15 ต.ค. 2021 เวลา 03:03 • ประวัติศาสตร์
เมื่อราชองครักษ์ทนไม่ไหวจนต้องถวายฎีกา
ปี 2518 พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ถวายฎีกาหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอาการประชวรหนัก ขณะประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่
"หมอสันนิษฐานว่าท่านไปเยี่ยมชาวเขา เข้าไปในบ้าน แล้วก็โดนหมัดนำเชื้อโรคมา แล้วก็ทรงพระประชวรค่อนข้างหนัก พระปรอท (ไข้) สูงอยู่ราว 40 องศา ทั้งสัปดาห์ไม่ลงเลย ต้องระดมแพทย์จากกรุงเทพฯ ไปถวายการรักษา พวกเราวิตกกันมาก ในที่สุดพระไข้ก็ลง พระอาการทุเลาลง หมอกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้งดเสด็จพระราชกรณียกิจอย่างน้อย 1 เดือน พวกเราก็โล่งใจกัน ก็รู้ว่าไม่เสด็จที่ไหน"
วันหนึ่ง พล.ต.อ.วสิษฐพักอยู่ภายในเรือนพักของราชองครักษ์ ได้ยินสถานีแม่ข่ายวิทยุสื่อสารค่ายดารารัศมี อ.แม่ริม วิทยุเรียกเฮลิคอปเตอร์ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับ สักพักหนึ่ง พระสุรเสียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ดังขึ้น ทรงรับสั่งตอบว่าเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวลงจอดอยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน
"เราเกือบจำไม่ได้ว่าเป็นพระสุรเสียงท่านเพราะแหบเครือ ท่านได้ยินเสียงแม่ข่าย แต่แม่ข่ายไม่ได้ยินเสียงเครื่องนั้นเพราะมันอยู่สูงกว่า ผมไม่ได้ดูตาม้าตาเรืออะไร นึกอย่างเดียวว่าขัดเคืองที่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอ ท่านลุกมาพูดวิทยุ ผมก็ทำฎีกาถวายเลย"
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร บอกว่า การได้ถวายงานใกล้ชิด เป็นยิ่งกว่า "เหรียญตรา" ของชีวิต
จดหมายฎีกาฉบับนั้นถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายผ่านนางสนองพระโอษฐ์ ก่อนที่วันรุ่งขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเชิญพระราชหัตถเลขาตอบลงมาที่เจ้าของฎีกา ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้ทรงด้วยพระหัตถ์ แต่พิมพ์ดีดโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
"ผมระบายอารมณ์ไปในฎีกาของผมด้วยว่าทรงพระประชวรคราวนั้น คนไทยทั้งประเทศเลยที่เป็นห่วงท่าน ตัวผมเองถึงขนาดตั้งใจว่าถ้าหายพระประชวร จะบวชถวายเป็นพระราชกุศล ท่านตอบมาเป็นข้อ ๆ ข้อที่เกี่ยวกับการทรงงาน ท่านบอกว่าท่านไม่ได้ดื้อหมอ ที่นั่งฟังวิทยุเป็นเรื่องพักผ่อนพระอิริยาบถของท่าน เมื่อได้ยินเสียงตำรวจตระเวนชายแดนเขาเรียกเฮลิคอปเตอร์เครื่องที่หาย ก็ทรงทราบว่าเขาก็เป็นห่วง และท่านบังเอิญได้ยินอยู่พระองค์เดียว ท่านก็ตอบ แล้วก็จบ ดังนั้นไม่ได้เป็นเรื่องทำงานหนักหนาอะไร ส่วนข้อที่ผมกราบบังคมทูลฯ ต่อว่าไป แล้วก็กราบบังคมทูลฯ ว่าผมจะบวชถวาย ท่านรับสั่งถามลงมาในข้อนั้นว่าจะบวชให้ใคร เราไม่ตายบวชไม่ได้ ถ้าบวชหน้าไฟ อนุญาตให้บวช"
แม้ผ่านมาหลาย 10 ปี แต่ พล.ต.อ.วสิษฐยังเก็บพระราชหัตถเลขาฉบับนั้นไว้อย่างดี
โฆษณา