15 ต.ค. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
การเป็นคนแรกนั้นยากเสมอในทุกเรื่อง แต่ยิ่งถ้าคุณเป็นผู้หญิง ชีวิตจะยากเย็นขึ้นอีกหลายเท่า เอลิซาเบธ แบล็คเวลล์ ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการยอมรับในฐานะแพทย์ ยืนยันว่ามันไม่ง่ายจริง ๆ แต่เธอจะไม่ขอแลกทุกช่วงเวลาในชีวิตเธอกับอะไรทั้งนั้น แม้แต่ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดก็ตาม เพราะช่วงเวลาเหล่านั้นทดสอบเธอ และทำให้เธอรู้ถึงศักยภาพตนเอง
1
เอลิซาเบธ แบล็คเวลล์ เกิดปี 1821 ที่บริสตอล ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวที่มั่งคั่งจากธุรกิจน้ำตาล ยังไม่ต้องพูดถึงการเรียนแพทย์ ยุคนั้นแม้แต่เรียนหนังสือพื้นฐานทั่วไปก็ยังไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียน โชคดีที่พ่อแม่ของเธอหัวสมัยใหม่ จึงจ้างครูมาสอนวิชาพื้นฐานให้ลูกๆ ที่บ้าน ทว่าเมื่อเธออายุได้เพียงสิบขวบ เกิดเหตุความไม่สงบทางการเมือง ธุรกิจครอบครัวของเธอพินาศไปในกองไฟ ตระกูลแบล็คเวลล์จึงหอบหิ้วกันไปขึ้นเรือนานเจ็ดสัปดาห์ ล่องจากอังกฤษไปสู่สหรัฐอเมริกา พ่อของเธอดิ้นรนจนตั้งตัวได้ใหม่อีกครั้งในธุรกิจเดิม
1
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ธุรกิจจำนวนมากยังพึ่งพิงแรงงานทาส ครอบครัวแบล็คเวลล์ยืนอยู่ฝั่งต่อต้านการใช้ทาสมาตลอด และพวกเขาต้องแข่งขันกับกิจการที่ทำกำไรได้มากกว่าเพราะมีทาสไว้ใช้สอยฟรี ๆ
เมื่อเอลิซาเธออายุได้ 17 ปี วิกฤตครั้งใหญ่ก็เขย่าครอบครัวเธออีกครั้ง บิดาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตจากพิษไข้ เหลือเพียงภรรยาและลูกๆ ถึง 9 คน เอลิซาเบธและพี่น้องของเธอพอมีความรู้ติดตัว จึงเปิดบ้านเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ รับสอนหนังสือระดับพื้นฐานเพื่อหารายได้ประคองครอบครัว และยังทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เธอสอนหนังสือให้กับลูกหลานของทาสด้วย
1
เหตุการณ์ในชีวิตทำให้เอลิซาเบธเริ่มมองเห็นว่า ผู้หญิงที่ป่วยไข้ในยุคนั้นมักได้รับการรักษาอย่างไม่เต็มที่นักจากแพทย์ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด อาจเพราะความต่างทางเพศ ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงความละเอียดอ่อนทางกายภาพของผู้หญิง เอลิเซาเบธจึงเก็บหอมรอมริบเงินทองเพื่อลงเรียนคณะแพทย์ เธอหยิบยืมตำราแพทย์จากสาธุคุณมาอ่านเป็นพื้นฐานความเข้าใจ และส่งใบสมัครไปถึงมหาวิทยาลัยนับสิบแห่ง แน่นอนอยู่แล้ว ไม่มีที่ไหนรับเธอเข้าเรียน
6
ในที่สุดเธอได้รับการตอบรับจากวิทยาลัยแพทย์เจนีวาในนิวยอร์ก แต่เรื่องตลกปนขื่นๆ ก็คือ พวกเขารับเธอเพราะคิดว่ามันเป็นมุกตลกจากวิทยาลัยคู่แข่ง ซึ่งอยากล้อเลียนด้วยการส่งใบสมัครของผู้หญิงเข้ามา เมื่อเอลิซาเบธปรากฏกายในชั้นเรียนเข้าจริง ๆ หนุ่มๆก็หัวเราะไม่ออก
1
ชั้นเรียนแพทย์ที่มีนักศึกษาหญิงคนแรกของประเทศทำให้ทุกอย่างเก้กังไปหมด อาจารย์หลายคนพยายามกีดกันเธอจากบางวิชา เพราะคิดว่าไม่เหมาะสมที่ผู้หญิงจะรู้เรื่องเหล่านั้น แบล็คเวลล์ยืนยันว่าเธอต้องการรู้ทุกอย่างเหมือนนักศึกษาแพทย์ทุกคน
หลังฝ่าฟันทั้งอุปสรรคด้านอคติ ทั้งในการเรียนและการฝึกหัดแพทย์ เอลิซาเบธ แบล็คเวลล์ ก็สำเร็จการศึกษาพร้อมกับวิทยานิพนธ์เรื่องไข้รากสาดใหญ่ หรือไข้ไทฟัส และเธอเป็นคนแรกที่บุกเบิกความสำคัญเรื่องสุขอนามัยส่วนตัวของแพทย์ ในยุคนั้นที่หมอทั่วไปไม่คิดว่าการล้างมือก่อนผ่าตัดเป็นเรื่องจำเป็นด้วยซ้ำ
3
เมื่อเรียนจบกลับไปเป็นแพทย์ที่ประเทศอังกฤษ บ้านเกิด แบล็คเวลล์หวังจะต่อยอดไปเป็นแพทย์ผ่าตัดให้ได้ แต่ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน นั่นคือเกิดอุบัติเหตุระหว่างการรักษา หนองของคนไข้กระเด็นเข้าตาซ้ายของเธอ และเกิดติดเชื้อ สุดท้ายเธอสูญเสียการมองเห็นของตาข้างนั้นไป พร้อมกับฝันที่จะเป็นแพทย์ผ่าตัดของเธอ
เมื่อฝันหนึ่งดับไป ฝันใหม่จะเกิดขึ้นเสมอ หลังเกิดสงครามกลางเมืองที่สหรัฐฯ ในปี 1861 แบล็คเวลล์กลับมาที่สหรัฐฯ เพื่อเป็นเรี่ยวแรงฝึกอบรมพยาบาลดูแลทหารบาดเจ็บของฝั่งรัฐบาลลินคอล์น ซึ่งต้องการล้มล้างระบบทาส หลังสงครามจบลง เธอพบแรงบันดาลใจครั้งใหม่ในการตั้งวิทยาลัยแพทย์สำหรับสตรีโดยเฉพาะ และเธอก็ทำสำเร็จในปี 1868 แม้จะมีผู้หญิงสมัครเข้าเรียนรุ่นแรกเพียง 15 คนเท่านั้น
1
หากสังคมไม่ยอมเปิดรับพัฒนาการของผู้หญิง สังคมนั่นแหละที่ต้องปรับเปลี่ยน – แบล็คเวลล์เคยกล่าวไว้เช่นนั้น และนานร่วม 20 ปีหลังการบุกเบิกของแบล็คเวลล์ วิทยาลัยแพทย์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลจึงเริ่มเปิดรับนักศึกษาสตรีรุ่นแรกในปี 1899 หลังเกษียณ แบล็คเวลล์เขียนตำราไว้หลายเล่ม ก่อนจะจบชีวิตลงด้วยโรคหัวใจในวัย 89 ปี
ข้อมูลอ้างอิง
สำนักพิมพ์ Sophia
โฆษณา