22 ต.ค. 2021 เวลา 06:55 • การเมือง
ยุบสภาแน่ แต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้
1
คำถามสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนว่า “ยุบสภาเมื่อไหร่” นั้น ดูเหมือนว่าจะตอบไม่ง่ายเลย เพราะคนที่มีอำนาจ ยุบสภาคือนายกรัฐมนตรีที่จะทูลเกล้าฯเพื่อให้มีพระราชกฤษฎีกาได้นั้น ผมเชื่อว่าก็ไม่รู้คำตอบเหมือนกัน
บทความโดย ชำนาญ จันทร์เรือง | คอลัมน์ มองมุมใหม่
ยุบสภาแน่ แต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้
แต่ที่แน่ๆ ก็คืออายุสภาเหลือน้อยแล้ว เพียงแค่ปีกว่าๆ ก็จะครบ 4 ปีที่รัฐธรรมนูญกำหนดนับจากวันเลือกตั้งไปครั้งล่าสุด คือ วันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็หมายความว่าอายุสภาก็จะไปสิ้นสุดเอาในวันที่ 23 มีนาคม 2566
แต่จากการเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประกาศตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ก็ตาม หรือการประกาศว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคตนเองก็ตาม (ซึ่งก็มีทั้งจริงทั้งโยนหินถามทาง) และคณะรัฐมนตรีพร้อม ส.ส.ต่างพากันออกเดินสายกันอย่างถี่ยิบ ดูประหนึ่งว่าจะมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ แต่ความจริงคงมิใช่อย่างนั้น เพราะผมเชื่อว่าแม้แต่ตัวคุณประยุทธ์เองก็คงไม่อยากยุบสภาทำให้ตัวเองหลุดจากอำนาจเป็นแน่
1
เพราะไม่มีอะไรมาการันตีได้เลยว่าในครั้งต่อไปจะนอนมาอย่างสบายๆ ทั้งจำนวน ส.ส.ที่จะสนับสนุน หรือแม้แต่ ส.ว.เองก็เถอะจะยกทีเดียว 249 เสียงแบบที่ผ่านมาคงเป็นไปไม่ได้แล้ว ขนาดโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไปคนละทางสองทาง ไม่เป็นไปตามวิปในกรุ๊ปไลน์เลย
อีกทั้งยังมีชนักติดหลังคุณประยุทธ์อยู่ ก็คือประเด็นที่รัฐธรรมนูญห้ามการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ แม้ว่าจะมีอดีตกรรมาธิการมาการันตีว่านับตามการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เถอะ แต่ก็มีข้อโต้แย้งหนักๆ มาแล้วว่าทีลักษณะต้องห้ามอื่น เช่น ติดคุกในคดีเกี่ยวการทุจริต คดีเกี่ยวกับทรัพย์ ฯลฯ นั้น ก็เกิดก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำไมถึงเอามาใช้บังคับได้ เช่น กรณีหมอเลี้ยบ เป็นต้น
1. ยังไม่มีการยุบสภาในเร็วๆนี้ เพราะ
1.1 เพราะที่ผ่านมาผลงานของรัฐบาลยังไม่เป็นที่ประทับใจประชาชนมากนัก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาโควิด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาน้ำท่วม ฯลฯ และก็เป็นเรื่องธรรมดาเมื่ออยู่ในตำแหน่งนานๆ คนก็เริ่มเบื่อ แต่ในทางกลับกันคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้านต่างดีวันดีคืน
1.2 กฎกติกาไม่ว่าจะเป็นระเบียบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังไม่พร้อมหากมีการยุบสภาเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ที่สำคัญคือการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบนั้น พรรครัฐบาลจะได้เปรียบพรรคฝ่ายค้านแน่หรือ แม้แต่ในพรรคหลักของรัฐบาลเองก็ยังมีปัญหาภายในดังเป็นที่ทราบกันอยู่ คงต้องใช้เวลาชำระสะสางกันสักพักใหญ่ๆ จึงจะเข้ารูปเข้ารอย และพรรคสำรองที่เตรียมๆ กันไว้ก็ไม่ง่ายนักที่จะมาเป็นพรรคเสริมเรียกคะแนนนิยมหรือเพิ่มจำนวน ส.ส.ได้ อย่าลืมว่าพรรคแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วแต่ก็ล้มไม่เป็นท่า
ในประเด็นนี้บางคนอาจจะแย้งว่าก็ชิงยุบสภาก่อนประกาศพระบรมราชโองการแก้ไขรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา จะได้ใช้การเลือกตั้งแบบใบเดียวเหมือนเดิม และคุณประยุทธ์ที่ผ่านมาได้เป็นนายกฯ ก็เพราะบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวมาแล้ว ผมเห็นว่าโอกาสแบบนี้เป็นไปไม่ได้ หากยุบสภาก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นมาจริง ผลกระทบที่ตามมาจะมากมายมหาศาลจนไม่อยากคิดต่อเลยว่าจะกระทบหรือสั่นสะเทือนอะไรบ้าง ที่สำคัญคือคุณประยุทธ์ไม่กล้าทำเช่นว่านี้หรอก
1.3 การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่ว่าจะเป็นเดิมหรือแบบใหม่ พรรคการเมืองที่จะส่ง ส.ส.เขตได้ ต้องมีสมาชิกในเขตไม่น้อยกว่า 100 คน และมีตัวแทนจังหวัดของพรรค (ตทจ.) ประจำเขตเลือกตั้งนั้นอย่างน้อย 1 คน อีกทั้งต้องทำไพรมารีคัดตัวแทนที่ลง ส.ส.อีกด้วย หลังจากที่ได้รับการยกเว้นมาในคราวที่แล้ว หากยุบสภาตอนนี้โดยบังคับใช้ ตทจ.และไพรมารีเต็มรูปแบบแล้ว ไม่มีพรรคไหนทำได้หรอกครับ
2. จะยุบสภาเมื่อไหร่ ผมจะเรียงลำดับจากโอกาสมากไปหาน้อย คือ
2.1 เมื่อใกล้ครบวาระ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งของคุณประยุทธ์ในเดือน ส.ค.2565 คุณประยุทธ์คงไม่ยอมให้เกิดการยื่นตีความไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นแน่ ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเป็นคุณมาครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม แต่ครั้งนี้ไม่แน่ ดังเหตุผลที่ผมเคยยกไว้ข้างต้นก่อนหน้านี้แล้วกรณีหมอเลี้ยบ และเมื่อตอนนั้นสถานการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปมาก แรงกดดันจะมีมากมหาศาล
ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นโอกาสเดียวที่ดีที่สุดของคุณประยุทธ์ที่จะหาทางลงจากตำแหน่งได้ โดยการยุบสภาแล้วไม่ลงอีกโดยอ้างเหตุผลของการอยู่ครบ 8 ปี ซึ่งก็จะเป็นประวัติศาสตร์การเมืองอีกหน้าหนึ่งเทียบเคียงกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2.2 อุบัติเหตุการเมือง เช่น การลงมติในกฎหมายสำคัญๆ ในการเปิดสมัยประชุมสภาที่จะมาถึงนี้ แม้โอกาสเกิดขึ้นได้ยากแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากฝ่ายรัฐบาลตั้งตนอยู่ในความประมาท
2.3 ยุบก่อนครบวาระ 4 ปีนิดหน่อย (หากหมดประเด็นเรื่องนายกฯ 8 ปี) เพื่อที่จะได้มีโอกาสยืดเวลาเลือกตั้งเป็นภายใน 60 วันแทนที่จะเป็น 45 วันหากสภาอยู่ครบ แต่ข้อนี้เกิดขึ้นได้น้อยกว่าสองข้อข้างต้น แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการปรับเพิ่มพรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลเพิ่มขึ้นหรือมีการยุบรวมพรรคเล็กที่พยายามเอาตัวรอดจากบัตรสองใบ อย่างเช่นที่พรรคของคุณไพบูลย์เคยทำมาแล้วหรือมีการย้ายข้างเกิดขึ้น
กล่าวโดยสรุปคือคำตอบของคำถามที่ว่า “ยุบสภาเมื่อไหร่” นั้น ผมขอตอบว่ายุบแน่แต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตามการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน เราดูเฉพาะการเมืองในสภาอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูการเมืองนอกสภาด้วยว่าจะมีเหตุแทรกซ้อนต่อการยุบสภาหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ม็อบทั้งหลายที่ฝ่ายกุมอำนาจเคยปรามาสไว้ เช่น 14 ตุลา 16 หรือ 17 พฤษภา 35 หรือแม้แต่เลวร้ายที่สุดคือการรัฐประหาร
อย่ากระพริบตาครับ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะนักรัฐศาสตร์หลายคนก็ฉีกตำราทิ้งมาเยอะแล้วเหมือนกัน.
1
โฆษณา