10 ต.ค. 2021 เวลา 05:50 • ปรัชญา
"สมาธิแบบพุทธ"
สัมมาสมาธิที่พระพุทธองค์ประกาศไว้
ในอริยมรรคมีองค์ 8 ข้อปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความดับสนิทแห่งทุกข์
ต่างจากสมาธิทั่วไปตรงที่
เป็นสมาธิที่ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะ
ประกอบด้วยสัมมาที่เหลืออีก 7 องค์
เป็นไปเพื่อการคลายกำหนัด คลายความยึดถือ
เกิดสัมมาทิฏฐิอันเป็นโลกุตตระ
จนกระทั่งเกิดสัมมาญาน และสัมมาวิมุตติ
เข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น ความดับสนิทแห่งทุกข์
...
มันพลิกกันนิดเดียว
ตัวแปรที่สำคัญ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
1
ผู้บรรลุธรรมส่วนมากในสมัยพุทธกาล
นักบวช ฤาษีชีไพร
มีการฝึกฝนตนอยู่แล้ว สัมมาข้ออื่น ๆ มีกันอยู่แล้ว
เนกขัมมะออกจากกาม บำเพ็ญความเพียร
แสวงหาทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์กันเป็นทุนเดิม
คฤหัสถ์ฆราวาสก็เป็นผู้มีศีลมีธรรมเป็นปกติในชีวิต
แม้จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
พอได้ยินได้ฟังธรรม น้อมนำไปปฎิบัติ
จึงเกิดการเข้าถึงธรรมได้ไม่ยาก
1
สิ่งหนึ่งที่พบต่อท้ายหลากพระสูตร หลายเหตุการณ์ คือ
:
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
1
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
ดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางให้แก่คนหลงทางหรือส่องไฟในที่มืด
ด้วยหวังว่าคนมีจักษุ จักเห็นรูป
ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
กับทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดทรงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"
...
ข้อสังเกต : ทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
"เหตุที่คนส่วนใหญ่ ทำสมาธิล้มเหลว"
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิ
คือของวิเศษนอกจิต
ไม่เข้าใจว่า
สมาธิ คือจิตชนิดหนึ่ง
เป็นดวงจิตดวงหนึ่ง
และตราบเท่าที่ยังไม่เข้าใจให้ถูก
ก็จะลากจูงความเข้าใจผิดชนิดอื่นๆให้ตามมา
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิ
จะเกิดขึ้นต่อเมื่อกักตัว นั่งหลับตา
ทำท่าเคร่งขรึมสักครึ่งชั่วโมง
ไม่เข้าใจว่า
สมาธิ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ
คนคนหนึ่งฝึกจิตของตนทุกชั่วโมง
ให้ชินกับการโฟกัสสิ่งที่กำลังอยู่ตรงหน้า
ไม่ปล่อยใจให้วอกแวกง่าย
ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน อิริยาบถใด
จะกำลังทำงาน หรือกำลังเล่นสนุกก็ตาม
ความเข้าใจผิด หลงคิดไปว่า
‘การทำสมาธิ’ เริ่มต้นต่อเมื่อหลับตาหน้าหิ้งพระ
ทำให้พลอยหลงนึกว่า
ไม่ต้องมีต้นทุนจากที่อื่นก็ได้
ทั้งชีวิตปล่อยใจให้เหม่อ
ล่องลอยไปตามอัธยาศัย
แล้วค่อยมานั่งสมาธิในห้องพระที่เดียวก็ได้
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิ
เริ่มนับหนึ่งกัน
ที่ความกระเสือกกระสนอยากสงบ
ไม่เข้าใจว่า
สมาธิ เริ่มนับหนึ่งกันที่สติ
และสติจะเกิดขึ้นไม่ได้
หากเอาแต่อยากโน่นอยากนี่
เช่น อยากสงบทั้งที่ไม่พร้อมสงบ
ต่อเมื่อเข้าใจเสียใหม่ ไม่อยากสงบ
แต่ควรรู้ ควรยอมรับตามจริงว่า
ณ ลมหายใจหนึ่งๆ
กำลังฟุ้งซ่านมากหรือฟุ้งซ่านน้อย
ยอมรับรู้ได้เช่นนี้จึงค่อยเกิดสติ
เมื่อเกิดสติก็ใจเย็นลง
เห็นความฟุ้งซ่านว่าไม่เที่ยง
ต่างลมก็ต่างไป
ใจที่เย็นอย่างมีสตินั่นเอง
คือชนวนเหตุให้เกิดสมาธิอย่างรวดเร็ว
ต่างจากใจที่ร้อนรนด้วยความอยาก
คือชนวนเหตุให้ฟุ้งซ่านปั่นป่วนหนักกว่าเก่า
1
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิ
ได้แล้วได้เลยเหมือนสมบัติตายตัว
ถ้าเคยสงบ แปลว่าต้องสงบอีก
ไม่เข้าใจว่า
สมาธิจิตเป็นของไหล
เหมือนน้ำที่พร้อมจะไหลลงต่ำ
หรือไหลไปปนเปื้อนมลพิษในชีวิตประจำวัน
เช่น หลงระเริงไปกับการพูดคุยออกอ่าวเรื่อยเปื่อย
ความหลงระเริงนั้นจะยังจิตให้แส่สาย
หาโฟกัสไม่เจอ
แม้เคยทำสมาธิได้ดี ก็เหมือนทำไม่เคยเป็น
ต่อเมื่อเข้าใจเสียใหม่
ได้สมาธิแล้วไม่เหลิง
ระวังจิตไม่ให้เสียหาย
จึงค่อยเข้าที่ เป็นสมาธิได้บ่อยขึ้น เสถียรขึ้น
เข้าใจผิด คิดว่าสมาธิ
เป็นของวิเศษวิโส
แม้ออกจากสมาธิแล้ว
ก็มีศักดิ์ศรีวิเศษวิโสเหนือคนธรรมดา
ไม่เข้าใจว่า
สมาธิเป็นของสูง
คู่ควรกับจิตที่อ่อนโยน นุ่มนวล
ไร้ความกระด้าง
ไร้ความยโสโอหัง
เมื่อทำความเข้าใจไว้ถูก
จิตจึงคู่ควรกับการเข้าถึงสมาธิชั้นสูงแบบพุทธ
สามารถรู้ความไม่เที่ยงของจิต
สามารถรู้ความไม่อาจคงสภาพของจิต
สามารถรู้ความไม่ใช่ตัวเดิมของจิต
แล้วได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า
จิตไม่ใช่ตัวตน
ไม่มีตัวใครอยู่ในจิต
และนั่นเอง! ความส่องสว่าง
เยี่ยงสมาธิจิตอันบริสุทธิ์แท้จริงจึงปรากฏ!
ผู้เดินถึงปลายทางแล้วมาบอกต่อ
อะไรก็แลดูง่ายไปหมด
ใครที่กำลังเดินทางอยู่ อะไรก็แลดูยากไปหมด
วันที่อุปสรรคถาโถม ทุกอย่างมืดมิดไปหมด
ใครกันที่ไม่เคยล้ม ไม่เคยพลาด ไม่เคยมืดบอด
ท้อได้ แต่อย่าถอย
ใช้ความท้อเป็นแรงให้ก้าวเดินต่อ
บนวิถีชีวิตแห่งความผาสุข
บนทางที่เป็นไปเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์
ในเมื่อเป็นเส้นทางที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายท่านผ่านมา
เราก็ต้องเดินผ่านไปให้ได้
ทุกคนทำได้ ถ้าทำจริง ...
นิพพานอยู่ฟากตาย
ตาย ก่อนตาย
ตายจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง
คำสอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
"จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้ว
ปัญญาย่อมเกิดขึ้น
จะมองดูอะไรก็เป็นนิยายนิกธรรมทั้งสิ้น
ส่วนผู้มิได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้อง
ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด
แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล
ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป
ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง
แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก
แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นธรรม
เป็นยอดพระไตรปิฎกได้"
...
"จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ
การบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลก
การบำรุงรักษาตน คือ ใจเป็นเยี่ยม
จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ
ควรบำรุงรักษาด้วยดี
ได้ใจแล้ว คือ ได้ธรรม
เห็นใจแล้ว คือ เห็นธรรม
รู้ใจตนแล้ว คือ รู้ธรรมทั้งมวล
ถึงใจตนแล้ว คือ ถึงพระนิพพาน
ใจนี่แล คือ สมบัติอันล้ำค่า
จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจ คือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ
ก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง
เมื่อทราบแล้วว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเรา
จึงไม่ควรให้พลาดทั้งรู้ ๆ จะเสียใจในภายหลัง
ธรรมที่แสดงนี้ คือธรรมของท่านผู้มีความเพียร
ของท่านผู้อดผู้ทน ของท่านผู้เป็นนักต่อสู้
เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคนของผู้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง
ปราศจากสิ่งกดขี่บังคับของท่านผู้เป็นอิสระอย่างเต็มภูมิ
คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของโลกทั้งสาม
ถ้าท่านเห็นว่าธรรมทั้งนี้ เป็นธรรมสำคัญสำหรับท่าน
ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสในไม่ช้านี้
จึงขอฝากธรรมไว้กับท่านนำไปพิจารณาด้วยดี"
(จากหนังสือสมาธิภาวนากับหลวงตามหาบัว
: วิธีปฏิบัติและข้อพึงระวังที่หลวงตาฝากไว้)
.
อ้างอิง :
เหตุที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิล้มเหลว
30 คำสอนหลวงปู่มั่น
รวมคำสอนลึกซึ้ง ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
รวบรวมจากบูรพาจารย์ศิษยานุศิษย์ ตอน 2
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา