16 ต.ค. 2021 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ส่อง 9 เทรนด์โลก ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นแผนที่มีความสำคัญของประเทศที่เป็นเหมือน “เข็มทิศ” หรือ “หางเสือ” ที่จะกำหนดทิศทางของแผนงานอื่นๆของหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคธุรกิจ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เมกะเทรนด์โลกที่จะกำหนดทิศทางของแผนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
1
บทความโดย นครินทร์ ศรีเลิศ
ส่อง 9 เทรนด์โลก ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า
ขั้นตอนในการจัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งผ่านการกลั่นกรองจากคณะผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกว่าที่จะได้แผนชาติที่กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ในการจัดทำแผนประเด็นหนึ่งที่ต้องมีการวิเคราะห์ก็คือบริบทของการพัฒนาซึ่งไม่เพียงแต่ติดตามแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น แต่ยังติดตาม “เทรนด์” สำคัญๆที่จะเกิดขึ้นในระดับโลกหรือที่เรียกว่า “Global Megatrend” โดยในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้มีการบรรจุเรื่องของเมกะเทรนด์ในระดับโลกซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ตามระยะเวลาการใช้แผนฯที่ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปีระหว่างปี 2565 – 2570
“กรุงเทพธุรกิจ” สรุปประเด็นสำคัญของ Global megatrend ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 จำนวน 9 ข้อที่ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับนี้
1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัจจุบันโลกอยู่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของการพัฒนานวัตกรรม เน้นการต่อยอดเทคโนโลยีสาขาต่างๆ แล้วผนวกเข้าด้วยกัน เช่น เทคโนโลยีทางกายภาพ ชีวภาพ ดิจิทัล และพลังงานเพื่อเอามาใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่างๆอย่างกว้างขวางในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วนี้ส่งผลให้พลวัตการพัฒนาในอนาคตของโลกสามารถปรับเปลี่ยนไปได้อย่างพลิกผัน นำมาซึ่งโอกาสสำคัญ ทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อความอยู่รอด
5
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ประกอบด้วย
- การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และเศรษฐกิจแบบแบ่งปันที่จะส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจในภาคบริการ เช่น การคมนาคมและโลจิสติกส์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และที่พักอาศัย รวมถึงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย ประชากรในพื้นที่ห่างไกล และการทำงานในรูปแบบใหม่
1
- การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ช่วยยกระดับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจ และการออกแบบนโยบายสาธารณะ การพัฒนาและใช้งานข้อมูลขนาดใหญ่จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีมาตรฐานการจัดเก็บและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผ่านเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ IoT และบล็อกเชน และการมีบุคลากรที่มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม เช่น เหมืองข้อมูล และการเรียนรู้
1
- การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการทดแทนแรงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะชับซ้อนในภาคการผลิต (อุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์) ภาคการเกษตร และภาคบริการ (กลุ่มร้านอาหารและร้านค้า)
​​​2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โครงสร้างประชากรของโลกมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยกว่า 20% จนมีจำนวนรวมถึง 1.5 พันล้านคน ส่งผลให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงในเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มที่ประชากรผู้สูงอายุจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 312 ล้านคน
1
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลกสู่สังคมสูงวัยจะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ จากความต้องการสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการส่วนหนึ่งมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น เช่น ยาและเวชภัณฑ์ อาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจบริการสุขภาพ บริการทางการแพทย์ และศูนย์พักพิงผู้สูงอายุ รวมทั้งยังเป็นช่องทางในการพัฒนานวัตกรรม สินค้า และบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มสูงวัย เช่น หุ่นยนต์สำหรับการดูแลและนวัตกรรมของใช้ภายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
2
3.การดูแลรักษาสุขภาพและการรักษาพยาบาล แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในระยะ 10 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย
3
การเพิ่มขึ้นของการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในสังคมเมืองสมัยใหม่ตลอดจนการเผชิญกับมลพิษจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของระดับความเครียดจากการทำงานและความวิตกกังวลในการใช้ชีวิต โดยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นจำนวนถึง 41 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็น 71% ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก และเป็นสาเหตุหลักของของการเสียชีวิตของคนไทยถึง 75% หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี โดยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบมากที่สุด คือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมักเป็นโรคที่รักษายาก มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม จะเกิดเป็นภาระต่อสถานะทางการเงินของผู้ป่วยและเป็นภาระทางการคลังของประเทศในระยะยาว
3
กระแสความตระหนักในการดูแลสุขภาพในเชิงป้องกัน ที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่ประชากรโลกมีความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอันมาพร้อมกับการศึกษาและความแพร่หลายของสื่อออนไลน์ เป็นผลให้ความต้องการอาหารและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งความตื่นตัวในการป้องกันโรคติดต่อที่สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการด้านอาหาร บริการสุขภาพ และการท่องเที่ยว จำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัยในการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการรักษาพยาบาล จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าและการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริการทางการแพทย์ ได้กระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการสาธารณสุข เช่น การตรวจวินิจฉัยและเฝ้าระวังสุขภาพผ่านโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์สำหรับสวมใส่ที่มีเซ็นเซอร์หรือเทคโนโลยีตรวจวัดสุขภาพ เช่น การวัดความดัน วัดระดับน้ำตาลในเลือด และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน การจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ มาใช้ประโยชน์ควบคู่ กับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการข้อมูลในเชิงชีวสารสนเทศ จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสาธารณสุข ทั้งเพื่อการบริหารจัดการคลังย วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการควบคุมโรคระบาดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของการวิจัยในด้านพันธุกรรมและจิโนมิกส์ ยังสนับสนุนให้เกิดการรักษาพยาบาลที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นโอกาสใหม่สำหรับบริการทางการแพทย์ในอนาคต
โฆษณา