4 ต.ค. 2021 เวลา 03:09 • หนังสือ
สรุปหนังสือที่นวัตกรทุกคนควรอ่าน “Innovator’s DNA”
ภาพถ่ายโดย Dmitriy Ganin จาก Pexels
นวัตกรเก่ง ๆ เช่น สตีฟ จอบส์ , อีลอน มัสก์ , เจฟฟ์ เบโซส หาสุดยอดไอเดียในการสร้างนวัตกรรมจากที่ไหน
หนังสือ Innovator’s DNA Mastering the Five Skills of Disruptive Innovators ของ Jeff Dyer และ Hal Gregersen อธิบายการหาไอเดียของสุดยอดนวัตกรเหล่านี้ และเป็นหนังสือที่ผมใช้ประกอบการสอนวิชา GenEd ของจุฬาฯ ชื่อ Innovative Thinking มาเกือบสิบปี
บทความนี้สรุปเนื้อหาสำคัญของ Innovator’s DNA ว่า ทักษะสำคัญของนวัตกรเก่ง ๆ มีอะไรบ้างครับ
หน้าปกหนังสือ Innovator’s DNA Second Edition
แนวคิดสำคัญของ Innovator’s DNA
จุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมคือ การมีไอเดีย ซึ่ง Innovator’s DNA โฟกัสที่เรื่องการหาไอเดีย หรือเรียกอีกอย่างว่า Discovery skills
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากสมองเท่านั้น แต่เกิดจากพฤติกรรมด้วย ถ้าเราเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ด้วย
หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า นวัตกรได้ความคิดสร้างสรรค์มาจากที่ไหน แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการทดสอบไอเดียและการนำไปใช้ทางธุรกิจ ซึ่งจะกล่าวในหนังสือเล่มอื่น
Value proposition ของเล่มนี้คือ วิธีฝึกความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้อ่านใช้ได้ในโลกธุรกิจหรือการทำงาน ด้วยการศึกษาวิธีทำงานแบบเป็นระบบของนวัตกรชื่อดังในบริษัทที่มีชื่อเสียง
ข้อมูลในการวิจัย Innovator’s DNA
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อยากทราบว่า นวัตกรได้ไอเดียจากที่ไหน ใช้เวลาศึกษา 8 ปีในการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลนวัตกรประมาณ 500 คน เช่น เจฟฟ์ เบโซส , อีลอน มัสก์ , ซีอีโอบริษัทต่าง ๆ และหนังสืออัตชีวประวัติของสตีฟ จอบส์ , เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน , โฮเวิร์ด ชูลทส์ เป็นต้น
นวัตกรรมคืออะไร
นวัตกรรมเป็นการนำความคิดสร้างสรรค์มาเปลี่ยนเป็นผลงานที่สร้างผลตอบแทนทางรายได้ หรือเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม (team sport) ต้องมีทั้งความคิดสร้างสรรค์ (innovation skills) และการทำงาน (execution skills) เพื่อสร้างนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จ
นวัตกรรมแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. Growth innovation เป็นนวัตกรรมที่ดีกว่าเดิม ง่ายขึ้น ราคาถูกลง เช่น ตู้เย็นขนาดเล็กของอินเดียที่ไม่ต้องเสียบปลั๊ก มีแบตในตัว และใช้บุรุษไปรษณีย์เป็นตัวกลางในการติดต่อลูกค้า
2. Efficiency innovation เช่น แทนที่จะไปร้านหนังสือ ก็สั่งซื้อหนังสือจาก Amazon ทางออนไลน์แทน
3. Sustaining innovation เช่น การพัฒนาทีวีพลาสมาให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้สร้าง new growth เพราะยังเป็นผลิตภัณฑ์แบบเดิม
1 และ 2 คือ Disruptive Innovation ดังนั้น Innovator’s DNA สนใจการสร้างนวัตกรรมแบบข้อ 1 และ 2
จุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรม
1. Passion หรือความชอบ เช่น เซอร์ ริชาร์ด แบรนสันสนใจเรื่องอวกาศ เพราะเห็นคนเหยียบดวงจันทร์
2. ปัญหาในการทำงานหรือปัญหาส่วนตัวที่ยังไม่มีใครแก้ไขเรื่องนั้น
Delivery skills หรือทักษะการทำงาน
