8 พ.ย. 2021 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
CBDC: ระบบการเงินที่กำลังเปลี่ยนโลก และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, Part 2
นี่เป็นบทความต่อเนื่องหลังจากบทความ
CBDC: ระบบการเงินที่กำลังเปลี่ยนโลก และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, Part 1
ในบทความนี้ เราจะพูดถึง Smart Contract และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอยู่ที่ใดจากการมาของสิ่ง ๆ นี้
สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) คืออะไร?
ในชีวิตเราทุกวันนี้ เรามีธุรกรรมทางการเงินหลาย ๆ อย่าง ที่บางอย่างก็เร็วทันใจ บางอย่างก็มีขั้นตอนมากมายและต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วยตัดสินใจ ผู้อ่านลองจินตนาการว่า หากเราสามารถโอนเงินให้เพื่อน กู้เงินมาผ่อนบ้าน ขอสินเชื่อมาทำธุรกิจ เคลมประกันรถยนต์ แลกเงินจากสกุลเงินหนึ่งเป็นอีกสกุลเงินหนึ่ง รับเงินเดือน รับค่าจ้าง เสียภาษี ทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เหล่านี้ได้ โดยอัตโนมัติ แต่ละธุรกรรมไม่ต้องผ่านมือมนุษย์ ชีวิตทางการเงินของเราจะสะดวกสบายมากขึ้นอีกเท่าใด ในขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินก็ประหยัดค่าใช้จ่ายและทรัพยากรในการกำกับธุรกรรมทางการเงิน
นั่นคือ สิ่งที่ Smart Contract พยายามจะตอบโจทย์นี้
รูปที่ 1 สัญญาในรูปแบบปัจจุบัน (Traditional Contract) ที่เรายังต้องพึ่งตัวกลาง (3rd Party) ในการดำเนินตามสัญญา (Execution) ที่มาจาก DZone
รูปที่ 2 สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่ไม่อาศัยตัวกลางใด ๆ เพราะเราสามารถสั่งให้โค้ดดำเนินการแทน ที่มาจาก DZone
Smart Contract เป็นเครื่องมือในการดำเนินคำสั่งต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้บนระบบดิจิทัล Smart Contract อาจลดรูปเหลืออยู่แค่ “ถ้า A เกิดขึ้น ให้ทำ B” คล้าย ๆ กับการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำคำสั่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ตัวอย่างในระบบ CBDC เรามีข้อมูลบัญชี เงินและเวลา เราสามารถประยุกต์ใช้ Smart Contract เบื้องต้นสำหรับการเงินได้เป็น “ถ้าถึงวันที่ A โอนเงินจากบัญชี B ให้บัญชี C เป็นจำนวนเงิน X บาท” ในกรณีนี้ มีเงื่อนไขทางเวลาเข้ามากำกับไว้ในการดำเนินกิจกรรม นี้คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า “เงินที่เขียนโปรแกรมได้” (Programmable Money)
การสร้างเงินที่เขียนโปรแกรมได้นำไปสู่ผลกระทบในภาพใหญ่สี่ด้านด้วยกัน
1. การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เนื่องจากเราสามารถกำหนดเงื่อนไขในการเกิดธุรกรรมเกิดขึ้น นั่นจะทำให้เกิดการโอนเงินขึ้นอย่างอัตโนมัติเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยที่ไม่ต้องอาศัยการอนุมัติจากมนุษย์คนใด ยกตัวอย่าง เช่น จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าบริการอื่น ๆ หรือแม้กระทั้ง การชำระเงินภาษี เราสามารถสร้างระบบคำนวณรายได้ ตัดเงินได้โดยอัตโนมัติ
2. ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนของการทำธุรกรรม กระบวนการที่ซับซ้อนระหว่างทำธุรกรรม ตัวอย่างเช่น การติดต่อสื่อสาร ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่กินเวลาส่วนใหญ่ของการทำธุรกรรมอาจถูกลดรูปเหลืออยู่แค่คำสั่งทางคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างเช่น การเสียภาษีนำเข้าจากการซื้อของจากต่างประเทศ กรมศุลกากรอาจสร้างระบบที่ช่วยตัดเงินจากระบบเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเสียภาษีจากการนำของเข้าไปในประเทศ
3. สร้างความโปร่งใสในการทำธุรกรรม ตรวจสอบได้ และคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากอนุมัติสัญญา ในการทำ Smart Contract ใด ๆ เราสามารถดูได้ว่าเงื่อนไขข้อสัญญาเป็นอย่างไร กระบวนการนี้สร้างความมั่นใจให้กับทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (ผู้ซื้อ/ขาย) ในสัญญา
