16 ต.ค. 2021 เวลา 18:00 • การศึกษา
ด้านมืดของโลกออนไลน์​ที่เราอาจจะตกเข้าไปอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อนโดยไม่รู้ตัว
โลกออนไลน์เปิดกว้างให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย/รอบด้าน
แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นอำนาจของผู้ใช้ที่สามารถเลือกเปิดรับหรือไม่เปิดรับข้อมูลด้านใดด้านหนึ่ง รวมถึงสามารถแสดงความคิดเห็นและร่วมกันพัฒนาเนื้อหา (online collaboration) แบ่งปันประสบการณ์จนในที่สุดก็จะได้กลุ่มคนที่มีทัศนคติ ความสนใจใกล้เคียงมาเกิดปฏิสัมพันธ์กันในโลกออนไลน์ จนกลายเป็นชุมชนเสมือน (virtual communities) ขึ้นมา
ชุมชนเสมือนนี้ โดยเฉพาะชุมชนเหมือนทางการเมือง(ของไทย) นานวันเข้าก็จะไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง สะท้อนออกมาในรูปแบบการทำให้คนเห็นต่างเป็นคู่ตรงข้าม เช่น ควายแดง สลิ่ม สามกีบ ฯลฯ จนในที่สุดคนที่มีความเห็นต่างก็จะออกจากชุมชุนชนเสมือนหนึ่งไปยังชุมชนเสมือนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นคล้ายๆตนเอง บ้างกดอันเฟรนด์เพื่อนที่เห็นต่าง หรือไม่ก็เลิกแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาบางประการ เช่น การเมือง เพื่อให้สามารถอยู่ในชุมชนเสมือนนั้นต่อไปได้โดยไม่เกิดปัญหารำคาญใจ ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขในการเปิดรับข้อมูล และตอกย้ำความเชื่อของตัวเองโดยไม่รู้ตัวทำให้เราตกอยู่ในฟองสบู่ของข้อมูล (filter bubble) ที่จำกัดโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน และนำไปสู่ความคิดสุดขั้วมากขึ้น (polarization)
นี่ยังไม่นับรวมว่าระบบอัลกอริทึมที่ช่วยกรองและแสดงผลข้อมูลที่ตรงกับความสนใจ กลายเป็นตัวเร่งที่ขับเน้นให้เกิด ห้องแห่งเสียงสะท้อน (echo chamber) ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์แบบเดียวกัน
#การศึกษา​ #การเมือง #สื่อ #โลกออนไลน์​
โฆษณา