12 ต.ค. 2021 เวลา 14:46 • ความคิดเห็น
ก่อนตอบคำถามนี้ ลองนึกย้อนไปที่คำถามก่อน ว่า ขนบธรรมเนียม หรือ ประเพณี มันคืออะไร
ถ้าเราเข้าใจความหมายของสองคำนี้ เราจะได้คำตอบของคำถามนี้ไปพร้อมกัน
ขนบธรรมเนียม กับ ประเพณีเหมือนกันหรือเปล่า? ถ้าเหมือนทำไมไม่ใช้คำเดียวกัน ถ้าความหมายไม่เหมือนกันแล้วอะไรคือความแตกต่างของมัน
อะไรคือ ขนบธรรมเนียบ พอเราพูดถึงค่ำนี้เรามักจะนึกถึงอะไรที่ดูเก่าแก่ นึกถึง หญิงสาวในชุดไทย สไบสีสดใส ร้อยพวงมาลัยดอกมะลิ ด้วยท่าทางอ่อนช้อย ข้างๆมีพานขนมไทย พร้อมกลิ่นน้ำอบลอยมาเตะจมูก สิ่งเหล่านี้คือมายาคติที่เรามีต่อคำนี้
ประเพณีเองก็ไม่ต่างกัน พอเราพูดถึงประเพณีเรามักจะนึกถึงลอยกระทง สงกรานต์ เข้าพรรษา ดังนั้นแล้วด้วยมายาคติชุดเหล่านี้เมื่อเราพูดถึงคำว่าขนบธรรมเนียมหรือประเพณีเรามักจะนึกถึงคุณค่าความดีงามชุดความหมายแบบไทยดั้งเดิม
แต่ในเชิงสังคมวิทยาและ มานุษยวิทยา ให้ความหมายของคำเหล่านี้ภายใต้พื้นฐานของ การกระทำ (Action)
การกระทำ คือ สิ่งที่คนคนหนึ่งแสดงออก และเมื่อกระทำสิ่งเรานั้นเป็นประจำหรือบ่อยครั้ง เราจะเรียกการกระทำเหล่านั้นว่าพฤติกรรม (behavior) และเมื่อคนหลายคนแสดงพฤติกรรมเดียวกัน เราจะเรียกสิ่งนั้นว่าวิถีประชา (folkways) และเมื่อวิถีประชาได้ถูกแสดงออกในหลายกลุ่ม เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า ธรรมเนียม (convention) และเมื่อธรรมเนียมได้รับความนิยมมากขึ้น มันจะกลายเป็น ประเพณี (Tradition) และเมื่อประเพณีขยายตัวไปทั่วสังคมมันจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าสถาบัน (institution) และสถาบันหลากหลายสถาบันในสังคมรวมกันเราเรียกว่า วัฒนธรรม (culture)
แล้วจะเห็นได้ชัดว่าจะคำอธิบายที่กล่าวมานั้นมันไม่ได้มีความหมายของความเป็นไทยแบบโรแมนติกอะไรเหล่านั้นอยู่ในคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมของผู้คนในสังคมในแต่ละระดับ
เมื่อเราพิจารณาตามความหมายเช่นนี้เราจะเห็นได้ว่ามันไม่มีสังคมใดที่จะสามารถอยู่ได้โดยปราศจากสิ่งที่เรียกว่าขนบธรรมเนียมหรือประเพณี ดังนั้นถ้าจะถามว่าขนบธรรมเนียมประเพณียังมีความจำเป็นในสังคมปัจจุบันอยู่ไหมคำตอบก็คือ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในสังคม มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะถอดหรืออยู่โดยไม่มีสิ่งเหล่านี้
เหมือนคำที่ว่า “ที่ใดมีมนุษย์ที่นั่นมีวัฒนธรรม”
แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ในสังคมสมัยใหม่ที่ว่ากันนี้ขนบธรรมเนียมหรือประเพณีจะอยู่ในลักษณะหน้าตาแบบไหน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแค่ไหน
เพราะจาก ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผ่านมาทั้งสังคมและวัฒนธรรมล้วนแล้วแต่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขนบธรรมเนียมยุคเราไม่ได้เหมือนขนบธรรมเนียมในยุคก่อน ประเพณีในยุคเราก็ไม่ได้มีลักษณะที่เหมือนกันกับประเพณีในยุคก่อนเสียทีเดียว ขนบธรรมเนียมประเพณีหรือสิ่งที่เรียกรวมว่าวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
การที่เราจะพยายามนำเอาวัฒนธรรมในยุคหนึ่งมาใช้ในอีกยุคหนึ่ง มันย่อมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับบริบท (ยกตัวอย่างง่ายง่ายถ้ามีคนเดินเข้ามาคุยกับเราด้วยภาษาเหมือนกับในละครบุพเพสันนิวาสคุณจะรู้สึกยังไง) ดังนั้นแล้ววัฒนธรรมเองจึงไม่ได้เป็นสิ่งหยุดนิ่งตายตัวแต่บริบททางสังคมต่างหากจึงเป็นตัวที่กำหนดว่าวัฒนธรรมที่จะกำลังเปลี่ยนไปนั้นควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
โฆษณา