8 ต.ค. 2021 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทุนประกันชีวิตเท่าไหร่ที่เรียกว่าพอ
หากกล่าวถึงประกันชีวิตจุดประสงค์หลักของการทำประกันชีวิตคือการวางแผนจัดการภาระทางการเงินของคุณเมื่อคุณไม่อยู่
เพื่อไม่ให้ภาระทางการเงินของคุณสร้างความเดือดร้อนให้กับคนข้างหลัง
ซึ่งประกันชีวิตที่ตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดีคือ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือ Whole-life Insurance
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เป็นแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว จะได้รับเงินเมื่อผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิตหรือเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดสัญญา
ซึ่งมักจะกำหนดไว้ที่อายุ 90 - 99 ปี จึงเหมาะสำหรับการสร้างมรดกให้กับลูกหลาน เพื่อเป็นหลักประกันว่าครอบครัวจะไม่ลำบากเมื่อเราจากไป
นอกจากนี้การจ่ายเบี้ยประกันของประกันชีวิตแบบตลอดชีพ มักจะจ่ายเป็นช่วงเวลาไม่นาน เช่น 2, 5, 10 ปี ขึ้นอยู่กับแบบประกันแต่ละแบบของแต่ละบริษัท
หากเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิตแล้ว คำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยและควรต้องรู้คือ ควรทำประกันชีวิตเท่าไหร่จึงจะพอ
ซึ่งจะต้องประเมินในแง่ที่ว่าจำนวนเงินที่จะได้รับจากบริษัทประกันชีวิต ในกรณีเสียชีวิตหรือครบกำหนดสัญญาหรือที่เรียกว่า ‘ทุนประกัน’ ควรจะเป็นเท่าไหร่
หลักการในการคำนวณทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมคือ ทุนประกันชีวิตควรจะครอบคลุมภาระทางการเงินส่วนเกินหลังจากหักมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว
เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขี้นเราสามารถแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนได้ดังนี้
4⃣ ขั้นตอนในการประเมินทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม
1. ประเมินภาระค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวต้องแบกรับ
หากมีการสูญเสียเกิดขึ้น โดยให้พิจารณาตั้งแต่ ค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว ค่าเล่าเรียนลูก ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่
ซึ่งการประเมินต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านระยะเวลาที่คิดว่าเราจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วย
ตัวอย่าง:
👉 ค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว เดือนละ 20,000 บาท หรือปีละ 240,000 บาท หากคาดว่าต้องใช้เวลาอีก 10 ปีในการเลี้ยงดูครอบครัวก่อนที่ลูกจะโตพอมาดูแลแทน ดังนั้นค่าใช้จ่ายของครอบครัวเท่ากับ 2,400,000 บาท
👉 ค่าเล่าเรียนบุตร ปีละ 100,000 ใช้เวลาอีก 10 ปีก่อนที่ลูกจะเรียนจบ ดังนั้นภาระค่าเล่าเรียนจะเท่ากับ 1,000,000 บาท
👉 ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เดือนละ 8,000 บาท คิดเป็นปีละ 96,000 บาท จำนวนปีที่คาดว่าท่านจะมีชีวิตอยู่คือ 15 ปี ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อแม่เท่ากับ 1,440,000 บาท เป็นต้น
2. ประเมินหนี้สินคงค้าง
ซึ่งบางคนอาจลืมเวลาคำนวนทุนประกันชีวิต แต่หากเราไม่ได้คิดถึงในส่วนนี้อาจทำให้คนที่อยู่ข้างหลังต้องมารับภาระในส่วนนี้แทน ยิ่งในกรณีที่ใช้บ้านเป็นหลักประกันในการกู้ยืม
หากถูกยึดคงทำให้ครอบครัวมีความลำบากในการดำรงชีวิตมากเลยทีเดียว
ดังนั้นจึงควรประเมินรายการหนี้สินทั้งหมดที่มีไม่ว่าจะเป็น การผ่อนบ้าน, ผ่อนรถยนต์, หนี้สินจากการทำธุรกิจ รวมทั้งหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้นอกระบบด้วย
ตัวอย่าง:
👉 หนี้บ้าน 1,500,000 บาท, หนี้รถ 300,000 บาท รวมภาระหนี้สินเท่ากับ 1,800,000 บาท
3. ประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่มีในปัจจุบัน
หากเราจากไป สินทรัพย์ที่มีในปัจจุบันสามารถใช้ในการต่อยอดสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับครอบครัวที่อยู่ข้างหลังต่อไปได้
ดังนั้นควรประเมินรายการทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดเช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เงินฝากธนาคาร เงินลงทุนในหุ้นหรือกองทุนต่างๆ รวมถึงเงินทดแทนที่จะได้รับเมื่อเสียชีวิต
ตัวอย่าง:
👉 ที่ดินมูลค่า 1,000,000 บาท, บ้านมูลค่า 2,500,000 บาท เงินลงทุนรวม 800,000 บาท และเงินฝากธนาคาร 200,000 บาท รวมมูลค่าสินทรัพย์ที่มีในปัจจุบันเท่ากับ 4,500,000 บาท
4. คำนวณทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม
ได้จากการนำภาระทางการเงินทั้งหมด หักด้วยมูลค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ทุนประกันชีวิต = ภาระค่าใช้จ่าย (1) + หนี้สินคงค้าง (2) – มูลค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ (3)
ตัวอย่าง:
👉 จากตัวอย่างข้างต้น ทุนประกันชีวิตที่ควรมี = 4,840,000 + 1,800,000 – 4,500,000 = 2,140,000 บาท
ทั้งนี้ มีข้อพึงระวังคือไม่ควรซื้อประกันจนเป็นภาระเราเกินไป เพราะหากในอนาคตมีเหตุให้เราต้องขาดรายได้
เช่น ต้องออกจากงานอย่างกะทันหัน เราควรจะยังสามารถจ่ายเบี้ยประกันชีวิตต่อไปได้ โดยไม่ต้องยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการเวนคืนกรมธรรม์มักจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่ได้จ่ายไป
อีกหนึ่งวิธีช่วยลดความเสี่ยง ที่จะไม่สามารถชำระเบี้ยประกันชีวิตให้ครบได้
คือการเลือกประกันชีวิตแบบตลอดชีพที่จ่ายเบี้ยประกันระยะเวลาสั้นๆ
เพราะการบริหารจัดการการเงินในช่วงระยะเวลาที่สั้นกว่า จะมีโอกาสเกิดเหตุไม่คาดฝันน้อยกว่านั้นเอง
วิธีการคำนวณทุนประกันชีวิตข้างต้นน่าจะพอเป็นแนวทางในการตอบคำถามสำหรับหลายๆ คนว่า
ควรมีทุนประกันชีวิตเท่าไหร่ จึงจะครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว
ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ เพื่อให้คุณสามารถส่งต่อมรดกให้กับครอบครัว เพื่อเป็นทุนในการดำเนินชีวิตของพวกเขาต่อไป
สนใจอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม คลิก >>>>
#KKP #KiatnakinPhatra #KKPAdviceCenter #Insurance #ประกันชีวิต #คำนวณทุนประกัน
โฆษณา