บริษัทส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีนวัตกรรม เพราะผู้บริหารเก่งเรื่อง delivery skills ซึ่งเน้นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่เก่งเรื่อง discovery skills ซึ่งเป็นทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์
เครื่องไอพอด (Credit : wikimediacommons)
Associational Thinking หรือความคิดเชื่อมโยง
เป็นการนำไอเดีย 2 อย่างที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกันมาก่อน มารวมเข้าด้วยกัน เช่น ไอพอดคือ flywheel design ที่ใช้ไอเดียจากล็อกกุญแจ
ทักษะที่ส่งเสริมความคิดเชื่อมโยง คือ การตั้งคำถาม การสังเกต การทดลอง ปฏิสัมพันธ์
โฆษณาของแอปเปิลพูดเรื่อง Think Different แต่ในทางปฏิบัติแล้ว Act different มาก่อน Think different หมายความว่า ถ้าอยากคิดแตกต่างไม่เหมือนเดิม ก็ต้องมีการกระทำที่ไม่เหมือนเดิม
วิธีฝึกฝนความคิดเชื่อมโยง เช่น
1. ใช้เทคนิค Random stimulation เช่น พลิกหนังสือ หรือดู Wiki แบบสุ่ม ๆ ว่าคำที่เจอช่วยกระตุ้นไอเดียอะไรบ้าง
2. ใช้การเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย เช่น เปรียบเทียบการดูทีวีเหมือนการพลิกแมกกาซีน หรือ การสร้าง Uber of X
3. สร้าง “กล่องน่าสนใจ” ที่เก็บสิ่งของแปลก ๆ ที่ได้จากการเดินทาง เพื่อกระตุ้นไอเดีย เช่น บริษัท IDEO มี Tech Box ที่รวบรวมของเล่นหรืออุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ
4. ใช้เทคนิค SCAMPER
ภาพถ่ายโดย Amina Filkins จาก Pexels
การตั้งคำถาม (Questioning)
คำถามที่ดีจะมีการตั้งข้อจำกัด (impose constraint) เช่น
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราถูกห้ามทำธุรกิจกับลูกค้าบางกลุ่ม
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรามีข้อจำกัดบางอย่าง
คำถามอีกแนวหนึ่งคือ การตัดข้อจำกัดออกไป (eliminate constraint) เช่น “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรามีงบไม่จำกัด เราจะผลิดสินค้าอะไรได้บ้าง”
คำถามเหล่านี้จะกระตุ้นให้เราคิดนอกกรอบ คิดวิธีใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม และควรเป็นคำถามปลายเปิดที่มีได้หลายคำตอบ
การตั้งคำถามมีหลายวิธี เช่น What if , What caused , Why , Why not , Questionstorming หรือการระดมคำถาม ซึ่งเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาที่สนใจ
หนังสือเล่าว่า มีผู้อ่านคนหนึ่งที่ใช้เทคนิคการระดมคำถาม ด้วยการเขียนคำถามวันละ 15–20 คำถามทุกวัน ทำให้เกิดความคิดทางกลยุทธ์ เสนอไอเดียแปลกใหม่ จนในที่สุด ก็ได้ขึ้นเงินเดือน เพราะหัวหน้าเห็นความสามารถ
ตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดจากการตั้งคำถาม
ลูกสาวของ Edwin Land ถามว่า ทำไมถ่ายรูปแล้ว จึงไม่ได้ภาพทันที ทำให้ Edwin Land เกิดแนวคิดเรื่องกล้องอินสแตนท์หรือกล้องโพลารอยด์
ทำไมเรากลัวการตั้งคำถาม
1. กลัวคนอื่นว่าเราว่าโง่
2. กลัวคนอื่นหาว่า ไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่นับถือผู้ใหญ่
องค์กร ประเทศ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม มีผลอย่างมากต่อการหาไอเดีย เช่น คนที่ไม่กล้าตั้งคำถามหัวหน้า จะมีโอกาสน้อยกว่าในการสร้างนวัตกรรม เพราะจะทำแบบเดิม ๆ ไม่กล้าทำอะไรใหม่
ภาพถ่ายโดย MART PRODUCTION จาก Pexels
การสังเกต
บริษัท IDEO บอกว่า นวัตกรรมเริ่มต้นจากดวงตาหรือ innovation begin with an eye
การสังเกตทำให้เราเห็นเรื่องที่เรานึกไม่ถึง ทำให้เกิดไอเดียแปลกใหม่ได้