4. มอบอิสระ (Autonomy) ในการเลือกทำสัญญา และลดการพึ่งพาตัวกลาง เปลี่ยนความเชื่อใจในบุคคลหรือบริษัทเป็นการเชื่อใจในโค้ดแทน ตัวอย่างของกรณีที่เกี่ยวข้องคือการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นภาระของนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในการดำเนินเรื่องให้เรา นั่นคือเราเลือกที่จะเชื่อใจนายหน้าแต่ถ้าหากกระบวนการทุกอย่างอยู่ในรูปแบบของ Smart Contract ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมองเห็นเงื่อนไขภายในสัญญานี้ และเลือกที่จะเชื่อใจในคำสั่งในคอมพิวเตอร์แทน
หากเราต้องการให้ Smart Contract ครอบคลุมไปถึงเรื่องอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น การออกใบเสร็จรับเงินระหว่างบริษัท การอนุมัติให้เบิกสินเชื่อจากบริษัทประกัน การบังคับโทษปรับทางแพ่ง เป็นต้น เราต้องใช้ข้อมูลจากภายนอกเข้ามาสู่ในระบบการเงินเพื่อที่จะสร้าง Smart Contract เพราะฉะนั้น การสร้างระบบทางการเงินที่สามารถเขียน Smart Contract ลงบนระบบจะต้องออกแบบอย่างยืดหยุ่นให้ครอบคลุมการใช้งานทั่ว ๆ ไป รวมถึงนวัตกรรมทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่า CBDC เป็นมากกว่าแค่ระบบการโอนเงินทั่ว ๆ ไป ด้วย Smart Contract ที่สามารถพลิกโฉมการทำธุรกรรมทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โปร่งใส่มากขึ้น ทำได้รวดเร็วและประหยัดทรัพยากรมากขึ้น
CBDC กับ ข้อมูลส่วนบุคคล
สิ่งหนึ่งที่เงินสกุลนี้ได้รับข้อโต้แย้งอย่างมาก คือการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เป็นความจริงที่ว่าระบบการเงินในระบบดิจิทัลไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่เหมือนกับระบบการเงินแบบเหรียญและธนบัตรแบบดั้งเดิม นั่นคือตัวระบบจำเป็นต้องบันทึกทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในระบบเพื่อทำให้เกิดระเบียนธุรกรรมย้อนหลังได้ และเพื่อใช้ในกิจกรรมทางการเงินอื่น ๆ ต่อไป นั่นสร้างความระแวงให้กับประชาชนบางกลุ่มที่ถือค่านิยมแนวทางเสรีภาพ เพราะการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินได้มอบอำนาจรัฐบาลในระดับสูงสุด รัฐบาลสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการยับยั้งธุรกรรมที่ (รัฐมองว่า) ผิดกฎหมาย ซึ่งนั่นอาจรวมถึงกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาล นี่คือการอนุญาตให้รัฐบาลสอดแนมประชาชนทุกย่างก้าว และบังคับให้ประชาชนทำตามอย่างที่รัฐบาลสั่ง
อย่างไรก็ดี นั่นอาจเป็นมุมมองที่สุดโต่ง เมื่อมองถึงสิ่งที่ธนาคารกลางกลัวที่สุดแล้วนั้น การมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการระบุความเสี่ยงต่าง ๆ ของสกุลเงินของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในสภาพความเป็นจริง การนำ CBDC มาใช้จำเป็นต้องได้รับการรับรองของกฎหมายการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลประจำประเทศนั้น ๆ (ยกตัวอย่าง เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Personal Data Protection Act: PDPA สำหรับประเทศไทย)
สรุปโดยย่อ คือ การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน ถ้าหากจำเป็นต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ เพื่อใช้ในการขายสินค้า-บริการใด ๆ ก็จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่าใช้ไปเพื่อกิจกรรมใด และสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด เมื่อผนวกเข้ากับปัจจัยข้างต้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ทำธุรกรรมแต่ละคน เก็บแต่เฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นก็สามารถระบุตัวผู้ทำผิดกฎหมายได้ เป็นต้น
รูปที่ 3 ตัวอย่างของ Retail CBDC แบบ Account-based และ Token-based ที่มาจาก BIS
อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยปกป้องการระบุตัวตนจากระบบการเงินใหม่นี้คือ โครงสร้างการเก็บข้อมูลแบบ Token-based ซึ่งวิธีการนี้จะอนุญาตให้คนที่มี “กุญแจ” เข้าสู่กระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นเจ้าของเหรียญที่อยู่ในกระเป๋าเงินนี้ เมื่อเทียบกับโครงสร้างการเก็บข้อมูลแบบ Account-based ที่มีลักษณะคล้ายกับบัญชีธนาคาร เงินหรือ token ต่าง ๆ จะผูกติดกับบัญชีซึ่งได้รับการยืนยันตัวตนผ่านกระบวนการ Know Your Customer (KYC) หรือ Digital Identity อื่น ๆ เมื่อมองดูแล้วโครงสร้างแบบ Token-based จะมอบความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม CBDC ไม่สามารถมอบประสบการณ์เฉกเช่นเดียวกับการใช้เงินสดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ถึงที่สุดแล้วนั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรายละเอียดของตัวระบบภายในมากกว่าคำเรียกชื่อโครงสร้างการเก็บข้อมูลของสองระบบนี้
"เมื่อมองดูแล้วโครงสร้างแบบ Token-based จะมอบความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม CBDC ไม่สามารถมอบประสบการณ์เฉกเช่นเดียวกับการใช้เงินสด"
ท่ามกลางความหวาดกลัวของประชาชนและความระแวดระวังของรัฐบาลต่อข้อมูลส่วนบุคคล มีรัฐบาลหนึ่งที่มองข้ามปัญหาเหล่านี้และเดินหน้าพัฒนาระบบทะเบียนราษฎร์ลงบนระบบดิจิทัล ตัวอย่างนี้คือ ประเทศจีน ประชาชนทุกคนมีบัตรประชาชนดิจิทัลเป็นของตัวเองที่รัฐบาลเก็บข้อมูลไว้ และข้อมูลนี้ก็จะผูกติดกับบัญชีธนาคาร และคะแนนความประพฤติของประชาชนแต่ละคน หากประชาชนคนใดทำผิดก็จะถูกลงโทษโดยการตัดเงินในบัญชีและตัดคะแนนความประพฤติ คะแนนดังกล่าวยังส่งผลต่อสิทธิในการใช้บริการพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การขอกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูก การขึ้นเครื่องบิน และขึ้นรถไฟ เป็นต้น นี่คือตัวอย่างของระบบที่นำข้อมูลส่วนตัวมาใช้และบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ระบบที่ได้กล่าวมาเป็นการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลอย่างสุดโต่ง และยังมีข้อบกพร่องอยู่อีกมากในปัจจุบัน
จากตัวอย่างข้างต้น เราสามารถนำมาประยุกต์กับการพัฒนา CBDC ได้อย่างไร? เราอาจจะมองการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยรัฐบาลในแง่บวกมากขึ้น แต่ต้องประกอบกับการเปิดเผยลักษณะการเก็บข้อมูล และการใช้งานอย่างละเอียด และอย่างเปิดเผย (ที่ซึ่งสอดคล้องกับกฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ธนาคารกลาง รัฐบาล และประชาชนควรมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อย่างเสรี เพื่อให้การใช้งานสกุลเงินนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับลักษณะเศรษฐกิจของประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชนมากที่สุด
โอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
เงินคือข้อมูล และข้อมูลคือเงิน
หนึ่งในหน้าที่ของเงินคือหน่วยวัดมูลค่าของสินค้า/บริการในสังคม เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วการทำธุรกรรมทางการเงินนั้นคือมาตรวัดความสนใจของสินค้าและบริการนั้น ๆ แนวคิดนี้เมื่อนำมาขยายผลต่อสังคมโดยรวม เราจะมองเห็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีสินค้า/บริการที่ถูกขายในราคาแตกต่างกันในแต่ละที่ และแต่ละเวลา ข้อมูลความสนใจของสินค้าใดใดจะปรากฏในรูปของ “ราคา” เนื่องด้วยข้อจำกัดของตลาดในอดีต การจดบันทึกธุรกรรมการซื้อขายสินค้าเป็นไปอย่างจำกัด ไม่ต้องพูดถึงการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 20 จึงสร้างทฤษฎีอุปสงค์-อุปทานเพื่อพยายามหาเหตุและผลว่าทำไมราคาของสินค้าประเภทต่าง ๆ ถึงมีราคาอย่างที่มันเป็น พร้อมทั้งสร้างทฤษฎีทางการเงินอื่น ๆ เพื่อจะควบคุมระบบเศรษฐกิจโดยรวมและเพื่อคงการจ้างงาน ทฤษฎีเหล่านี้ถูกใช้กันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในหน่วยงานรัฐบาลและบริษัทลงทุน
แต่ในศตวรรษ 21 นี้ การเก็บข้อมูลรายธุรกรรมเป็นไปได้โดยง่ายและการวิเคราะห์ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้นมหาศาล การใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อเข้าใจพฤติกรรมถูกแสดงให้เห็นว่าทรงพลังมากผ่านการใช้งานในภาคธุรกิจ นอกจากการคาดการความต้องสินค้าใด ๆ การจำนวนสินค้าที่ซื้อไป แต่เป็นการสร้างความเข้าใจลักษณะการซื้อของของบุคคล ร้านสะดวกซื้อใช้ข้อมูลการซื้อของในอดีตเพื่อมอบส่วนลดให้ที่ทำให้ลูกค้าพึงพอใจและทำให้ลูกค้ากลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง ทั้งหมดที่กล่าวมาพยายามจะชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่า “เงินคือข้อมูล” และพอเมื่อเรามีข้อมูลแล้ว เราก็สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการวางแผนเพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย หรือสร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้น นั่นคือ “ข้อมูลคือเงิน”
การสร้าง CBDC คือการวางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ได้ข้อมูลทางการเงินของประชาชน สำหรับในมุมมองของธนาคารเห็นประเทศไทย ข้อมูลเหล่านี้สามารถใช้ในการออกนโยบายทางการเงินที่ตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนก็ได้รับประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่านโยบายการเปิดข้อมูลให้ใช้จะเป็นอย่างไร
ติดปีกให้ AI ด้วยช่องทางการสื่อสารใหม่
รูปที่ 4 Designed by vectorpocket / Freepik
ปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ในโลกดิจิทัลจะช่วยผู้คนในโลกที่เราอยู่ได้อย่างไร คงเป็นตลกร้ายหาก AI จะต้องช่วยด้วยการสร้างเป็นหุ่นยนต์ในโลกกายภาพเพื่อช่วยพิมพ์จดหมาย พับจดหมายและส่งตามตู้ไปรษณีย์ หรือเป็นหุ่นยนต์โต้ตอบภาษามนุษย์ผ่านสายโทรศัพท์ ถึงแม้ว่าการใช้เทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์ในโลกกายภาพ แต่ในเมื่อช่องทางการสื่อสารการเงินกำลังจะอยู่ในโลกดิจิทัลแล้วนั้น ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยเหลือการสื่อสารในช่องทางนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
CBDC ช่วยเปิดความเป็นไปได้ในการสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินบนโลกดิจิทัลที่จะส่งเสริมการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน บทบาทของปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์ผ่านการโต้ตอบในช่องทาง Smart Contract กับผู้ใช้งานคนอื่นและปัญญาประดิษฐ์อีกตัวหนึ่ง ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยได้ในหลาย ๆ อย่าง เช่น การเปลี่ยนคำพูดหรือสัญญาในภาษามนุษย์ให้เป็น Smart Contract ในภาษาคอมพิวเตอร์ผ่าน Natural Language Processing หรือ การนำเข้าข้อมูลใส่สัญญา Smart Contract โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ไม่ว่าจะเป็น NLP หรือ Image Processing เป็นต้น ด้วยความเป็นไปได้อย่างไม่รู้จบ Infrastructure อย่าง CBDC นี้จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จำเป็นในการใช้งาน AI ในชีวิตประจำวัน และทำให้ประเทศก้าวไปสู่โลกในยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์
สรุป
CBDC ไม่ใช่แค่ระบบการเงินที่อยู่เฉพาะในโลกการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามันสามารถเชื่อมต่อกับระบบพื้นฐานอื่น ๆ ที่สำคัญภายในประเทศ มันจึงเกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของสังคมในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกฎหมาย ด้านเทคโนโลยี ด้านสังคม อาจกล่าวได้ว่ามันได้สร้างรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ตั้งแต่ระหว่างบุคคลด้วยกัน ระหว่างบริษัทและลูกค้า ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชน ผ่านการใช้งาน Smart Contract ทำให้เกิดบริการต่าง ๆ อีกมากมายมหาศาล เช่น การโอนเงินอัตโนมัติ และ การสร้างสัญญาโดยไม่ต้องพึ่งตัวกลาง เป็นต้น Smart Contract ทำให้เพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมอย่างมหาศาล และมอบความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการทำสัญญา ถึงแม้ว่าเราอาจจะรู้สึกกังวลต่อประเด็นเรื่องข้อมูลส่วนตัว แต่ผู้เขียนเชื่อว่าระบบสกุลเงินใหม่นี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมที่เราอยู่ให้พัฒนาขึ้นไปจากเดิม
โฆษณา