10 ต.ค. 2021 เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เศรษฐศาสตร์กับศีลธรรม บทเรียนจาก Squid game
5
เงินซื้ออะไรได้บ้าง? ในโลกที่ระบบตลาดเข้าครอบงำชีวิตในแทบจะทุกด้าน เราต่างก็ใช้เงินสื่อสารมูลค่าของสิ่งต่างๆ
1
ทุกวันนี้ “เงิน” สามารถซื้อได้แทบทุกอย่าง ทั้งสินค้าที่จับต้องได้อย่าง อาหาร เสื้อผ้า, บริการทั่วๆไปอย่าง เสริมสวย พักโรงแรม
และยิ่งไปกว่านั้นหากลองมองดูดีๆ เงินสามารถซื้อความปรารถนาในด้านต่างๆของมนุษย์ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น อำนาจ ชื่อเสียง เวลา รูปร่างหน้าตา ความรัก เซ็กส์ ความสุข ฯลฯ
ในโลกทุกวันนี้ เกือบทุกสิ่งอย่างสามารถตีมูลค่าได้ด้วยเงิน ความปรารถนาต่างๆ กลายมาเป็นสินค้า และมีการแปะป้ายราคาในทางใดทางหนึ่ง
เมื่อโลกกลายเป็นแบบนั้น เงินจึงยิ่งสำคัญ และความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งกลายเป็นปัญหาที่น่าเจ็บปวดมากขึ้น
หากตลาดเสรีดำเนินไปแบบไม่มีกรอบของศีลธรรมมาครอบ คนรวยจะซื้อได้ทุกอย่าง เพื่อเติมเต็มความใคร่ของตนเอง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะฉีกกรอบศีลธรรมแค่ไหนก็ตาม
ส่วนคนจนก็ยินดีที่จะขายทุกอย่างเพื่อเงินเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อวัยวะ หรือแม้กระทั่งชีวิต อย่างที่ซีรีส์ Squid game ได้สะท้อนออกมา
บทความนี้จะมาอธิบายแนวคิดเรื่องหลักการของตลาดเสรี และขีดจำกัดทางศีลธรรม เพื่อทำความเข้าใจ Squid game ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ผมจะเล่าให้ฟังภายใน 7 นาทีครับ
‼️Alert : บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของซีรีส์ Squid game หากใครยังไม่ได้ดูหรือยังดูไม่จบ แนะนำให้กลับมาอ่านบทความนี้ทีหลังครับ
1
📌อรรถประโยชน์ (Utility) : ความพึงพอใจของมนุษย์
ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนรู้จักคำว่า “อรรถประโยชน์” กันก่อนครับ อรรถประโยชน์คือความพึงพอใจที่ได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการหนึ่งๆ ซึ่งความพึงพอใจนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความต้องการของคนๆนั้น
หากมีความต้องการอย่างแรงกล้า สินค้าหรือบริการนั้นก็จะให้อรรถประโยชน์มาก กลับกันถ้ามีความต้องการน้อย อรรถประโยชน์ของสินค้าหรือบริการนั้นๆก็จะน้อยตาม
ตัวอย่างเช่น แว่นตา ให้อรรถประโยชน์ สำหรับคนสายตาสั้น มากกว่าคนตาบอด, เงิน 1 ล้านบาท ให้อรรถประโยชน์กับขอทาน มากกว่าเศรษฐี
การซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากันและบริการทั่วๆไป ก็คือการจัดสรรอรรถประโยชน์ไปตามความต้องการของคน หรือพูดง่ายๆคือการทำให้สินค้าหรือบริการ ไปอยู่ในมือของคนที่ต้องการมันนั่นเอง
1
และถ้ายิ่งจัดสรรได้ดี “อรรถประโยชน์ส่วนรวม” (Total utility) ของเศรษฐกิจนั้นก็จะสูง นั่นคือความพึงพอใจส่วนรวมสูง และคนส่วนมากได้ประโยชน์
📌ตลาดเสรี (Free market) : ระบบจัดสรรอรรถประโยชน์
1
“ตลาดเสรี” คือเศรษฐกิจที่ปราศจากการควบคุม ทุกๆกิจกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยน เป็นไปตาม ”ความสมัครใจ” ของปัจเจกบุคคลอย่างบริสุทธิ์ นั่นคือทุกคนตัดสินใจเลือกเองโดยไม่มีการบังคับ
ในทางทฤษฎี ตลาดเสรีจะทำให้อรรถประโยชน์ส่วนรวมสูงที่สุด เพราะทุกอย่างจะถูกซื้อขายตามความต้องการ และสินค้าหรือบริการนั้นก็จะไปอยู่ในมือของคนที่ต้องการมันมากที่สุด โดยให้ราคาสูงที่สุดนั่นเอง