สิ่งที่เราควรสังเกต ได้แก่ 3C คือ ลูกค้า (customer), บริษัท (companies & competitors) และประเทศอื่น (countries)
วิธีฝึกสังเกต เช่น
- สังเกตพฤติกรรมลูกค้า
- สังเกตอะไรก็ได้วันละ 10 นาที
- สังเกตบริษัทที่เป็นคู่แข่งหรือ role model ว่ามีการทำงานอย่างไร
- สังเกตโดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด
เจฟฟ์ เบโซส ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ บริการ นวัตกรรม “ไม่ได้เรื่อง” เพื่อหาไอเดียในการปรับปรุงสิ่งนั้นให้ดีขึ้น
ตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดจากการสังเกต เช่น
- บริษัท IDEO สังเกตการใช้แปรงสีฟันของเด็กเล็ก พบว่า แปรงสีฟันของเด็กเล็กคือแปรงสีฟันของผู้ใหญ่ที่มีขนาดเล็ก แต่ไม่ได้ออกแบบให้เหมาะกับเด็กเล็กอย่างแท้จริง ทำให้เกิดไอเดียในการปรับปรุงแปรงสีฟันให้เหมาะกับเด็กเล็ก
-เจฟฟ์ เบโซสสังเกตการเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดไอเดียของ Amazon
- การเปลี่ยนจากเครื่อง MRI ที่เป็นประสบการณ์น่ากลัวของเด็ก ให้เป็นสิ่งที่เด็กสนุก เช่น ทาสีเครื่อง MRI เป็นเรือโจรสลัด เกิดจากการสังเกตพฤติกรรมเด็กว่า ชอบเล่นอะไร สนุกกับอะไร
ภาพถ่ายโดย Anthony Shkraba จาก Pexels
การทดลอง (Experiment)
1. การหาประสบการณ์ใหม่ หรือ การเรียนรู้เรื่องใหม่ เช่น สตีฟ จอบส์เรียนอักษรวิจิตร แล้วนำมาใช้ในการออกแบบฟอนต์ของเครื่องแมค
2. การชำแหละ แยกชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ บริการ เพื่อเข้าใจให้ดีขึ้น เช่น ไมเคิล เดล ถอดเครื่องคอมพิวเตอร์ตอนสมัยเป็นวัยรุ่น แล้วเห็นว่า การนำชิ้นส่วนมาประกอบด้วยตนเอง ราคาถูกกว่าซื้อทั้งเครื่องมาก จนเกิดไอเดียทำบริษัท Dell สร้างคอมพิวเตอร์ตามที่ลูกค้าสั่ง
3. การทำต้นแบบ การทำโครงการขนาดเล็ก
ภาพถ่ายโดย Kampus Production จาก Pexels
ปฏิสัมพันธ์ (Networking)
ปฏิสัมพันธ์ คือการคุยกับคนที่มีประสบการณ์ มุมมองหลากหลายที่แตกต่างจากเรา
ตัวอย่างของปฏิสัมพันธ์คือ การรู้จักคนที่มีข้อมูลหรือทรัพยากรในเรื่องที่เราต้องการหรือขอความช่วยเหลือ เรียกว่า Resource networking
แต่สิ่งที่ Innovator’s DNA แนะนำคือ ปฏิสัมพันธ์ด้านไอเดีย (Idea Networking) เช่น Peter Thiel ผู้ก่อตั้ง Paypal รู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการรหัสลับ (cryptography) ทำให้เกิดไอเดีย Paypal
วิธีฝึกปฏิสัมพันธ์ด้านไอเดีย เช่น ไปร่วมงานนอกวงการตัวเองหรือไม่ได้อยู่ในศาสตร์ของตัวเอง , ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ , ทำ mastermind group
ควรรู้จักคนที่แตกต่างจากเรา หรือสังสรรค์กับคนที่แตกต่างจากตัวเองบ้าง เพื่อจะได้ทราบมุมมองที่แตกต่างออกไป เช่น ติดขัดปัญหาเรื่องใด ก็ถามความเห็นจากคนอื่นที่มีประสบการณ์แตกต่างจากเรา
ทักษะนวัตกรของสตีฟ จอบส์
GUI (Graphical User Interface) ของเครื่องแมคเกิดจากการที่จอบส์สังเกตที่ XEROX PARC เป็นทักษะด้านการสังเกต
Desktop publishing ในเครื่องแมค เกิดจากการที่จอบส์เคยเรียนอักษรวิจิตรมาก่อน เป็นทักษะด้านการทดลอง
เราควรเน้นทักษะด้านไหน
เราควรเก่งเป็นเลิศในทักษะ 1 เรื่อง และยอดเยี่ยมอีก 2 ทักษะ ซึ่งเป็นทักษะที่ง่ายหรือเป็นธรรมชาติของเรา เหมือนอยู่ในดีเอ็นเอของเรา
หนังสือเล่มนี้ใช้คำว่า Innovator’s DNA ก็เพราะต้องการเน้นทักษะนวัตกรที่เป็นธรรมชาติของผู้อ่าน แต่ไม่ได้หมายความว่า ความคิดสร้างสรรค์จะอยู่ในยีนหรือเป็นกรรมพันธุ์
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา