ในการบริหารกองทุน
ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกว่าผู้ลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนอย่างไร
แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ การบริหารแบบเชิงรุก หรือ Active Fund และการบริหารแบบเชิงรับ หรือ Passive Fund
กองทุนทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันอย่างไร และเหมาะกับการลงทุนแบบไหน ลองมาติดตามรายละเอียดกันเลย
กองทุนรวมแบบ Active Fund
มีเป้าหมายในการลงทุนคือการสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (Benchmark) หรือ การพยายามเอาชนะตลาด
ผู้จัดการกองทุนจะต้องใช้ความสามารถในการเลือกหลักทรัพย์เข้าพอร์ต
โดยมีแนวทางการวิเคราะห์ในการเลือกหลักทรัพย์ 2 แบบได้แก่
📌 Top-down Analysis คือวิเคราะห์จากภาพรวมเศรษฐกิจ และลงไปในระดับอุตสาหกรรม ก่อนที่จะเลือกหุ้นแต่ละตัวจากปัจจัยพื้นฐาน
📌 Bottom-up Analysis ซึ่งจะตรงกันข้ามจากวิธี Top-down คือเป็นการเลือกตัวหลักทรัพย์ก่อนที่จะพิจารณาปัจจัยด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ
Active Fund มีข้อดีคือจะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามภาวะตลาด
ทำให้มีโอกาสทำกำไรได้มากกว่าในช่วงที่ตลาดไม่ไปไหน
และเหมาะสำหรับการลงทุนที่เน้นโอกาสทำกำไรระยะสั้น
ขณะที่กองทุนรวมแบบ Passive Fund
คือกองทุนรวมที่เน้นการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม Passive Fund มีโอกาสที่ผลตอบแทนอาจจะสูงหรือต่ำกว่า Benchmark ได้
เนื่องจากสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุนอาจไม่ได้เหมือนกับดัชนีอ้างอิงแบบ 100%
ข้อดีของกองทุนแบบนี้คือมีค่าธรรมเนียมและความเสี่ยงต่ำเนื่องจากเป็นการลงทุนตามดัชนีอ้างอิง
จึงลดต้นทุนในการบริหารจัดการ รวมถึงลดความเสี่ยงจากการเลือกหลักทรัพย์ผิดตัว
อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงต้องเลือกลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามตลาด แทนที่จะลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด
คำตอบก็คือในตลาดที่มีประสิทธิภาพ จะไม่มีใครสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดระยะยาว
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรับจึงเหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว และยังมีต้นทุนในการบริหารจัดการต่ำอีกด้วย
Active Fund vs Passive Fund ควรเลือกอะไรดี
มาถึงสิ่งที่หลายคนอยากรู้ว่าควรเลือกลงทุนในกองทุนประเภท Active Fund หรือ Passive Fund
จริงๆ แล้วเราสามารถลงทุนได้ทั้งกองทุน Active Fund และ Passive Fund ด้วยการแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ส่วนตามกลยุทธ์ Core-satellite Portfolio
ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนแบบยืดหยุ่น และเหมาะกับทุกสภาวะตลาด ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนตามการเติบโตของตลาดระยะยาว
1
ขณะเดียวกันก็ไม่พลาดโอกาสทำกำไรที่สูงขึ้นจากความผันผวนของตลาดในระยะสั้นด้วย
การลงทุนส่วนหลัก (Core Portfolio) ส่วนนี้เป็นการลงทุนที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว
เน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ และกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภท (Asset Allocation) เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด
การลงทุนสำหรับ Core Portfolio ควรมีสัดส่วนเงินลงทุนอยู่ที่ 60 – 90% ของพอร์ต ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคน
และเหมาะกับการบริหารการลงทุนแบบเชิงรับหรือ Passive ที่มีการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตไม่บ่อย
ทำให้มีต้นทุนการบริหารที่ต่ำ และได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดในระยะยาว
การลงทุนส่วนเสริม (Satellite Portfolio) มีวัตถุประสงค์เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนส่วนหลัก
เน้นการลงทุนระยะสั้นหรือกลาง โดยอาจเลือกลงทุนในตัวหุ้น หรืออุตสาหกรรม หรือธีมการลงทุนที่น่าจะได้รับผลดีจากสภาวะตลาดในช่วงเวลานั้นๆ
ใช้การจับจังหวะการซื้อขาย (Market Timing) ควรเป็นการบริหารการลงทุนแบบ Active
เนื่องจากคาดหวังผลตอบที่สูงกว่าตลาด และมีความเสี่ยงสูงกว่า Core Portfolio
สำหรับการลงทุนส่วนเสริมนี้ ควรมีสัดส่วนเงินลงทุนเท่ากับส่วนที่เหลือจาก Core Portfolio ในกรณีที่การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
พอร์ตการลงทุนโดยรวมก็จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจาก Satellite Portfolio มีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่สูงมาก
สิ่งสำคัญสำหรับการลงทุนคือการติดตาม และปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance)
เพื่อให้ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละคน
ทั้งสัดส่วนระหว่าง Core กับ Satellite Portfolio และสัดส่วนภายใน Core Portfolio เอง
กรณีที่ Core Portfolio เลือกลงทุนในกองทุนแบบ Asset Allocation อยู่แล้ว
ก็จะมีผู้จัดการกองทุนช่วยทำหน้าที่ในการปรับสัดส่วนการลงทุนให้อยู่ระดับที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของกองทุนที่กำหนดไว้แต่แรก
ซึ่งการมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยบริหารก็จะทำให้การลงทุนง่ายขึ้นอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าการลงทุนโดยใช้กลยุทธ์ Core-satellite Portfolio เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ประโยชน์ทั้งจากการลงทุนแบบ Passive และ Active
1
ที่สามารถลงทุนโดยเน้นการเติบโตไปพร้อมกับตลาดในระยะยาว
ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มโอกาสทำกำไรเพิ่มในระยะสั้น ซึ่งทำให้การลงทุนโดยรวมมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนแบบเชิงรับอย่างเดียว
#KKP #KiatnakinPhatra #ลงทุน #Investment #กองทุน #MutualFund #ActiveFund #PassiveFund #CoreSatellitePortfolio #กลยุทธ์ #การบริหารกองทุน
โฆษณา