11 ต.ค. 2021 เวลา 06:00 • สุขภาพ
ไวรัส RSV โรคเก่า ! กลับมาเล่าใหม่ในทุกปี
1
ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปอาจทำให้สุขภาพของเราเปลี่ยนแปลง ยิ่งช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ ใครหลายคนเจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่ายกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ได้มีแค่โรคโควิด 19 หรือไข้หวัดเท่านั้นที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เราต้องระวัง แต่ยังมี “โรคระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อไวรัส RSV” ซึ่งรุนแรงกว่าและคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักโรคนี้กันเท่าไหร่
RSV โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อนี้มองเผิน ๆ อาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมว่า RSV คืออะไร ? อาการเป็นอย่างไร ? ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง ? แล้วเราควรป้องกันตัวเองอย่างไร ? มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย !
📌 รู้จักกับเชื้อไวรัส RSV
RSV หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดลมอักเสบและปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
1
RSV สามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ โดยเชื้อไวรัส RSV สามารถแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 2 วัน ช้าสุดคือ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน ซึ่งในประเทศไทยพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ ดังนั้นควรหันมาดูแลสุขภาพกันให้ดี
📌 ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส RSV
การติดเชื้อ RSV สามาถเกิดขึ้นได้กับทุกวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่กลุ่มเสี่ยงสามารถแบ่งได้ดังนี้
- เด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคหอบหืด หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด
- ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
- เด็กเล็กที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดตั้งแต่กำเนิด
- เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เด็กที่ได้รับเคมีบำบัดหรือได้รับการปลูกถ่ายกระดูก
- ทารกที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่แออัด
- ผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ
📌 อาการจากการติดเชื้อไวรัส RSV
หากเราติดเชื้อไวรัส RSV อาการเริ่มแรกที่เป็นจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ ไข้ ไอ จาม แต่หากมีอาการต่อไปนี้ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าเราอาจติดเชื้อ RSV และควรเฝ้าระวังอาการ ดังนี้
- มีไข้ ไอ และน้ำมูก
- มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดคล้ายนกหวีด
- ไอ และจามบ่อยจนเหนื่อย ในบางรายอาจไอมากจนอาเจียน
- มีอาการตัวเขียว
- มีเสมหะในลำคอมาก
- เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือหอบหืดยู่แล้ว อาจมีอาการหนักถึงขั้นหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
📌 ไวรัส RSV อาการต่างจากโควิด 19 อย่างไร ?
เมื่อเรารู้อาการของการติดเชื้อเชื้อไวรัส RSV แล้ว จะเห็นได้ว่าอาการคล้ายกับการป่วยเป็นไข้หวัดทั่วไปรวมถึงโรคโควิด 19 แต่การติดเชื้อไวรัส RSV จะมีอาการบางอย่างที่ต่างจากโควิด 19 ซึ่งสามารถแบ่งได้ ดังนี้
- อาการของโรคโควิด 19 มีไข้สูง ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ
จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
-อาการติดเชื้อ RSV มีไข้สูงเช่นกัน แต่อาการไอจะพบว่ามีเสมหะมาก ในบางรายอาจไอมากจนอาเจียน เหนื่อยหอบหายใจแรงจนมีเสียงหวีด และมีอาการตัวเขียว ไม่พบอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
📌 วิธีป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV
กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคติดต่อได้แทบทุกโรครวมถึงการติดเชื้อไวรัส RSV ด้วยเช่นกัน แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ ดังนี้
- ล้างมือ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง ป้องกัน RSV ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบได้ ใช้มาตรการเดียวกับการป้องกันโรคโควิด 19 เลย
- หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น หากมีลูกหลานไม่ควรพาไปเล่นในที่ที่มีเด็กรวมตัวเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
- ทำความสะอาดบ้าน และของใช้ประจำวันทุกวัน รวมถึงของเล่นเด็ก
- ควรรักษาความอบอุ่นของร่างกายเสมอ
- คนมีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ หากติดเชื้อ RSV แล้ว อาจมีอาการรุนแรงกว่าเด็กทั่วไป ต้องระวัง อย่าขาดยาประจำ ถ้าป่วยต้องรีบไปพบแพทย์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
-สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง หากลูกหลานมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อจากไวรัส RSV จะมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดและโรคโควิด 19 มาก ดังนั้นเราควรสังเกตตัวเองและคนใกล้ตัวให้ดี รวมไปถึงใครที่มีบุตรหลานก็ควรเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ เพราะเชื้อไวรัส RSV สามารถติดต่อกันได้ง่าย ให้คิดไว้เสมอว่าโรคร้ายไม่เคยอยู่ไกลตัวเรา ดังนั้นควรรักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกไปข้างนอกด้วยนะ
ที่มา : สืบค้นเมื่อวันที่ 23/09/64
🔖 vejthanihospital
bit.ly/3kuGZpY (ข้อมูล ณ วันที่ 20/10/63)
🔖 bangkokhospitalkhonkaen
bit.ly/3u5QgrJ (ข้อมูล ณ วันที่ 20/10/63)
🔖 bumrungradhospital
bit.ly/3u6pQWB (ข้อมูล ณ วันที่ 12/10/58)
🔖 sanook
bit.ly/3ELuY7N (ข้อมูล ณ วันที่ 26/10/63)
🔖 bangkokhospital
🔖 pediatric infectious disease society of thailand
🔖 ch9airport
ติดตามสาระดีๆ และข่าวสารน่ารู้จากเมืองไทยประกันชีวิต ได้ที่
- Facebook: @muangthailife
- Twitter: @MuangThaiLife
- IG: @muangthailife
- Blockdit: muangthailife
โฆษณา