15 ต.ค. 2021 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
โอกาสในฮ่องกงสำหรับธุรกิจ Startup
2
สตาร์ทอัพ (Startup) หรือ วิสาหกิจเริ่มต้น คือ การเริ่มธุรกิจใหม่จากคนเพียงไม่กี่คนที่มีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเห็นช่องทางและโอกาสจากปัญหาที่คนอื่นยังไม่เคยเห็นและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น จากการตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของผู้คนในยุคใหม่ได้อย่างตรงจุด ธุรกิจสตาร์ทอัพจึงมักมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดและสามารถสร้างรายได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
2
เราเห็นความสำเร็จของสตาร์ทอัพระดับโลกอย่าง Facebook, Airbnb, Instagram Uber, Grab หรือ Line หรือสตาร์ทอัพไทยอย่าง Flash express, Ascend Money, Builk, Omise, Ookbee, QueQ หรือ Jitta แต่ความเป็นจริงสำหรับการเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพอาจไม่สวยหรูและน่าตื่นเต้นเช่นนั้น โดยจากการรายงานของ Worldwide Business Startup by Moya.k ปี ๒๕๖๒ พบว่ามีธุรกิจเกิดใหม่จำนวน ๑๓๗,๐๐๐ รายต่อวัน ขณะเดียวกันก็มีอัตราล้มเหลวถึงร้อยละ ๙๐ ของสตาร์ทอัพทั่วโลก โดยมีสาเหตุมาจากทั้งเรื่องเงินทุนไม่เพียงพอ สินค้าไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการ นโยบายการตลาดที่ผิดพลาด ฯลฯ
3
ทำไมต้องฮ่องกง
ฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเริ่มต้นธุรกิจที่ง่ายและไม่ซับซ้อน เนื่องจากฮ่องกงมีศักยภาพทางธุรกิจสูง และเต็มไปด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อธุรกิจและการลงทุน อาทิ ทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ กฎหมายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นสากลพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ความพร้อมของบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาต่าง ๆ กอปรกับจุดเด่นของตลาดที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
2
จุดแข็งของระบบ “One Country, Two Systems” และโอกาสในการเชื่อมโยงกับตลาดของจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านพื้นที่เขต Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area (GBA) ที่มีประชากรรวมกว่า ๗๐ ล้านคน และมีมูลค่า GDP รวมกัน ถึง ๑๑.๙ ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว ๔๘ ล้านล้านบาท) ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจในฮ่องกงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่หวังเติบโตในระดับสากลไม่ควรมองข้าม
2
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีแผนที่จะขยายระบบนิเวศด้านนวัตกรรมร่วมกับเมืองเซินเจิ้น โดยการพัฒนาโครงการอุทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Hong Kong – Shenzhen Innovation and Technology Park ในเขต Lok Ma Chau ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้นักวิจัยและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพฮ่องกงในการเข้าถึงตลาดและใช้ประโยชน์ จากโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)ของพื้นที่ GBA และจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มองหาโอกาสในการเจาะตลาดจีนแผ่นดินใหญ่และตลาดโลกต่อไป
2
ระบบนิเวศด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพในฮ่องกง
1
แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ ผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของ โควิด-๑๙ ต่อเศรษฐกิจ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่จำนวนสตาร์ทอัพในฮ่องกงยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นฟื้นตัวง่าย (resilience) ของระบบนิเวศด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพของฮ่องกง โดยจากการสำรวจของหน่วยงาน InvestHK พบว่าตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ จนถึง ๒๕๖๓ มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่ในฮ่องกงกว่า ๓,๓๖๐ ราย เพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ ๕๑ จากปี ๒๕๖๐ และ ๑ ใน ๔ ของสตาร์ทอัพเกิดใหม่นี้เป็นสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันฮ่องกงมีสตาร์ทอัพที่ได้ก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์น (Unicorn) หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่า ถึง ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ ๓.๓ หมื่นล้านบาท) แล้วราว ๑๒ ราย
ความหลากหลายในระบบนิเวศสตาร์ทอัพฮ่องกง ความเป็นสากลของฮ่องกงเป็นจุดดึงดูดผู้มีทักษะ (talents) หลากหลายด้านจากทั่วโลก ทำให้สาขาธุรกิจทั่วไปและธุรกิจสตาร์ทอัพในฮ่องกงมีความหลากหลายด้วยเช่นกัน
2
ที่มาของภาพ : https://www.startmeup.hk/about-us/hong-kongs-startup-ecosystem/
การสนับสนุนจากรัฐบาลฮ่องกง
โดยที่รัฐบาลกลางจีนแผ่นดินใหญ่ได้กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ ๕ ปี ฉบับที่ ๑๔ ให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เห็นได้จากแถลงการณ์นโยบาย (Policy Address) ประจำปี ๒๕๖๑ ซึ่งได้มีการเสนอ งบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัยและการพัฒนา จากสัดส่วนเดิมที่ร้อยละ ๐.๗๓ ของ GDP เพิ่มเป็น ร้อยละ ๑.๕ ภายในระยะเวลา ๕ ปี และแถลงการณ์ต่อมาใน ๒๕๖๒, ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ ระบุว่าฮ่องกงจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน ๔ สาขาหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
4
โดยรัฐบาลฮ่องกงจัดสรรงบประมาณกว่า ๑ แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว ๔ แสนล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรด้านการวิจัยและการพัฒนาดึงดูดกลุ่มผู้มีทักษะ (talents) ด้านวิทยาศาสตร์ ทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเสริมสร้างให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่นิยมในสังคม
1
ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงได้จัดตั้งและมอบหมายให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ร่วมภารกิจในการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสนับสนุนธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น
1. สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (InvestHK)
1
InvestHK เป็นหน่วยงานของรัฐบาลฮ่องกงซึ่งทำหน้าที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการต่างชาติ ที่ประสงค์จะจัดตั้งและขยายธุรกิจในฮ่องกง โดยมีส่วนงาน StartmeupHK ทำหน้าที่เสมือนที่ปรึกษาการพัฒนาธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพ ผ่านการให้ข้อมูลระบบนิเวศธุรกิจ แนะนำเครือข่ายธุรกิจ โครงการวิจัยและพัฒนาของสถาบันต่าง ๆ หรือแนะนำกลุ่มนักลงทุน/บริษัทรายใหญ่ที่อาจสนใจร่วมทุนในธุรกิจนวัตกรรม แหล่งเงินทุน วิธีการระดมทุน และโครงการบ่มเพาะต่าง ๆ โดยจะช่วยเหลือจนมั่นใจว่าผู้ประกอบการสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้จริงในตลาดฮ่องกงและในทุก ๆ ปี StartmeupHK จะจัดกิจกรรม “StartmeupHK Festival” เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพทั่วโลกได้ร่วมนำเสนอนวัตกรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และจับคู่ทางธุรกิจกับกลุ่มธุรกิจและนักลงทุนที่มีศักยภาพ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.startmeup.hk/
2
2. องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (Hong Kong Trade Development Council – HKTDC)
Hong Kong Trade Development Council หรือ HKTDC เป็นหน่วยงานของรัฐบาลฮ่องกงที่มีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจในฮ่องกง โดย HKTDC ได้พัฒนาโครงการ “HKTDC Transformation Sandbox (T- box)” เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จดทะเบียนบริษัทภายใต้กฎหมายฮ่องกงในด้านต่าง ๆ อาทิ การทำการตลาด การขยายธุรกิจในช่องทาง E-Commerce การย้ายฐานการผลิต และการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ โดย T-Box จะจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้กับสมาชิกเป็นระยะเวลา ๓ เดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://smesupport.hktdc.com/en/s/tbox
3. อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (Hong Kong Science and Technology Park – HKSTP)
Hong Kong Science and Technology Park หรือ HKSTP เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีระบบนิเวศด้านการวิจัยและพัฒนาใหญ่ที่สุดของฮ่องกง และเป็นหน่วยงานสำคัญในการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงของฮ่องกง โดยมีบริษัทเทคโนโลยีในพื้นที่กว่า ๑,๐๐๐ ราย จาก ๒๓ ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งรวมถึงบริษัทยูนิคอร์น ๓ บริษัทของฮ่องกง ได้แก่ Sensetime (ด้าน AI), Lalamove (ด้านโลจิสติกส์) และ SmartMore (ด้าน AI)
1
โดย HKSTP สนับสนุนผู้ประกอบการตั้งแต่ขั้นริเริ่มพัฒนาธุรกิจจากผลงานวิจัยและออกแบบผลิตภัณฑ์ (pre-incubation) และทดสอบแผนการดำเนินธุรกิจ (soft landing) รวมทั้งมี Fin+Tech Collaboration Platform ช่วยพัฒนาผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (Fintech) นอกจากนี้ HKSTP ยังมีบทบาทสําคัญในการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับนักลงทุน และร่วมลงทุนในโครงการธุรกิจที่เล็งเห็นถึงศักยภาพ ผ่านกองทุน Corporate Venture Fund (CVF)
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hkstp.org/innovate-with-us/investment-opportunities/entrepreneurs/
ที่มาของภาพ : https://research.hktdc.com/en/article/NjYwMTUyNDYy
โอกาสของธุรกิจสตาร์ทอัพไทย
1
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ นางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงได้เดินทางเยือนไทย และในโอกาสดังกล่าวได้ลงนามการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกันใน ๖ สาขาสำคัญให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประกอบด้วย การค้า การลงทุนและการย้ายฐานการผลิต การเงิน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ดิจิทัลและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ในห้วงการเยือนดังกล่าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ของไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ Hong Kong Science and Technology Park Corporations (HKSTP) ของฮ่องกงเพื่อร่วมสนับสนุนการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ โดยความร่วมมือฯ ครอบคลุมการบ่มเพาะสตาร์ทอัพร่วมกัน (Joint-Incubation Program) การสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจ (Soft-Landing) การจัดกิจกรรมนำเสนอโครงการธุรกิจ (Startup Pitching) และการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching)
2
ซึ่งกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและฮ่องกงนี้จะเอื้อให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือ เครือข่าย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทยและฮ่องกงเข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสตาร์ทอัพไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าวในการพัฒนาศักยภาพและขยายตลาดของตน โดยใช้จุดแข็งของฮ่องกงในการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดของจีนแผ่นดินใหญ่ และตลาดต่างประเทศทั่วโลกต่อไปได้
1
จัดทำโดย :ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เกาะฮ่องกง
ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุนในจีนได้ทาง www.thaibizchina.com
ไม่พลาดเรื่องราวที่น่าสนใจ สมัครรับ e-newsletters (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ทาง https://thaibizchina.com/about-us/newsletter/
2
#ThaiBizChina
#เพื่อนคู่คิดเพื่อธุรกิจไทยในจีน
โฆษณา