30 ก.ย. 2021 เวลา 09:10 • ปรัชญา
"ปรับวิหารธรรมให้เหมาะสม"
" ... วิหารธรรม ก็คือ เครื่องอยู่ของจิต
เหมือนร่างกายเราก็ต้องมีที่อยู่อาศัยใช่ไหม
ต้องมีบ้าน มีที่พักต่าง ๆ เป็นเครื่องอยู่
จิตใจก็เช่นกัน
ถ้าจิตใจไม่มีวิหารธรรม ไม่มีเครื่องอยู่
ก็จะหลุดลอยไปเรื่อย
จิตไม่สามารถหยุดนิ่งได้
ที่เรียกว่า ไหลไปกับอารมณ์ต่าง ๆ
จมไปกับห้วงน้ำแห่งตัณหา
แห่งกิเลสตัณหาอุปทาน
เปรือบเหมือนตกอยู่ในทะเลแห่งวัฏฏะนั่นเอง
จิตจมอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ
จมอยู่กับความเศร้าบ้าง
จมอยู่กับความกดดัดบ้าง
จมอยู่กับความขุ่นเคืองใจต่าง ๆ บ้าง
ผู้ที่ฝึกปฏิบัติอบรมสติปัฏฐาน ๔
เป็นผู้ที่มีสติตั้งมั่น มีสมาธิ มีความตั้งมั่นที่ถูกต้อง
จิตก็จะไม่หลุดลอยไป
หลุดออกจากอารมณ์ต่าง ๆ ไป
เปรียบเหมือนเราตกอยู่ในทะเลในห้วงน้ำ
ก็ต้องมีเกาะให้เราได้อิงอาศัยก่อนนั่นเอง
เกาะที่เราจะยึดเกาะได้
ก็เรียกว่า สติปัฏฐาน
ฐานกาย ..​. มีกายเป็นวิหารธรรม
ตั้งสติไว้กับกายได้เนือง ๆ
จิตก็จะไม่ค่อยหลุดลอยไป
ไม่หลงไปกับอารมณ์ต่าง ๆ
หลงไป ก็ละ
กลับมาอยู่กับกาย
ตั้งสติไว้กับกายอยู่เนือง ๆ
จนจิตตั้งมั่น เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
ก็จะเข้าสู่ชั้นของฐานเวทนา
อันนี้จะเริ่มเป็นสภาวะธรรมระดับสมาธิแล้ว
พอเป็นสภาวะระดับสมาธิ
จิตก็จะเริ่มอยู่ได้ นิ่งอยู่ได้
อยู่กับสติปัฏฐานภายใน เป็นวิหารธรรม
ก็คือเครื่องอยู่นั่นเอง
ซึ่งในระดับสมาธิ ก็จะมีสภาวะแต่ละระดับ
ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔
รูปฌาน อรูปฌาน
ผู้ที่มีความชำนาญก็จะสามารถปรับวิหารธรรมได้
2
ถ้าว่าโดยวิทยาศาสตร์ เหมือนเราปรับคลื่นความถี่
เหมือนวิทยุที่ปรับคลื่นความถี่ต่าง ๆ ได้
เลือกคลื่นและอยู่กับคลื่นนั้น ๆ
อยู่กับวิหารธรรมนั้น ๆ ได้
1
คำว่า การปรับวิหารธรรมให้เหมาะสม
ก็เพราะว่าแต่ละคนก็ใช้ชีวิตแตกต่าง
ก็มีอารมณ์ มีความรู้สึกต่าง ๆ
บางคนก็นอยด์อยู่
บางคนก็เศร้าอยู่
บางคนก็ขุ่นเคืองใจอยู่
พวกอารมณ์พวกนี้จะเป็นคลื่นที่ไม่เสถียรนั่นเอง
จิตไม่นิ่ง
การปรับวิหารธรรม
ก็เพื่อปรับให้นิ่งขึ้น สมดุลขึ้น
รองรับที่จะเข้าสู่ช่วงการฝึกปฏิบัติต่อไปนั่นเอง ...​ "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
ขอบคุณรูปภาพจาก : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา