21 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
4 เทคนิคซื้อสินทรัพย์ให้คุ้มสุดๆ
จ่ายเงินซื้อสินทรัพย์เข้าธุรกิจ เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากเป็นลำดับต้นๆ ของเจ้าของกิจการ
เพราะนอกจากจะมีเงินก้อนโตไหลออกไปจากธุรกิจแล้ว อาจจะมีภาระที่ต้องดูรักษาสินทรัพย์นั้นตามมาในอนาคต
4 เทคนิคซื้อสินทรัพย์ให้คุ้มสุดๆ
ถ้าใครกำลังก่อร่างสร้างธุรกิจ แล้วสงสัยว่าถ้าซื้อสินทรัพย์แล้วต้องคิดยังไงถึงจะคุ้มสุดๆ ลองมาดูเทคนิคสั้นๆ ที่ Zero to Profit นำมาฝากกัน
1. มีประโยชน์
เรื่องแรกที่สำคัญมากสำหรับการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์เข้าธุรกิจ คือ เรื่องประโยชน์
เจ้าของธุรกิจอาจจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า สินทรัพย์ที่จะลงทุนซื้อจำเป็นจริงๆ กับธุรกิจหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น การซื้อรถประจำตำแหน่ง มีประโยชน์กับธุรกิจไหม จำเป็นกับการหาเงินเข้าธุรกิจหรือเปล่า
ถ้าสมมติว่า ตอนนี้ธุรกิจยังกำลังตั้งไข่ การตัดสินใจซื้อรถราคาแพงเข้ามาอาจจะยังไม่มีประโยชน์มากนัก ถ้าเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่น อย่างเช่น เครื่องจักร หรือรถขนส่ง เป็นต้น
2. ประหยัดค่าใช้จ่าย
แม้ว่าจะตอบว่าสินทรัพย์ที่ซื้อเข้ามามีประโยชน์กับธุรกิจ แต่ทว่าเราก็ต้องการความมั่นใจระดับนึงว่าสินทรัพย์นี้ พอซื้อเข้ามาแล้ว ในระยะยาวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายธุรกิจได้บ้างไหม
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าทุกวันนี้เราต้องเช่ารถขนส่งพร้อมคนขับเป็นรายเดือนทุกเดือนละ 12,000 บาท
ถ้าเทียบกับการซื้อรถขนส่งและจ้างคนขับเอง เราจะมีรายจ่ายดังต่อไปนี้
- ค่ารถยนต์ 700,000 บาท คิดค่าเสื่อม 10 ปี ตกปีละ 700,000/10 = 70,000 บาท
- ค่าจ้างคนขับรถเดือนละ 5,000 บาท
- ค่าบำรุงรักษารถยนต์ปีละ 10,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันภัยปีละ 2,000 บาท
ถ้าเราลิสค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถขนส่งใหม่ได้แล้ว ก็คำนวณเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรายปีตามนี้ได้เลย
- ถ้าเช่ารถ = ค่าใช้จ่ายต่อปีเท่ากับ 12,000*12 = 240,000 บาท
- ถ้าซื้อรถ = ค่าใช้จ่ายต่อปีเท่ากับ 70,000+(5,000*12)+10,000+2,000 = 142,000 บาท
เราจะพบว่า กิจการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ต่อปีกว่า 240,000-142,000 = 98,000 บาท
ฉะนั้น การเลือกซื้อรถก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจ
หมายเหตุ: หลายคนน่าจะสงสัยว่าทำไมตัวอย่างไม่เอาค่าน้ำมันรถมาคำนวณด้วยเลย นี่ก็เพราะการเช่ารถ และการซื้อรถมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำมันเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงไม่นำมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ
นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น ถ้าเพื่อนๆมีค่าใช้จ่ายน้ำมันไม่เท่ากันระหว่างสองตัวเลือกก็นำมารวมในการคำนวณได้เช่นกัน
3. มีรายได้เพิ่ม
ในบางครั้งการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายอาจจะไม่เพียงพอเสมอไป ก่อนตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ต้องดูเรื่องรายได้เพิ่มเติมด้วยว่าสินทรัพย์ที่จะซื้อเข้ามานั้น ทำให้ธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่
เพราะบางทีรายได้ที่ได้เข้ามา อาจมีมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าโรงงานปลากระป๋อง ต้องการซื้อเครื่องจักรใหม่มาผลิตสินค้าชนิดใหม่เป็นปลาบรรจุถุง
ราคาเครื่องบรรจุถุง = 1 ล้านบาท เครื่องจักรใช้งาน 10 ปี มีค่าเสื่อมราคา 100,000 บาทต่อปี
ค่าไฟที่เพิ่มขึ้น = 100,000 บาทต่อปี
ค่าพนักงานเพิ่มขึ้นสำหรับผลิตสินค้าใหม่นี้ = 500,000 บาทต่อปี
สมมติเราคำนวณรายได้ที่จะได้รับ 2,000,000 บาท ต่อปี ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบ = 30% ของรายได้
เราจะพบว่า
ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น = 100,000 + 100,000 + 500,000 + (2,000,000*30%) = 1,300,000 บาท
ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้น = 2,000,000 บาท
สรุปแล้ว ธุรกิจมีกำไร = 2,000,000 – 1,300,000 = 700,000 บาท
4. ทำงานมีประสิทธิภาพ
บางครั้งสินทรัพย์ที่ซื้อเข้ามาอาจจะไม่ได้สร้างรายได้ออกมาเป็นตัวเงินอย่างชัดเจน แต่ว่ามันช่วยให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น
การซื้อสินทรัพย์อย่างโปรแกรมบริหารคลังสินค้าเข้ามา ช่วยให้พนักงานคลังลดการใช้ Excel บันทึกสินค้าเข้า-ออก ลดเวลาการทำงาน และลดความผิดพลาดได้อย่างมาก
ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า พนักงาน 1 คนอาจทำงานได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพขึ้น แม้จะไม่ลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้ในวันนี้ แต่ก็มีผลดีในระยะยาว
สรุปง่ายๆ ซื้อสินทรัพย์เข้ามาในธุรกิจ คิดยังไงถึงจะคุ้ม ให้ดู 4 ข้อนี้เป็นแนวทาง แล้วจะไม่เสียใจหลังจ่ายเงินซื้อไป
#zerotoprofit #ซื้อสินทรัพย์
ปรึกษาปัญหาบัญชีธุรกิจ หาโปรแกรมบัญชีที่ใช่สำหรับธุรกิจคุณ ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
โฆษณา