แต่ทฤษฎีนี้ตั้งอยู่บนหลักการของความสามารถในการจ่าย (Ability to pay) ไม่ใช่ความยินดีที่จะจ่าย (Willingness to pay) เพราะคนที่ต้องการมากที่สุดอาจจะไม่มีเงินพอจะซื้อก็ได้
ดังนั้นในท้ายที่สุด คนที่ยินดีจะจ่ายมากๆ แต่ไม่มีความสามารถจะจ่าย อาจจำเป็นจะต้องจ่ายด้วยสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เงิน และนั่นคือจุดที่ข้อจำกัดทางศีลธรรมควรเข้ามามีบทบาท
📌ตลาดไม่รู้จักคำว่าศีลธรรม
ในโลกทุกวันนี้ก็มีตัวอย่างการซื้อขายแลกเปลี่ยนมากมายที่น่าตั้งคำถาม เนื่องจากมันได้ลดทอนคุณค่าบางอย่างทางศีลธรรม บางอย่างก็เป็นเรื่องเทาๆ และบางอย่างก็อาจเลยเถิดจนเป็นเรื่องดำมืด
ยกตัวอย่างเช่น การรับจ้างอุ้มบุญ (การใช้ร่างกายเป็นเครื่องผลิตทารก) , การซื้อขาย Carbon credit (สิทธิในการทำลายโลกอย่างถูกกฎหมาย) , ค่าแป๊ะเจี๊ย (ซื้อที่นั่งให้ลูกในโรงเรียน/มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง) , การติดสินบนศาล (การซื้อคำพิพากษา) ฯลฯ
1
แต่สำหรับบทความนี้ มีกรณีตัวอย่างที่ผมอยากจะมาขยายความต่ออีก 3 กรณีครับ เป็นกรณีที่มีบริบทคล้ายกับในซีรีส์ Squid game และเกี่ยวข้องกับร่างกายและความเป็นความตายของคน มาลองดูกันครับ
1️⃣ให้เช่าพื้นที่โฆษณาบนร่างกาย : ในปี 2005 คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งต้องการเงินส่งลูกเรียนหนังสือ เธอจึงโพสต์เปิดประมูลหน้าผาก ให้กับบริษัทใดก็ได้มาลงโฆษณาด้วยการสักแบบถาวร คาสิโนออนไลน์แห่งหนึ่งตอบตกลงด้วยเงิน 10,000 USD
เธอได้เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นป้ายโฆษณาที่มีชีวิต เธอได้เงิน ส่วนคาสิโนก็ได้โฆษณา
2️⃣เป็นหนูทดลองให้บริษัทยา : บริษัทผลิตยาจำเป็นต้องทำการทดลองวิจัยในมนุษย์เพื่อทดสอบความปลอดภัยของยา จึงจ้างคนมาเป็นหนูทดลอง โดยมีการคิดค่าตอบแทนคร่าวๆประมาณ 7,500 USD ราคาอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และระดับการแทรกซึมของยาเข้าไปในร่างกาย
ในกรณีนี้ ผู้รับจ้างก็ได้เงิน บริษัทยาได้ผลวิจัย และเมื่อยาผลิตสำเร็จคนมากมายก็ได้ประโยชน์ด้วย
3️⃣ลงทุนประกันคนใกล้ตาย : ธุรกิจนี้บูมสุดขีดในช่วงปี 1980-1990 (มูลค่าอุตสาหกรรมประมาณสามหมื่นล้าน USD)
วิธีการคือหาคนชราหรือคนที่เป็นโรคร้ายแรงและคาดว่าจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน แล้วตกลงซื้อต่อกรมธรรม์ประกันชีวิตจากคนๆนั้นในราคาส่วนลดจากทุนประกัน โดยจ่ายเบี้ยประกันที่เหลือให้ และในที่สุดก็เก็บทุนประกันไปเมื่อเขาตาย
ตัวอย่างเช่น หากนาย A เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและนาย A มีทุนประกันชีวิตอยู่แล้ว 1,000,000 USD นักลงทุนตกลงจะจ่ายเงินให้นาย A ในตอนนี้ไปเลย 500,000 USD และจะจ่ายเบี้ยปีต่อๆไปให้ โดยเมื่อนาน A ตาย นักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทน 1,000,000 USD
1
การลงทุนแบบนี้เหมือนเป็นการเปิด Short position กับชีวิตคน ยิ่งเขาตายเร็วเท่าไรผลตอบแทนก็ยิ่งสูง ถึงแม้จะดูกระอักกระอ่วน แต่นาย A ได้เงินทันทีเพื่อไปใช้ชีวิตที่เหลือให้สุด ส่วนนักลงทุนก็ได้ผลตอบแทนมหาศาล
จะเห็นว่าในแต่ละกรณีที่ยกมา มีการใช้ร่างกายหรือความเป็นความตายมาเป็นสินค้าเพื่อแลกเงิน ถึงแม้ว่ามันจะทำให้รู้สึกไม่ดี และดูขัดต่อศีลธรรม แต่จะเห็นว่าอรรถประโยชน์ถูกจัดสรรใหม่ และทุกๆฝ่ายพึงพอใจมากขึ้น
