9 ต.ค. 2021 เวลา 08:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“พายุหมุนเขตร้อน” ฝันร้ายครบรอบ 10 ปี อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย!!
ช่วงนี้คิดว่าหลาย ๆ ท่านก็น่าจะรู้สึกกังวลใจกับสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ว่าจะซ้ำรอยกับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 รวมทั้งผู้เขียนเองด้วยที่มีบ้านพักอยู่แถวอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักในช่วงนั้น ก็รู้สึกหวาดกลัวไปด้วย จำได้ว่าช่วงนั้นต้องหนีน้ำขึ้นไปอยู่ต่างจังหวัดเป็นเวลาถึง 2 เดือน ประกอบกับในเดือนตุลาคมปี 2564 นี้ ก็จะครบรอบ 10 ปี ในการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่ต้องมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยพอดี
โดยในครั้งนั้นมีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานาน อุทกภัยครั้งนั้นส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้สาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 นั้น เกิดจากปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “ปรากฏการณ์ลานีญา” คือปรากฏการณ์เกิดกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้นโดยมีปริมาณฝนในปี 2554 นั้น มากกว่าเกณฑ์ปกติเกือบทุกเดือนโดยรวมทั้งปีเกินเกณฑ์ปกติมากกว่าร้อยละ 29 เลยทีเดียว
นอกจากนี้ในปีนั้น ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน ทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งหมด จำนวน 5 ลูก ได้แก่ พายุไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก ทั้งนี้พายุแต่ละลูกก็จะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปตามความเร็วลมที่หมุนรอบศูนย์กลาง พอมาปี 2564 นี้ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็เริ่มมีพายุผ่านเข้ามาในประเทศไทย และเริ่มมีน้ำท่วมหลายพื้นที่ทำให้เกิดความกังวลใจกัน และกลัวจะซ้ำรอยกับการเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ขึ้นมาอีก
สำหรับในวันนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จัก พายุหมุนที่มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในประเทศไทย หรือที่เรียกว่าพายุหมุนเขตร้อนกันครับ
"พายุหมุน" หมายถึง ลมที่เคลื่อนที่เป็นวงกลมหรือหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูง โดยจุดที่เป็นศูนย์กลางที่พายุหมุนรอบเรียกว่าตาพายุ ซึ่งในบริเวณใจกลางหรือตาของพายุจะเป็นบริเวณที่เงียบสงบคือไม่มีทั้งลมและฝน โดยทั่วไปพายุหมุนเขตร้อนจะมีรัศมีของพายุค่อนข้างจะมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อบริเวณรอบ ๆ ที่เป็นรัศมีพายุพาดผ่านกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยในขณะที่พายุหมุนรอบตัวเองก็จะมีการเคลื่อนที่ไปด้วย ทั้งนี้การเกิดพายุหมุนเขตร้อนโดยทั่วไปจะเกิดในมหาสมุทร ก่อนที่จะเคลื่อนที่เข้ามายังชายฝั่ง และส่วนใหญ่จะสลายตัว หรือลดความรุนแรงลงเมื่อเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งเนื่องจากไม่มีไอน้ำมาหล่อเลี้ยง
ทั้งนี้สาเหตุของพายุหมุนนั้น เกิดจากความกดอากาศต่ำหรืออากาศมีอุณหภูมิสูงในบริเวณมหาสมุทร ที่มีกระแสน้ำอุ่น โดยลักษณะทั่วไปของอากาศเมื่อร้อนมาก ๆ จะมีความเบาและลอยขึ้นสู่ด้านบน และเมื่ออากาศร้อนลอยขึ้นสู่ด้านบนก็จะมีอากาศเย็นวิ่งเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดลักษณะการหมุนวนของลม ประกอบกับในบริเวณมหาสมุทรมีกระแสน้ำอุ่นที่ทำให้เกิดการระเหยของไอน้ำ เมื่อมารวมกับการเคลื่อนที่ของลมทำให้เกิดการควบแน่นเกิดเป็นลักษณะความแปรปรวนของอากาศที่มีทั้งลม และฝน เกิดขึ้นพร้อมกัน
สำหรับพายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด เช่น พายุที่เกิดในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า ไซโคลน เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และทางด้านตะวันตกของเม็กซิโกเรียกว่า เฮอร์ริเคน เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และทะเลจีนใต้เรียกว่า ไต้ฝุ่น พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศของประเทศไทย ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและทะเลจีนใต้ โดยสามารถแบ่งประเภทของพายุที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย ออกเป็น 3 ประเภท ตามความรุนแรงของพายุหรือตามความเร็วของลมที่หมุนรอบจุดศูนย์กลาง ได้แก่
1.) พายุดีเปรสชั่น มีความเร็วของลมที่หมุนรอบศูนย์กลางพายุต่ำกว่า 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2.) พายุโซนร้อน มีความเร็วของลมที่หมุนรอบศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3.) พายุไต้ฝุ่น มีความเร็วของลมที่หมุนรอบศูนย์กลางพายุตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 กับในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่ายังมีความแตกต่างกันมากเกินกว่าที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนอดีตปี 2554 ได้ โดยเปรียบเทียบจากปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นปริมาณค่าเฉลี่ยของฝนที่ตกแต่ละเดือนที่ยังต่ำกว่าปี 2554 มาก (ปี 2554 มากกว่าค่าปกติ 29% ส่วนปี 2564 นับถึงเดือนกันยายน มากกว่าค่าเฉลี่ย 9%) หรืออิทธิพลของพายุที่ส่งผลต่อประเทศไทย ในปีนี้ยังมีน้อยมาก ทั้งนี้มีเพียงลูกเดียวคือพายุเตี้ยนหมู่ เท่านั้น
โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีจำนวน 5 ลูก ยังแตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตามหากในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เกิดโชคร้ายมีพายุผ่านเข้ามาหรือมีอิทธิพลต่อในประเทศไทยเต็ม ๆ อีกสัก 3-4 ลูก ก็อาจจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นเหมือนปี 2554 ซึ่งเวียนมาครบรอบ 10 ปี พอดีก็เป็นได้ ซึ่งคงต้องลุ้นกันต่อไปครับ
ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา
อาจารย์ นวัตกร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักกฏหมาย และเกษตรกรแนวคิดใหม่ ที่พร้อมจะรังสรรค์เรื่องราวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลัง intrend ให้มีคำตอบ
โฆษณา