7 ต.ค. 2021 เวลา 09:44 • ประวัติศาสตร์
วันนี้ในอดีต…
131 ปี กรมบัญชีกลาง
ย้อนกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ได้มีการตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
กำหนดให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีหน้าที่จ่าย รักษาเงินแผ่นดินทั้งสรรพ ราชสมบัติพัสดุทั้งปวง กับถือบัญชีพระราชทรัพย์ รับผิดชอบสำหรับแผ่นดินทั้งสิ้นและเก็บภาษีอากร โดยแบ่งงานออกเป็น 13 กรม เพื่อให้เป็นระบบตามแบบสากลและแบ่งกรมตามภารกิจงานที่แตกต่างกันออกไป อย่างชัดเจน
ประกอบด้วย
“กรมเจ้ากระทรวง” 5 กรม ได้แก่ กรมพระคลังกลาง กรมสารบาญชี กรมตรวจ กรมเก็บ และกรมพระคลังข้างที่
“กรมขึ้น” 8 กรม แบ่งเป็น กรมเก็บภาษีอากร 5 กรม ได้แก่ กรมส่วย กรมสรรพากร กรมสรรพภาษี กรมที่ดิน และกรมศุลกากร
กรมทำการแผ่นดิน 3 กรม ได้แก่ กรมกระสาปน์สิทธิการ กรมงานพิมพ์บัตร และกรมราชพัสดุ
กรมสารบาญชี" หรือ กรมบัญชีกลางในปัจจุบันจึงถือกำเนิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 มีหน้าที่รับจ่ายเงินแผ่นดินและถือสารบาญชีพระราชทรัพย์ทั้งหมด โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร (เอม ณ มหาชัย) เป็นอธิบดีกรมสารบาญชีคนแรกรับผิดชอบการทั้งปวง และมีรองอธิบดีสำหรับช่วยการแทน และมีนายเวร 4 นาย คือ
เวรรับ ทำหน้าที่รับเงิน หรือราชสมบัติทั้งปวง
เวรจ่าย ทำหน้าที่จ่ายเงิน หรือราชสมบัติทั้งปวง
เวรแบงก์ ทำบาญชีเงินรับจ่ายในนานาประเทศ  และเป็นธุรการแลกเปลี่ยน
เวรบาญชี  ทำหน้าที่รักษาบาญชีพระราชทรัพย์ บาญชีรายงบประมาณ บาญชีหนี้หลวง และใบเบิก ใบนำ ใบเสร็จ ทั้งเร่งหนี้หลวง
ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดินขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2458 โดยให้รวม “กรมตรวจ" และ “กรมสารบาญชี" เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมบาญชีกลาง" เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2458
ในคราวนี้ทำให้กรมบาญชีกลางมีภารกิจหนักขึ้น โดยเป็นทั้งผู้รวบรวมประมวลบัญชีเงินรายได้และรายจ่ายของแผ่นดิน วางรูปและแนะนำการบัญชีแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำการเบิกจ่าย เก็บเงินผลประโยชน์ รักษาเงินแผ่นดิน สอบสวน การเบิกจ่ายในราชการแผ่นดิน รวมถึงการสอบสวนและตักเตือนเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ทำการเก็บเงินผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดินนำส่งพระคลังอีกด้วย
และได้เปลี่ยนชื่อจาก กรมบาญชีกลาง เป็น “กรมบัญชีกลาง" เมื่อ พ.ศ. 2476 เพื่อสะท้อนภาระงานให้ชัดเจน
ตั้งแต่อดีต มีแสตมป์ที่พิมพ์ออกมาเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระวันสถาปนากรมบัญชีกลางด้วยกัน 2 ครั้งคือ
แสตมป์ 100 ปี กรมบัญชีกลาง
วันแรกจำหน่าย 3 ตุลาคม 2533
พิมพ์ที่ Leigh-Mardon PYT., Ltd., Australia
ขนาดฟันแสตมป์ : 14 3/4 x 14
ขนาด : 27 x 45 มิลลิเมตร
วิธีการพิมพ์ : ลิโธกราฟี่
แสตมป์ 100 ปี กรมบัญชีกลาง
จัดพิมพ์ชนิดราคา 2 บาท จำนวน 3,000,000 ดวง
เป็นภาพแสดงให้เห็นการทำงานส่วนหนึ่งของกรมบัญชีกลาง และเอกสารนำส่งเงินรายได้แผ่นดิน ทั้งหมดอยู่ในเลข 100
ส่วนอีกชุดคือ แสตมป์ 120 ปี กรมบัญชีกลาง ออกจำหน่ายวันแรก 7 ตุลาคม 2553
พิมพ์ที่ Thai British Security Printing Public Company Limited, Thailand
ขนาดฟันแสตมป์ : 14 1/2 x 14
ขนาด : 48 x 30 มิลลิเมตร
วิธีการพิมพ์ : ลิโธกราฟี่
แสตมป์ 120 ปี กรมบัญชีกลาง
จัดพิมพ์ชนิดราคา 3 บาท จำนวน 700,000 ดวง
เป็นภาพนกวายุภักษ์ ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมบัญชีกลาง ภาพกำปั่นใส่เงินสำหรับเก็บรักษาหรือขนย้ายตัวเงินในอดีตของกรมบัญชีกลาง ภาพแป้นพิมพ์ และเส้นกราฟแสดงถึง การพัฒนาการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในปฏิบัติงานซึ่งส่งผลให้การบริหารงานการคลังภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โฆษณา