28 ก.ย. 2021 เวลา 09:56 • การตลาด
5 เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ และ 5 วิธีการสร้างยอดขายใน Twitter และ
5 เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ
1. ผู้บริโภคทุกคนไม่เหมือนกัน
อาจเป็นประโยคที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่อยากให้ลองคิดไตร่ตรองว่าแต่ละแบรนด์ต่างมีน้ำเสียงของแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ ฉะนั้นจำเป็นต้องคิดถึงผู้บริโภคเป็นหลักว่า ใครคือผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ มีรสนิยมและไลฟ์สไตล์อย่างไรบ้าง แต่ละชุมชนต่างก็มีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงเรื่องของการใช้ภาษา สำหรับประเทศไทย ประชากรบนทวิตเตอร์ในประเทศไทยนับได้ว่ามีความหลากหลาย ซึ่งแบ่งออกเป็น Gen Y (37.6%), Gen Z (31.1%), Gen X (28.2%) และเบบี้ บูมเมอร์ (3.1%) ผู้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการให้ลำดับความสำคัญของคนแต่ละเจนล้วนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการที่จะสื่อสารกับแต่ละกลุ่มประชากรก็ต้องมีความแตกต่างกันเช่นเดียวกัน
2. แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก
ทวีตข้อความเดียวอาจจุดประกายให้เกิดบทสนทนาได้ ดังนั้นต้องให้แน่ใจว่าการสร้างบทสนทนาต้องเป็นไปในแง่บวกและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบรนด์ควรจะต้องมีภาพของความเป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ยินดีที่จะน้อมรับกับความคิดเห็นและฟีดแบ็คต่างๆ รวมถึงการให้คุณค่ากับไอเดียใหม่ๆ และคำแนะนำจากผู้บริโภคและนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ต่อไป ทวิตเตอร์นับเป็นช่องทางที่ทำให้แบรนด์สามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ในแบบที่ไม่เหมือนกับช่องทางอื่นๆ ซึ่งด้วยจุดแข็งนี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้
3.จากบทสนทนา...สู่ความต้องการซื้อ
บทสนทนาที่ดีจะสามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้า อยากจะค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ มากขึ้น อยากที่จะคลิกเข้าไปดูสินค้าในเว็บไซต์ หรืออยากที่จะใช้โค้ดหรือคูปองส่วนลดเพื่อซื้อสินค้า โดยคนที่เป็นกระบอกเสียงของแบรนด์สามารถกระตุ้นหรือช่วยจุดกระแสให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับสินค้าได้
จากข้อมูลของ Statista Global Consumer Survey พบว่า 59% ของนักช้อปออนไลน์ในประเทศไทยเห็นด้วยว่า การรีวิวของคนบนอินเตอร์เน็ตช่วยตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าอะไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความคิดเห็นต่างๆ ของผู้บริโภคคนอื่นมีความสำคัญและอาจเปลี่ยนให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าได้ แบรนด์จึงจำเป็นต้องรับฟังทุกความคิดเห็นในบทสนทนา ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการชี้แจง และให้เหตุผลเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
4. สร้างแรงบันดาลใจด้วยบทสนทนา
ระหว่างที่มีการสนทนา แบรนด์ควรระมัดระวังไม่ให้ดูพยายามตั้งใจขายสินค้ามากจนเกินไป เนื่องจากทวิตเตอร์เป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้ามาพูดคุยและแบ่งปันความคิดเห็น ซึ่งการรีวิวที่จริงใจและตรงไปตรงมานี้เองที่เป็นกระบอกเสียงอันทรงพลัง แบรนด์จึงควรสนใจในบทสนทนา ทำความเข้าใจผู้บริโภคและเคารพพวกเขา พูดคุยแลกเปลี่ยนบทสนทนาให้ตรงกับหัวข้อนั้นๆ ไม่ใช่ตั้งใจขายแต่สินค้าอย่างเดียวเท่านั้น
5. คิดให้ไกลกว่าแค่ปิดการขาย
แบรนด์ส่วนใหญ่โฟกัสกับการสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อสินค้า และปิดการขายให้ได้ หรือนึกถึงแต่ยอดขายเป็นหลัก ซึ่งหลายๆ ครั้งไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่มาถึงจุดที่แบรนด์อาจลืมไปแล้วว่าการสนทนากับลูกค้าเป็นพลังที่สำคัญ โดยการสนทนาสามารถสร้างความภักดีได้ ผู้บริโภคที่มีความพึงพอใจในตัวสินค้า สามารถกลายมาเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ได้ การสนทนาจะนำไปสู่การกลายมาเป็นกระบอกเสียงที่ดีที่สุดของแบรนด์ ทั้งนี้ ทวิตเตอร์จึงเป็นพื้นที่พิเศษไม่เหมือนใครที่ผู้บริโภคสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่มีต่อสินค้าและสามารถสร้างอิทธิพลต่อคนอื่นๆ พร้อมทั้งสามารถกระตุ้นยอดขายให้กับแบรนด์ได้
5 วิธีการสร้างยอดขายใน Twitter
เฟสที่ 1: เริ่มทวีต
ก่อนจะถึงวันที่มีการจัดโปรฯ สักหนึ่งอาทิตย์ ควรเริ่มต้นสร้างบทสนทนาขึ้นมาบนทวิตเตอร์ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จะทวีตถึงโค้ดส่วนลดต่างๆ และจะได้เก็บโค้ดเหล่านั้นเอาไว้เพื่อช่วยให้พวกเขามีส่วนลดเพิ่มในวันที่มีการจัดโปรฯ
เคล็ดลับ: เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการปล่อยโค้ดพิเศษหรือบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดโปรโมชั่นของแบรนด์ สร้างเอ็นเกจกับอินฟลูเอ็นเซอร์บนทวิตเตอร์ เพื่อทวีตถึง “ของมันต้องมี” ซึ่งจะช่วยให้นักช้อปทั้งหลายเกิดความต้องการซื้อสินค้า
เฟสที่ 2: อุ่นเครื่อง
ในเฟสที่ 2 จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์เริ่มปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนๆ ถึงสิ่งที่พวกเขากำลังวางแผนที่จะซื้อ
เคล็ดลับ: ทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ทวิตเตอร์ ในฐานะที่พวกเขาเป็นผู้สนับสนุนแบรนด์เพื่อสร้างอิทธิพลต่อนักช้อปและยังเป็นการช่วย “อุ่นเครื่อง” บทสนทนาก่อนที่จะถึงวันจริง
เฟสที่ 3: วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์
เมื่อวันจริงมาถึง นักช้อปบางคนอาจจะยังค้นหาโค้ดส่วนลดพิเศษต่างๆ อยู่ และนี่แหละที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อในวันนั้น
เคล็ดลับถึงแบรนด์: วันแห่งการช้อปปิ้งออนไลน์ คือช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์สามารถสร้างอิทธิพลได้ ด้วยการรีวิวผลิตภัณฑ์และแสดงความเห็น โดยอินฟลูเอนเซอร์ บนทวิตเตอร์สามารถสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของคนอื่นๆ ได้
เฟสที่ 4: รีวิวแกะกล่องผลิตภัณฑ์
นักช้อปบนทวิตเตอร์มักชอบแบ่งปันข้อมูลในสิ่งที่พวกเขาได้ช้อปมาแล้ว โดยเฉพาะหลังจากวันที่มีการจัดโปรฯ ผ่านไปไม่กี่วัน พวกเขามักจะแชร์ภาพการเปิดกล่องไอเทมเด็ดที่พวกเขาได้ซื้อไป และหากว่าแบรนด์ยังคงทำโปรโมชั่นอยู่อย่างต่อเนื่อง นี่แหละคือช่วงเวลาที่นักช้อปคนอื่นๆ อาจจะมีการตัดสินใจซื้อเพิ่ม เนื่องจากได้เห็นคนอื่นได้ซื้อสินค้าไปแล้ว รวมถึงทวีตข้อความจากทั้งแบรนด์เองและจากอินฟลูเอนเซอร์
เคล็ดลับ: การทำ Whitelist ที่เกี่ยวข้องกับการทวีตที่รีวิวการแกะกล่องผลิตภัณฑ์จะช่วยสร้างกระแสบทสนทนาและช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อต่อไปได้อีก
เฟสที่ 5: หลังจากวันจัดโปรฯ ผ่านพ้นไป
ในช่วงสุดท้ายยังคงสามารถสร้างเอ็นเกจได้ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3-4 วัน หลังจากมีผู้บริโภคได้ซื้อของไปแล้ว จะเริ่มมีการทวีตและมีฟีดแบ็คถึงผลิตภัณฑ์ ในขณะที่บางคนก็อาจจะชอบให้มีการเตือนว่าโปรโมชั่นใกล้จะหมดแล้ว หรือกลุ่มผู้บริโภคที่สนับสนุนแบรนด์อยู่ก็สามารถเป็นอีกตัวช่วยที่จะทำให้คนอื่นอยากจะซื้อของในช่วงวันท้ายๆ ก่อนจะจบโปรได้เช่นกัน
เคล็ดลับ: ส่งข้อความที่กระตุ้นการตัดสินใจซื้อครั้งสุดท้าย อาทิ “ลดกระหน่ำวันสุดท้าย” หรือ “โอกาสสุดท้าย” เป็นต้น
โฆษณา