25 ต.ค. 2021 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
โซโลมอน แอสช์ : ทำไมมนุษย์จึงไม่กล้าแตกแถว แม้เดินบนเส้นทางที่ผิด
บางครั้งที่เราสงสัยว่า ความจริงอยู่ตรงหน้า ชัดอยู่แล้วว่าอะไรผิดถูก แต่เหตุใดโลกใบนี้กลับมีกลุ่มคนที่เลือกต่อแถวเดินบนเส้นทางที่ผิด แถมยังไม่กล้า ‘แตกแถว’ อีกต่างหาก
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1930 โซโลมอน แอสช์ (Solomon Asch) นักจิตวิทยาสังคมชาวโปแลนด์-อเมริกัน ก็ตั้งคำถามนี้เช่นเดียวกัน
โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) และการปลุกใจของฮิตเลอร์ในกลุ่มชาวนาซี ทำให้แอสช์เริ่มสงสัยว่าแรงกดดันทางสังคมหรือเสียงของคนส่วนใหญ่จะทำให้มนุษย์คล้อยตามกันได้มากน้อยแค่ไหน เขาจึงเริ่มทำการทดลองจิตวิทยาแห่งการคล้อยตาม (Asch’s Conformity Experiment) ขึ้นในปี ค.ศ. 1951 ซึ่งการทดลองนี้เป็นแรงบันดาลใจให้สแตนลีย์ มิลแกรม ทำการทดลองสุดคลาสสิกเกี่ยวกับการคล้อยตามผู้มีอำนาจในเวลาต่อมา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://thepeople.co/stanley-milgram-experiment/ )
เริ่มต้นการทดลอง
แอสช์เริ่มจากการชวนหนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย 50 คนเข้ามาร่วมทดลอง โดยบอกว่าเป็นการทดสอบการรับรู้ทางสายตา
แต่ละห้องจะมีผู้เข้าร่วมการทดลอง 7-9 คนนั่งเรียงหน้ากระดานเตรียมตอบคำถาม โดยมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่เป็น ‘ผู้เข้าร่วมการทดลองจริง’ ส่วนคนที่เหลือคือ ‘หน้าม้าที่นัดกันมาตอบผิด’
จากนั้นแอสช์จะให้ผู้เข้าร่วมการทดลองตอบคำถามทีละคนอย่างเสียงดังฟังชัดว่า ‘เส้นตรงที่กำหนดให้ มีขนาดเท่ากับเส้นตรงไหน 3 ตัวเลือกนี้ ?’ โดยแอสช์ตั้งใจให้ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ตอบคำถามเป็นคนท้าย ๆ และตั้งใจให้เส้นตรงแต่ละเส้นมีความยาวต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการทดลองตอบคำถามได้ และรู้สึกว่าแบบทดสอบนี้ช่างง่ายแสนง่าย
เมื่อเริ่มถาม 2 ข้อแรก หน้าม้าทุกคนหลอกให้ผู้เข้าร่วมการทดลองตายใจ ด้วยการเลือกตอบข้อที่ถูกต้องอย่างเป็นเอกฉันท์ และเมื่อมาถึงข้อที่ 3 หน้าม้าทุกคนเริ่มพร้อมใจกันเลือกตอบข้อที่ผิดอย่างเห็นได้ชัด เช่น หากคำตอบคือเส้นที่สั้นที่สุด แต่หน้าม้า ‘ทุกคน’ เลือกตอบเส้นที่ยาวที่สุด เพื่อดูว่าผู้เข้าร่วมการทดลองจะยอมตอบผิดตามไปด้วยหรือไม่
แอสช์ตกลงกับหน้าม้าว่าให้ทุกคนตอบผิดแบบนี้ติดต่อกัน 18 ครั้ง ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการทดลองตอบผิดตามหน้าม้าถึง 12 ครั้ง และเกือบ 75% ยอมตอบผิดตามหน้าม้าอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แม้กระทั่งข้อที่เส้นตรงในตัวเลือกที่ถูกกับตัวเลือกที่ผิดมีความยาวต่างกันถึง 7 นิ้ว แต่ผู้เข้าร่วมการทดลองก็ยังเลือกข้อที่ผิดตามหน้าม้า
ส่วนกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้มีหน้าม้าอยู่ในห้องด้วยและได้โจทย์เดียวกัน ตอบผิดแค่เพียง 1% เท่านั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์ มากกว่าหลักฐานที่เป็นรูปธรรม (concrete evidence)
เหตุผลที่คนไม่กล้าแตกแถว
หลังจบการทดลอง พวกเขาให้สัมภาษณ์ว่า จริง ๆ แล้วตัวเองไม่ได้เชื่อคำตอบของหน้าม้าคนอื่น ๆ แต่ก็ยอมตอบผิดตามเพราะกลัวว่าถ้าตอบสิ่งที่ต่างออกไปแล้วจะกลายเป็นตัวตลก รู้สึกแปลกแยกหรือไม่ได้รับการยอมรับ มีเพียงไม่กี่คนที่เชื่อคำตอบของหน้าม้าจริง ๆ
นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำตามเสียงส่วนใหญ่ อย่างแรกคือ ‘จำนวนหน้าม้าที่ตอบผิด’ ยิ่งมีคนตอบผิดเยอะหรือคำตอบเป็นเอกฉันท์มากเท่าไร ยิ่งทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองยอมตอบผิดตามคนอื่นมากขึ้นเท่านั้น
อย่างที่สองคือ ‘ความยากและความซับซ้อนของงาน’ เช่น ถ้าทำให้เส้นตรงทั้งสามตัวเลือกมีความยาวใกล้เคียงกันมาก ๆ จนแยกไม่ออก ผู้เข้าร่วมการทดลองก็มีแนวโน้มจะตอบตามเสียงส่วนมาก เพราะเมื่อมนุษย์เกิดความไม่รู้และไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน พวกเขาจะมองหาความถูกต้องจากความคิดเห็นของคนอื่น ๆ เพื่อยืนยันว่าความคิดของตัวเองถูกต้อง (ข้อนี้อาจเป็นหนึ่งในคำอธิบายว่าทำไมโฆษณาชวนเชื่อหรือ propaganda ต่าง ๆ จึงได้ผล เพราะเมื่อความกลัวผนวกรวมกับความไม่รู้ ผู้คนจะมองหา ‘ความถูกต้อง’ จากเสียงของคนส่วนใหญ่)
ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลคือ ‘การเปิดเผยคำตอบ’ เมื่อผู้เข้าร่วมตอบคำถามโดยไม่ต้องเปิดเผยคำตอบของตัวเองให้คนอื่นรู้ การตอบผิดจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ได้มีแรงกดดันทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง
ควบคุมการกระทำ แต่ไม่อาจควบคุมความคิด
แน่นอนว่าการทดลองทุกอย่างย่อมมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับการทดลองของแอสช์ที่ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นผู้ชายทั้งหมด แถมยังมีช่วงอายุที่ไม่หลากหลาย แต่อย่างน้อยการทดลองนี้ก็พอจะสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์มีความสามารถในการคิด ลึก ๆ แล้วรู้ว่าอะไรถูกหรือผิด แต่เมื่อคนส่วนใหญ่รอบตัวชี้ผิดเป็นถูก ก็อาจทำให้คนคนหนึ่งลงมือทำเรื่องที่ผิดได้อย่างไม่ลังเล
แต่การคล้อยตามรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง ‘การกระทำ’ ไม่อาจควบคุมไปจนถึง ‘ความคิดหรือความเชื่อ’ ของมนุษย์ได้ ฉะนั้นแม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะกดดันให้พวกเขา ‘ทำ’ หรือ ‘แสดงออก’ อย่างไร แต่มนุษย์ย่อมมีความสามารถในการคิด มีอิสระในการเชื่อตามเหตุผลและหลักความเป็นจริงอยู่เช่นเดิม
นอกจากนี้แอสช์ยังพบว่าหากมีหน้าม้าตอบตัวเลือกที่ถูกเพิ่มมาเพียงหนึ่งคน ก็ช่วยลดการคล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ลงแล้ว นั่นแสดงว่า ขณะที่ต่อแถวเดินบนเส้นทางที่ผิด บางครั้งเราอาจจะต้องการเพียงคนแรกที่กล้าพอจะ ‘แตกแถว’ เริ่มทำสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งหนึ่งเสียงเล็ก ๆ นั้นอาจเป็นความหวังหรือเป็นการจุดประกายความกล้าหาญให้คนอื่น ๆ อีกจำนวนมากยอมแตกแถวออกมาทำสิ่งที่ถูกต้องก็เป็นได้
เรื่อง ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
ที่มา
#ThePeople #Psychology #SolomonAsch
โฆษณา