2 ต.ค. 2021 เวลา 09:06 • กีฬา
ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการกีฬาโลกในนาทีนี้ คือเรื่อง AIBA ยอมรับแล้วว่า มีการ "โกงผลการแข่งขัน" ในโอลิมปิกที่ริโอ และหนึ่งในไฟต์ที่เกี่ยวข้อง เป็นไฟต์ของนักมวยไทยที่แพ้การชกด้วย เรื่องราวทั้งหมดเป็นอย่างไร เราจะย้อนไปดูด้วยกันตั้งแต่แรก
3
ย้อนกลับไปในโอลิมปิกเกมส์ ที่ริโอ เด จาเนโร ในปี 2016 ในครั้งนั้นกีฬามวยสากลสมัครเล่น ถูกประณามว่า มีการโกงกันอย่างน่าเกลียดมาก เพราะตลอดทัวร์นาเมนต์เต็มไปด้วยไฟต์ที่น่ากังขามากมาย คนที่ชนะควรแพ้ คนที่ควรแพ้ดันชนะ
1
บางคู่ ฝ่ายหนึ่งไล่ยำคู่แข่งเละจนหมดสภาพ แต่กรรมการชูมือให้ฝ่ายโดนยำชนะเฉยเลย
4
และไม่ใช่แค่ 1-2 คู่เท่านั้น แต่มีคนประท้วงรวมแล้วเป็น 10 คู่ ทำให้แฟนๆ กีฬาตั้งคำถามว่า กรรมการให้คะแนนแต่ละคน ใช้อะไรคิด ทำไมตัดสินค้านสายตาประชาชนขนาดนี้
นั่นทำให้ มีเสียงครหาว่า AIBA (ไอบ้า - สมาคมมวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ) ผู้จัดการแข่งขันมวยในโอลิมปิกหนนี้ ได้วางแผนล็อกผลไว้หมดแล้ว ทั้งเรื่องกฏกติกา และเรื่องการวางตัวกรรมการในแต่ละไฟต์
1
เมื่อมีข่าวการโกงและการคอร์รัปชั่นหลุดออกไป ทำให้ฝั่ง IOC (คณะกรรมการโอลิมปิกสากล) ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะข่าวลักษณะนี้ ทำให้กีฬาโอลิมปิกเกมส์มีความหม่นหมอง
1
ดังนั้นในปี 2019 IOC จึงสั่งถอน AIBA ออกจากการทำหน้าที่ "ผู้จัด" มวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียว โดย IOC จะตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อจัดการแข่งขันขึ้นมาเอง
4
รวมถึงกรรมการให้คะแนนทั้ง 36 คนในริโอเกมส์ จะถูกแบนจากการทำหน้าที่ในโอลิมปิกที่โตเกียวอย่างเด็ดขาด โดยฝั่ง IOC จะหากรรมการกลุ่มใหม่เลย ที่ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของ AIBA
2
ในช่วงแรก AIBA ไม่ยอมรับว่ามีการโกงเกิดขึ้น แต่ชี้แจงว่า การให้คะแนน ย่อมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการแต่ละคน ซึ่งมีมุมมองไม่เหมือนกัน บางคนชอบมวยบุก บางคนชอบมวยรับ
1
การถกเถียงกันปากเปล่า ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ดังนั้นฝั่ง IOC ตัดสินใจจ้างศาสตราจารย์ริชาร์ด แม็คลาเรน อาจารย์มหาวิทยาลัยชาวแคนาดา เป็นคนสืบสวนคดีนี้
1
ศาสตราจารย์แม็คลาเรนคือใคร? เขาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนตาริโอ แต่ความโด่งดังของเขา ไม่ได้มาจากงานประจำ ศ.แม็คลาเรน เปิดบริษัทของตัวเองชื่อ Mclaren Global Sports Solutions (MGSS) โดยรับจ้างสืบสวนคดี และดราม่าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาในโลกใบนี้ หรือว่าง่ายๆ แม็คลาเรนคือสุดยอดนักสืบสายกีฬานั่นเอง
5
ลูกค้าของเขา มีทั้งศาลกีฬาโลก ทั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และสมาคมกีฬาต่างๆ ทั่วโลก เพราะผู้คนต่างเชื่อมั่นว่าหากศาสตราจารย์แม็คลาเรน มีข้อสรุปอย่างไร สิ่งนั้นคือความจริง โดยส่วนหนึ่งในผลงานของเขาประกอบด้วย
ในปี 2007 เข้าร่วมการสืบสวน คดีการใช้สารกระตุ้นในเบสบอล MLB บทสรุปคือมีนักกีฬา 89 คน ใช้สารสเตียรอยด์
1
ในปี 2016 สืบสวนว่ารัฐบาลรัสเซียมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการใช้สารกระตุ้นของนักกีฬาหรือไม่ คำตอบคือ เป็นเรื่องจริง นั่นทำให้รัสเซียโดนแบนจากการแข่งโอลิมปิกในครั้งที่ผ่านมา
1
ในปี 2020 สืบสวนคดีประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ แอบรับสินบนเพื่อปกปิดการใช้สารกระตุ้นของบางประเทศ
ดังนั้นกับกรณีว่ามีการโกงเกิดขึ้นหรือไม่ในริโอเกมส์ ฝั่ง IOC จึงให้ ริชาร์ด แม็คลาเรน เป็นคนสืบสวน ซึ่งฝั่ง AIBA ก็โอเค ถ้า ศาสตราจารย์แม็คลาเรน ซึ่งเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดมีข้อสรุปอย่างไร ก็จะยอมรับตามนั้น
หลังใช้เวลาสืบสวนอยู่นาน ในที่สุด วันที่ 30 กันยายน 2021 แม็คลาเรน ก็ส่งรายงานอย่างเป็นทางการ และได้ข้อสรุปคือ "การโกงเกิดขึ้นจริง"
1
นี่ไม่ใช่เรื่องที่แฟนกีฬาคิดไปเอง แต่ทั้งหมดมีการวางแผนทำอย่างเป็นขบวนการ โดยข้อสรุปที่แม็คลาเรนค้นพบ ประกอบด้วย
1
1) AIBA จงใจเปลี่ยนกฎการแข่ง จากเดิมตั้งแต่โอลิมปิกที่บาร์เซโลน่าปี 1992 มาจนถึงลอนดอนเกมส์ ในปี 2012 มวยสากลใช้วิธี "นับหมัด" มาตลอด แต่ตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็น "นับคะแนน" เพื่อให้ง่ายต่อการทุจริตมากขึ้น
2) การทุจริต ในโอลิมปิกที่ริโอ เริ่มต้นตั้งแต่รอบคัดเลือกแล้วที่เปลี่ยนมาใช้การนับคะแนน โดยมีการคอร์รัปชั่นกันตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่บางประเทศจะได้โควต้านักกีฬาไปแข่งรอบสุดท้ายเยอะมาก แต่บางประเทศก็ได้น้อยมาก จริงๆ แทบทุกอย่าง มีการล็อกเอาไว้หมดแล้ว
1
3) การทุจริตจะกระทำผ่านทาง R&Js (AIBA Referees and Judges - ผู้ให้คะแนนและกรรมการบนเวที) เพราะการคอนโทรลนักมวยคุณทำไม่ได้ แต่คอนโทรลคนให้คะแนน เป็นวิธีที่ง่ายกว่ากันมาก
2
4) นายกสมาคมมวยของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต จะสามารถรู้รายชื่อของกรรมการผู้ให้คะแนนล่วงหน้า เพื่อการันตีได้ว่า กรรมการจะไม่ตัดสินผิดแผกไปจากที่ตกลงกันไว้
3
5) ใน 1 ไฟต์ ที่มีการโกงเกิดขึ้น ต้องใช้เงินจ้างคนทั้งระบบ อยู่ในระดับหลักแสนดอลลาร์ จากนั้นก็กระจายเงินให้ทุกคนที่รู้เห็นเป็นใจ ซึ่งมหกรรมโอลิมปิกคือทัวร์นาเมนต์ที่จะทำรายได้ ให้คนในองค์กรอย่างเป็นกอบเป็นกำ และยังเชื่อว่า ตัวเลข 6 หลักที่พบเจอ อาจเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น จริงๆ แต่ละประเทศอาจต้องจ่ายมากกว่านี้
3
6) ประธาน AIBA ชิง กั๊วะ หวู รู้เรื่องทั้งหมดเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับผู้จัดการแข่งขันริโอเกมส์ ที่สนับสนุนให้การทุจริตเกิดขึ้นได้ตลอดทัวร์นาเมนต์
2
7) คาซัคสถาน และ อาเซอร์ไบจัน ให้ไอบ้ากู้เงินพิเศษเพื่อเอาไปพัฒนาองค์กร จำนวนประเทศละ 10 ล้านดอลลาร์ และในริโอ เกมส์ คาซัคสถานได้เหรียญจากมวยไป 5 เหรียญ ส่วนอาเซอร์ไบจันได้ไป 2 เหรียญ
2
8 ) ในปี 2012 มีการทดลองนำไอเดีย The 5-Star Judges หรือ ตัดเกรดผู้ตัดสินมาใช้ในมวยสากลสมัครเล่น โดยกรรมการคนไหนที่ทำผลงานได้ดี ตัดสินไม่ผิดพลาด ก็จะได้ดาวสูงๆ ยิ่งคนได้ดาวสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับความเชื่อถือมากจากแฟนมวย แต่ความจริงแล้วกลุ่ม The 5-Star Judges จำนวนหนึ่งก็รวมอยู่ในขบวนการด้วยเช่นกัน โดยใช้ชื่อเสียงของตัวเอง สร้างความมั่นใจว่า กรรมการคนนี้เขาดังจะตาย เขาไม่โกงหรอก แต่จริงๆ คือโกง
3
9) ไม่รับสินบนถ้าเงินไม่มากพอ ตัวอย่างเช่น ในริโอเกมส์ 2016 มีการจับได้ว่าเจ้าหน้าที่ของมองโกเลีย พยายามยัดสินบนมูลค่า 250,000 ดอลลาร์ ให้ AIBA ก่อนไฟต์รอบรองชนะเลิศ ที่ชกกับนักมวยฝรั่งเศส แต่ได้รับการปฏิเสธไป สุดท้ายนักชกมองโกเลียก็โดนตัดสินให้แพ้ในไฟต์ดังกล่าว
2
10) ออกกฎประหลาดก่อนโอลิมปิกเริ่ม นั่นคือมีกรรมการให้คะแนนทั้งหมด 5 คน แต่ระบบคอมพิวเตอร์จะ Random นับคะแนนจากแค่ 3 คนเท่านั้น ส่วนอีก 2 คน ตัดคะแนนทิ้ง
5
ยกตัวอย่างเช่น
4
กรรมการคนที่ 1 - นักชก A ชนะ
กรรมการคนที่ 2 - นักชก A ชนะ
กรรมการคนที่ 3 - นักชก A ชนะ
กรรมการคนที่ 4 - นักชก B ชนะ
กรรมการคนที่ 5 - นักชก B ชนะ
3
ถ้าคิดคะแนนตามปกติ นับจากกรรมการทั้ง 5 คน นักชก A ก็ควรชนะ 3-2 เสียง แต่ด้วยกฎที่ AIBA ออกแบบมา จะ Random ใช้คะแนนจากกรรมการแค่ 3 คน แปลว่า ถ้าคอมพิวเตอร์ Random นับผลของกรรมการคนที่ 3, 4, 5 และตัดผลของกรรมการคนที่ 1, 2 ทิ้ง ผู้ชนะไฟต์นี้ จะเป็นนักชก B ด้วยคะแนน 2-1 เสียง
3
11) มีถึง 11 ไฟต์ ที่พบว่ามีเกี่ยวพันกับการทุจริต หนึ่งในนั้นคือ รุ่นแบนตั้มเวท รอบ 16 คนสุดท้าย ระหว่างวลาดิเมียร์ นิกิติน จากรัสเซีย ที่เอาชนะฉัตร์ชัย บุตรดี 2-1 เสียง ซึ่งสุดท้ายนิกิติน ฝ่าฟันเข้าไปจนได้เหรียญทองแดงด้วย
เมื่อข้อสรุปจากรายงานของ ศาสตราจารย์แม็คลาเรน ยืนยันแบบนั้น ก็ไม่มีฝ่ายไหนโต้แย้งอีกต่อไป ทุกคนยอมรับความจริงว่าการโกงมวยในโอลิมปิกเกิดขึ้นแล้ว
1
AIBA ทวีตข้อความทันทีว่า "การสืบสวนของ ศาสตราจารย์แม็คลาเรน ได้ผลออกมาแล้วว่ามีการคดโกงในโอลิมปิกที่ริโอเกมส์ เกิดขึ้นจริง และนักมวยทุกคน สมควรได้รับผลการแข่งขันที่ยุติธรรมกว่านี้ ทาง AIBA ยอมรับความจริงที่เคยเกิดขึ้น และเราจะลงมือแก้ไขทันที โดย AIBA จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับความผิดพลาดในอดีต เพื่อสร้างอนาคตใหม่ไปด้วยกันกับทุกคน"
2
ฝั่ง AIBA ชี้แจงว่า ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น เป็นของผู้บริหารสมาคมยุคเก่า ไม่ว่าจะเป็น อดีตประธาน ชิง กั๊วะ หวู , อดีตผู้บริหารระดับสูงคาริม บูซิดี้ และ กรรมการผู้ตัดสินทั้ง 36 คน ที่ลักลอบฮั้วกัน แต่ทุกคนที่กล่าวมา โดนเด้งออกจากสมาคมไปหมดแล้ว ไม่มีบทบาทกับวงการมวยสากลสมัครเล่นอีกต่อไป
4
อูมาร์ เครมเลฟ ประธาน AIBA คนปัจจุบันกล่าวว่า ความผิดที่เกิดขึ้น ทางสมาคมจริงใจที่จะแก้ไข ไม่ให้เกิดซ้ำ ยุคอดีตอันมืดมิดได้ผ่านไปแล้ว ตอนนี้ AIBA พยายามจะล้างมลมิน เพื่อกลับมาเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถืออีกครั้ง
1
เรื่องวิธีการให้คะแนน คงกลับไปใช้วิธีการนับหมัดเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะต้องการให้มวยสากลสมัครเล่น กับมวยสากลอาชีพ ใช้กฎกติกาเดียวกัน นั่นคือ 10-Point Scoring System หรือ กฎใครชกดีกว่าแต่ละยกให้ 10 คะแนน คนที่ต่อยแย่กว่าก็ได้ 9
1
แต่ก็ไม่ได้นิ่งเฉยไปอย่างนั้น โดยไม่คิดแก้ไขอะไร AIBA มีความพยายามปรับกฎให้มีความยุติธรรมขึ้น เช่น ใช้กฎ Live-Scoring คือพอหมดยกปั๊บ ในสนามต้องโชว์คะแนนของกรรมการทั้ง 5 คน ทันที ว่าให้คะแนนใครเท่าไหร่บ้าง
3
ตามด้วยกฎ The Bout Review คือหลังต่อยเสร็จ ผู้จัดการทีมของนักมวยฝั่งที่แพ้ มีเวลา 15 นาที เพื่อขอทำการประท้วง และกรรมการทั้ง 5 คน จะรีวิวดูการชกใหม่อีกครั้ง เพื่อให้คะแนนอีกรอบ
เมื่อรายงานของแม็คลาเรน ถูกเปิดเผยออกมา แน่นอนว่า AIBA โดนด่ากระจุย แต่สิ่งที่ผู้คนจับตามองมากกว่า อยู่ที่ฝั่งของ IOC ว่าเมื่อรู้ชัดเจนว่ามีการโกงเกิดขึ้นแบบนี้ ในสเต็ปต่อไปจะทำอย่างไร จะยอมให้มีมวยสากลต่อไปในโอลิมปิกปี 2024 ที่ปารีสหรือเปล่า และถ้ามี จะยอมปลดล็อกโทษแบนให้ AIBA เป็นผู้จัดการแข่งขันหรือไม่ เรื่องนี้ก็ยังไม่สามารถตอบได้
1
จริงๆ แล้ว ประเทศไทยของเรา ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการโกงมวยสากลสมัครเล่นในริโอเกมส์
3
จากประวัติศาสตร์ของเราระบุว่า นับตั้งแต่พเยาว์ พูนธรัตน์ ได้เหรียญโอลิมปิกในปี 1976 ที่มอนทรีออล หลังจากนั้นเป็นต้นมา นักมวยสากลสมัครเล่นของไทย ได้เหรียญ "ทุกครั้ง" ทองบ้าง เงินบ้าง ทองแดงบ้าง โดยนับจากปี 1976 ถึงปี 2021 มีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ที่ทีมมวยของเราไม่ได้เหรียญอะไรเลย นั่นคือ ริโอเกมส์ ปี 2016
5
นักมวยสากลสมัครเล่นของไทยชุดนั้น มีทั้งหมด 5 คน ประกอบไปด้วย ฉัตร์ชัย บุตรดี (แบนตั้มเวท), อำนาจ รื่นเริง (ไลท์เวท), วุฒิชัย มาสุข (ไลท์เวลเตอร์เวท), สายลม อาดี (เวลเตอร์เวท) และ เปี่ยมวิไล เล่าเปี่ยม (ฟลายเวทหญิง)
3
ไม่ได้บอกว่าทีมมวยสากลสมัครเล่นของไทยทั้ง 5 คนที่กล่าวมา เก่งกาจเป็นเทพ แต่ถ้าได้สู้กันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมเหมือนในโอลิมปิกครั้งที่ผ่านๆ มา ว่ากันตรงๆ คือโอกาสของทั้ง 5 คนนี้ มันย่อมมีมากกว่านี้จริงๆ
2
แต่ในริโอเกมส์ พวกเขาต้องขึ้นชกในสถานการณ์ที่กรรมการมีคำตัดสินในใจไว้ก่อนแล้ว บวกกับต้องเจอกฎกติกาเพี้ยนๆ (นับคะแนนแค่ 3 จาก 5 คน) ถ้าหากสุดท้ายได้เหรียญมาจริงๆ ก็เกินกว่ามหัศจรรย์แล้วล่ะ ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายเราก็เลยต้องเจอความผิดหวังในตอนจบ
3
ก็ได้แต่หวังว่าในโอลิมปิกครั้งต่อไปที่ปารีส ในปี 2024 คราวนี้เมื่อนักชกไทยมีเวลาเตรียมพร้อมมากขึ้น และไม่มีปัญหาเรื่องการคดโกงใดๆ อีกแล้ว เราจะมีโอกาสลุ้นเหรียญใหญ่ๆ จากมวยสากลสมัครเล่น มากกว่าทั้งริโอเกมส์ 2016 และ โตเกียวเกมส์ 2020
บทสรุปของเรื่องนี้ ก็ต้องดูว่าฝั่ง IOC จะว่าอย่างไรต่อ รวมถึงต้องติดตามต่อไปด้วยว่า มวยสากลสมัครเล่นยุคใหม่จะโปร่งใสได้มากขนาดไหน
คือก็อย่างว่า กีฬาที่ใช้การนับคะแนนด้วยดุลยพินิจของกรรมการ มันก็มีช่องให้โกงกันได้เสมอ แต่สิ่งที่ต้องเตือนใจไว้เลยก็คือ ถ้ามีการทุจริตแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ใครจะรู้ มวยสากลอาจจะหลุดจากโอลิมปิกไปเลยตลอดกาล อย่าลืมว่ามีกีฬาชนิดอื่นๆ รอจ่อคิวอยู่เพียบ
เพราะถ้าหากคุณไม่สามารถจัดแข่งขันด้วยความยุติธรรมได้ ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมีกีฬาชนิดนี้อยู่ในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินี่ จริงไหม
1
#FIXING
โฆษณา