17 ต.ค. 2021 เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปประเด็นร้อนรอบโลก ด้านการเงินการลงทุน
ระหว่างวันที่ 11 - 17 ต.ค. 2564
สรุปข่าว
1️⃣
PTTEP ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ปฏิวัติการลงทุน เสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล ปตท.สผ. ผ่านวอลเล็ตบนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ครั้งแรกในเอเชีย ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าลงทุนเริ่มต้นที่ต่ำที่สุดของการขายหุ้นกู้ภายในประเทศ
.
ปตท.สผ." ผนึก "กรุงไทย" ปฎิวัติการลงทุน เสนอขาย "หุ้นกู้ดิจิทัล ปตท.สผ." บนช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านวอลเล็ตเป็นครั้งแรกในเอเชีย ซื้อ-ขายง่าย ได้ทันที 24 ชั่วโมง ผ่านแอปฯเป๋าตัง ตอกย้ำความเป็น "Thailand Open Digital Platform"
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นนำนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ลูกค้าและประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง บนช่องทางดิจิทัลที่เข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก และปลอดภัย ตอบโจทย์การใช้งานในยุคใหม่ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย (Infinitas by Krungthai) ให้เป็น Thailand Open Digital Platform เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานทุกกลุ่มใช้บริการได้ แม้ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย พร้อมเปิดกว้างร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลาย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับศักยภาพของ Platform ให้สามารถบริการครอบคลุมกิจกรรมหลักในชีวิตของลูกค้าและประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งด้านบริการทางการเงิน สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ รวมถึงการออมและการลงทุน
ในครั้งนี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับ ปตท.สผ. ยกระดับแอปฯเป๋าตัง รองรับการซื้อหุ้นกู้ดิจิทัลของ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นการจองซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดแรก และสามารถซื้อขายเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในตลาดรอง บนช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ ผ่านวอลเล็ตเป็นครั้งแรกในเอเชีย
เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนกับ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำของประเทศไทย หุ้นกู้ดิจิทัล ปตท.สผ. จึงเปิดให้ลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าลงทุนเริ่มต้นที่ต่ำที่สุดของการขายหุ้นกู้ภายในประเทศ บริษัทคาดว่าจะสามารถกำหนดมูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้ทั้งหมดได้ในช่วงปลายเดือนต.ค. 64 คาดว่าเบื้องต้นจะอยู่ที่จำนวน 5 พันล้านบาท และคาดว่าจะเปิดการเสนอขายหุ้นกู้ได้ในระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 64
สำหรับ หุ้นกู้ดิจิทัล ปตท.สผ. ที่เสนอขายครั้งนี้ เป็นหุ้นกู้ระยะยาวชนิดระบุชื่อผู้ถือ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 5 ปี ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี พ.ศ. 2569 ด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเริ่มต้น ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี และสูงสุดที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.25 ต่อปี
โดยกำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน นักลงทุนสามารถลงทุนเพิ่มด้วยอัตราทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท วงเงินลงทุนสูงสุดท่านละไม่เกิน 10 ล้านบาท หุ้นกู้ดิจิทัล ปตท.สผ. ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA โดยทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 64 ซึ่งถือเป็นอันดับสูงสุดของตราสารหนี้ในประเทศ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท
สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัลครั้งนี้ของ ปตท.สผ. เป็นการกลับมาเสนอขายหุ้นกู้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดย ปตท.สผ. ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานของคนไทย ต้องการเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยได้มีส่วนร่วมในการลงทุนกับ ปตท.สผ. เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่มองหาโอกาสการลงทุนกับบริษัทที่มีความมั่นคงและเติบโตในอนาคต ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นที่น้อยที่สุดของการซื้อขายหุ้นกู้ในประเทศ
2️⃣
แบงก์ชาติญี่ปุ่นเล็งออกแบบสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้งานได้ง่าย เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถใช้ในการพัฒนาบริการด้านการเงินและการชำระเงินสำหรับลูกค้า
นายชินอิจิ อูชิดะ ผู้อำนวยการบริหารของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย BOJ นั้น ควรมีการออกแบบที่เรียบง่าย เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถใช้ในการพัฒนาบริการด้านการเงินและการชำระเงินสำหรับลูกค้า
ที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางทั่วโลกได้พยายามพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง เพื่อปรับระบบการเงินให้มีความทันสมัยมากขึ้นและทำให้การชำระเงินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
"หากธนาคารกลางตัดสินใจที่จะออกสกุลเงินดิจิทัล ก็จำเป็นต้องให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบันสำหรับการบริการด้านการชำระหนี้ของภาคเอกชน และการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ควรออกแบบเพื่อให้ภาคเอกชนนำไปใช้ในการพัฒนาบริการที่หลากหลาย" นายอูชิดะกล่าว
ในขณะเดียวกัน BOJ ถูกกำหนดให้ดำเนินการขั้นที่สองของการทดลองเงินเยนดิจิทัลในเดือนเมษายน พ.ศ. 2022 คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่จะได้รับการทดสอบในขั้นตอนนี้ก็คือ หากจำเป็นต้องจำกัดจำนวนเงินที่แต่ละหน่วยงานถือครองไว้
อย่างไรก็ตาม อุชิดะย้ำจุดยืนของธนาคารกลางว่าไม่ต้องรีบออก CBDC ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกยังคงมีส่วนร่วมใน CBDC โดยมีบางโครงการที่ดำเนินโครงการสกุลเงินดิจิทัลร่วมกัน
3️⃣
ปัญหาขาดแคลนชิพทั่วโลกส่งผลกระทบทำให้การผลิตสินค้าหยุดชะงัก อาจลากยาวถึงปี 2566 โดยผู้ผลิตรถยนต์รับผลกระทบหนักสุด
ปัญหาการขาดแคลนชิพทั่วโลกส่งผลกระทบทำให้การผลิตสินค้าหลายประเภทต้องหยุดชะงัก ยักษ์ใหญ่วงการ “เซมิคอนดักเตอร์” หรือ "ชิพ" เร่งขยายกำลังการผลิต ชี้กำลังผลิตปัจจุบันไม่พอความต้องการและปัญหาอาจลากยาวถึงปี 2566 โดยผู้ผลิตรถยนต์รับผลกระทบหนักสุด
จากความเห็นของ Bosch บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกเชื่อว่าซัพพลายเชนของชิพปัจจุบันไม่สามารถรองรับความต้องการในอนาคตได้อีก โดยตั้งแต่ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตชิพหลายแห่งขยายโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิต แต่ใช้เวลาถึงปี 2565-2566 กว่าจะผลิตได้
ในขณะที่ “แมท เมอร์ฟีย์” ซีอีโอ Marvell Technology บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ มองว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งดีมานต์ของสินค้าบางตัวที่ใช้ชิพเป็นส่วนประกอบจะเริ่มลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนตัว หลังจากนั้นตลาดจะกลับสู่ดีมานต์จริง เพราะขณะนี้การสั่งซื้อชิพเกิดจากความตื่นกลัวท่ามกลางโรคระบาดใหญ่ และเมื่อความต้องการชิพจากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เริ่มซาลง แน่นอนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะเป็นกลุ่มแรกที่อ้าแขนรับชิพจากโรงงานใหม่
“ลิซ่า ซู” ซีอีโอ AMD บริษัทผลิตชิพให้ความเห็นว่า กำลังการผลิตเพิ่มเติมจะแก้ปัญหาในปีหน้า “การสร้างโรงงานแห่งใหม่ต้องใช้เวลา 18-24 เดือน หรือบางกรณีนานกว่านั้น ซึ่งเราเริ่มลงทุนมาตั้งแต่ 1 ปีก่อน"
นอกจากนี้ คู่แข่งอย่าง Intel ประกาศเมื่อเดือน มี.ค.ว่าจะลงทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานใหม่ในแอริโซน่า 2 แห่ง รวมถึง TSMC โรงงานผลิตชิพยักษ์ใหญ่จากไต้หวันที่เป็นซัพพลายเออร์ Apple สร้างโรงงานแห่งใหม่ในรัฐแอริโซน่า ด้วยเงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และลงทุนอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อขยายกำลังการผลิตใน 3 ปีข้างหน้า
ขณะที่ General Motor หรือ GM ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากสหรัฐ รายงานยอดขายยานยนต์ในสหรัฐ ไตรมาสที่ 3 ลดลงกว่าปีก่อนหน้า 30% เพราะปัญหาขาดแคลนชิพ และ ก.ย.ที่ผ่านมาปิดโรงงานส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือ ซึ่งแก้ปัญหาขาดแคลนชิพด้วยการโยกชิพที่มีไปผลิตสินค้ารุ่นที่นิยมและทำกำไรมาก เช่น รถกระบะ
เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า ผู้ประกอบการในไทยมีกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ที่ต้องการใช้ชิพเป็นส่วนประกอบ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเอกชนเห็นว่ารัฐควรออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการไทยเพิ่มอำนาจต่อรองด้วยการเป็นตัวแทนเจรจาจัดซื้อชิพล็อตใหญ่ให้ผู้ผลิตแบ่งโควตาให้ลูกค้าเมืองไทย รวมทั้งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้หารือกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อดึงบริษัทข้ามชาติขยายฐานการผลิตในไทย
รายงานข่าวจากบีโอไอ ระบุว่า ไทยอยู่ใน Global Supply Chain อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กว่า 40 ปี โดยปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอันดับ 13 ของโลก มีผู้ผลิตกว่า 600 บริษัท และ 30% เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทร่วมทุนกับผู้ผลิตระดับโลก
สำหรับผลิตภัณฑ์หลักในไทยอยู่กลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดัคเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและชิ้นส่วน รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์สำนักงาน
Next Week!! ประเด็นที่น่าจับตาในสัปดาห์หน้า
- ตัวเลข GDP ของจีน ไตรมาส 3 ปี2021 ในวันที่ 18 ต.ค.
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ เดือนก.ย. ในวันที่ 20 ต.ค.
- ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมนี ในวันที่ 22 ต.ค.
ฝากติดตามเพจ Cashury - เพจความรู้พื้นฐานด้านการเงินการลงทุน
ติดตาม Cashury ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ที่
🔸YouTube Channel: https://www.youtube.com/cashury
โฆษณา