และแน่นอน ทุกคนกระทำด้วยความสมัครใจ นี่คือการที่มนุษย์ตัดสินใจตามออรถประโยชน์ผ่านตลาดเสรีนั่นเอง ทีนี้ลองเอาตรรกะแบบนี้ไปทำความเข้าใจบริบท Squid game กันนะครับ
📌ตรรกะของตลาดใน Squid game
Cr. : https://www.cnet.com/how-to/squid-game-on-netflix-everything-to-know-about-the-disturbing-breakout-hit/
Squid game เริ่มจากการพาเราไปเห็นชีวิตที่ตกอับของพระเอก เขาเรียกได้ว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ในทุกด้านของโลกแห่งความจริง เขาไม่มีเงิน มีหนี้สินล้นตัว และต้องโดนกลุ่มมาเฟียตามทวง จนต้องเซ็นต์สัญญาสละสิทธิ์ทางร่างกายในที่สุด
แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้เข้าร่วม Squid game กับผู้สิ้นหวังอีกมากมาย จนเขาได้รู้ว่าราคาที่ต้องจ่ายคือ “ชีวิต” ส่วนรางวัลที่ได้คือ “45,600 ล้านวอน”
ในช่วงแรกก็มีผู้เล่นหลายคนที่รับไม่ได้ ส่งผลให้มีการโหวตหยุดเกม และทุกคนก็ถูกปล่อยกลับมาใช้ชีวิตจริง
แต่เหมือนว่าคนส่วนใหญ่ก็ตระหนักได้ ว่าการใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวังนั้น ไม่ได้มีอรรถประโยชน์ต่อพวกเขามากเท่าไร พวกเขาเลยเลือกที่จะกลับมาเล่นเกมต่อ พวกเขาซื้อโอกาสในการได้เงินมหาศาลโดยจ่ายด้วยการเสี่ยงชีวิต
Cr. : https://thecinemaholic.com/who-are-the-vips-in-squid-game/
ทีนี้มาลองดูในมุมของ VIP หรือผู้ชมนะครับ เหล่า VIP นั้นเป็นคนรวยระดับเศรษฐี เป็นผู้ชนะแห่งโลกทุนนิยม เขามีเงินเหลือเฟือและรู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต
สำหรับพวกเขา การมีเงินเพิ่มขึ้นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เงิน “45,600 ล้านวอน” ไม่ได้มีอรรถประโยชน์เท่าไร เขาต้องการสีสันและความสนุกในชีวิต
และการได้ชมเกมที่เดิมพันด้วยชีวิตอย่าง Squid game ก็ตอบโจทย์สำหรับเขาได้ดี เขาเลยยินดีที่จะจ่ายเงินจำนวนนั้นเพื่อเป็นรางวัลในเกม
ในตอนจบคุณปู่เบอร์ 001 พยายามจะสื่อว่า หากไม่มีเกมนี้ จะมีผู้เล่นมากมายที่ต้องใช้ชีวิตเป็นเศษเดนมนุษย์ต่อไป หรือต้องฆ่าตัวตายไปเฉยๆ ส่วนตัวคุณตากับเหล่า VIP ก็ไม่มีทางได้เติมเต็มความใคร่ตามสัญชาตญาณดิบนั้นได้
ถ้ามองตามหลักอรรถประโยชน์นิยม เกมนี้ก็ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และแน่นอน ทุกคนตัดสินใจมาร่วมเกมด้วยความสมัครใจซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี
📌ขีดจำกัดทางศีลธรรมของตลาด (Moral limits of market)
ตลาดเสรีอาจเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง แต่มันก็เป็นเพียงกลไกที่ไร้หัวใจ มันไม่รู้จักเรื่องของศีลธรรมที่มนุษย์ให้คุณค่า
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตรรกะของตลาดซึมเข้าไปในทุกแง่มุมของชีวิต สังคมควรจะตั้งคำถามและถกเถียงกันอย่างจริงจังและเปิดเผย ว่าอะไรที่ควรซื้อขายได้ อะไรที่ไม่ควรซื้อขาย และเราจะขีดเส้นแบ่งทางศีลธรรมเอาไว้ตรงไหน
เราได้เห็นตัวอย่างของตรรกะแบบตลาดมากมายในโลกทุกวันนี้ ที่น่าตั้งคำถามทางศีลธรรม ตัวอย่างของ Squid game อาจเป็นภาพปลายทางสุดท้ายที่เราจินตนาการได้
แต่หากระบบตลาดเสรียังคงดำเนินไปแบบไม่มีการถกเถียงใดๆแบบนี้ ในสักวันหนึ่งเรื่องราวจาก Squid game อาจจะเกิดขึ้นจริงๆ ก็เป็นได้..
References
Michael J. Sandel (2012) What money can’t buy : The moral limits of market
Squid game (2021) , Netflix
โฆษณา