20 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในรอบ 20 ปี ผู้ปฎิวัติแนวคิดการค้าระหว่างประเทศ
1
หากพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์ผู้ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน ชื่อของพอล ครุกแมน (Paul Krugman) ย่อมจะเป็นหนึ่งในชื่อต้นๆ ที่หลายคนจะต้องนึกถึงอย่างแน่นอน
Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในรอบ 20 ปี ผู้ปฎิวัติแนวคิดการค้าระหว่างประเทศ
จากผลงานอันโดดเด่นทั้งในเชิงงานวิจัย งานเขียนหนังสือกว่า 27 เล่ม การเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ New York Times และที่สำคัญที่สุด “รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2008” ที่ครุกแมนได้รับรางวัลจากงานที่ปฏิวัติแนวคิดการค้าระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมที่คงอยู่มาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ครุกแมนยังมีความโดดเด่นในการนำเสนอเรื่องราวที่มีความซับซ้อนทางเศรษฐศาสตร์ ให้สามารถเข้าถึงผู้ทั่วไปได้อย่างง่ายดาย (Pop Economist) เหตุผลข้างต้นเหล่านี้รวมกันทำให้เว็บไซต์ academicinfluence ได้จัดให้ครุกแมนเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการเศรษฐศาสตร์ในรอบ 20 ปีเลยทีเดียว (The most influential people in Economics, for the years 2000-2020)
📌 เส้นทางการเติบโตในสายเศรษฐศาสตร์
ครุกแมนได้เข้าศึกษาเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล และก็ระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย MIT โดยครุกแมนเคยเล่าไว้ว่าในตอนแรก เขาเคยมีความคิดที่จะอยากจะเรียนในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ แต่หลังจากได้เข้าศึกษาในรายวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ก็ทำให้เขาค้นพบว่าสาขาวิชานี้ตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาต้องการมากกว่า เพราะคำถามที่เขามักจะตั้งอยู่เสมอคือ คำถามที่ขึ้นต้นด้วย “ทำไม” ไม่ใช่ “เกิดอะไรขึ้น”
1
หลังจากจบการศึกษาครุกแมนก็มีโอกาสได้เข้าสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้ง เยล พรินซ์ตัน และ MIT และก็ได้เขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ New York Times ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เขาได้แสดงทัศนะทางด้านเศรษฐศาสตร์ในหลากหลายประเด็น อาทิ เรื่องภาษี นโยบายภาครัฐ ตลาดการเงินฯ อย่างไรก็ดี งานที่อาจจะเรียกได้ว่าสำคัญที่สุด ที่เปลี่ยนชีวิตของครุกแมนไปตลอดกาล คือ งานวิจัยที่ลงในวารสารวิชาการที่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้อ่าน ที่เขาเสนอทฤษฎีการค้าแบบใหม่ (New Trade Theory) จนพาให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 2008
1
📌 ทฤษฎีการค้าดั้งเดิม
การจะเข้าใจว่าทฤษฎีของครุกแมนในเรื่องการค้าระหว่างประเทศยิ่งใหญ่แค่ไหน ต้องเข้าใจก่อนว่าก่อนหน้านั้นทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ดั้งเดิมยิ่งใหญ่เท่าใด
ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศแรกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ ทฤษฎี Comparative Advantage ของเดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) ที่บอกว่า “ประเทศจะทำการค้ากันต่อเมื่อพวกเขามีความแตกต่างในเทคโนโลยีการผลิต” อธิบายเพิ่มเติมคือ ริคาร์โดเชื่อว่าแต่ละประเทศมีความเชี่ยวชาญการผลิตสินค้าที่แตกต่างกัน ประเทศไทยปลูกข้าวได้เก่งก็ควรจะส่งออกข้าว ประเทศอย่างฝรั่งเศสผลิตไวน์ได้ดีก็ควรส่งออกไวน์
David Ricardo หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคคนสำคัญที่สร้างทฤษฎีการค้าดั้งเดิม
ซึ่งแนวคิดของริคาร์โดก็ยังถูกพัฒนาต่อมาโดย Eli Heckscher และ Bertil Ohlin ที่ชี้ว่า ประเทศที่ทำการค้าขายกันนั้นเพราะ มีความแตกต่างกันในทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ ประเทศที่มีแรงงานมนุษย์เข้มข้น (Human intensive) ก็จะผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สินค้าเกษตร การประมง แต่ประเทศที่มีทุนเข้มข้น (Capital intensive) ก็จะผลิตสินค้าที่ใช้ทุน (เครื่องมือ เครื่องจักร) เข้มข้น เช่น รถยนต์ เครื่องจักร
แนวคิดการค้าระหว่างประเทศสองแนวคิดข้างต้นได้รับการยอมรับอย่างมาก จนกลายเป็นพื้นฐานของการเรียนเศรษฐศาสตร์สาขาการค้าระหว่างประเทศ และยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ Bertil Ohlin ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1977 ด้วย
Bertil Ohlin ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากงานทฤษฎีการค้าแบบดั้งเดิมในปี 1977 เช่นกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปรูปแบบการค้าที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ท่าน เคยเสนอไว้ ก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ จากที่ประเทศทำการค้าขายสินค้าที่ “มีความแตกต่างกัน” ก็กลายมาค้าขายสินค้าที่ “มีความเหมือนกัน” มากขึ้น
📌 ทฤษฎีการค้าใหม่ที่แก้ปริศนาการค้า
อย่างที่เราเห็นจากแผนภูมิด้านบน สัดส่วนการค้าของสินค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Intra-industry) ในประเทศที่มีลักษณะความรู้ ความสามารถคล้ายกันหลังจากปี 1960 ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ขัดแย้งกับทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศดั้งเดิมที่อธิบายว่า ประเทศจะทำการค้าขายสินค้าของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน
สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศในสินค้าจากอุตสาหกรรมเดียวกันเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลัง
ปริศนานี้ได้ถูกตอบอย่างเป็นระบบครั้งแรกโดยพอล ครุกแมนนี่เอง โดยการนำความรู้เรื่องการแข่งขันในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic competition) มาปรับใช้ในสาขาการค้าระหว่างประเทศ โดยหัวใจอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือ “การประหยัดต่อขนาด (Economics of scale)” ที่เป็นหนึ่งในแนวคิดพื้นฐานที่คงอยู่กับเศรษฐศาสตร์มายาวนานเช่นกัน
การประหยัดต่อขนาดก็คือ การที่ยิ่งบริษัทผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองตลาดที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งลดต้นทุนคงที่ของบริษัทลงได้มากเท่านั้น ดังนั้นตามแนวคิดนี้ มันจึงเป็นไปได้ที่ว่าการที่แต่ละประเทศผลิตสินค้าของตัวเองเพื่อตอบสนองกับตลาดทั้งโลกที่มีขนาดใหญ่ ดีกว่าการผลิตสินค้าเพื่อป้อนให้กับตลาดประเทศของตัวเองอย่างเดียว
อีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศในสินค้าที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นได้คือ ความชื่นชอบและเลือกบริโภคสินค้าของผู้คนจริงๆ แล้ว มีความแตกต่างกัน สินค้าแบรนด์ต่างๆ แม้จะเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ มีความแตกต่างกันอยู่ในมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งยิ่งมีความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น ก็จะยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากขึ้นด้วย
แนวคิดทฤษฎีการค้าแบบใหม่นี้ยังถูกนำมาใช้อธิบาย “ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ (Economic Geography)” หรือสาขาที่ว่าด้วยการศึกษาการเคลื่อนย้ายและตั้งถิ่นฐานของทุนและแรงงาน อย่างที่เล่าไปว่า บริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนต่อขนาด ทำให้มีแนวโน้มที่บริษัทเมื่อเริ่มก่อตั้งจะเข้าไปตั้งในบริเวณที่มีประชากรจำนวนมาก เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากขนาดตลาดที่ใหญ่ และผลิตสินค้าได้ในต้นทุนต่อชิ้นที่ต่ำกว่า
1
ซึ่งหากเล่าอย่างง่าย การตั้งของบริษัทก็จะทำให้เกิดความหลากหลายของสินค้า และทำให้ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงสูงขึ้นไปอีก ทำให้ยิ่งทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาสู่บริเวณนี้มากขึ้นอีก วนเวียนไปเรื่อยๆ บริษัทก็ไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะไปสร้างธุรกิจใหม่ในตลาดที่มีขนาดเล็กกว่าเนื่องจากต้นทุนการขนส่งสินค้าไปแทนถูกกว่าต้นทุนที่จะไปตั้งแรงงาน ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบทมากขึ้นไม่จบสิ้น เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไม่สมดุลอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
1
ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากส่วนหนึ่งของแนวคิดในการทำงานของครุกแมน ที่เขาเคยเล่าให้ฟังไว้ในตอนที่ให้ปาฐกถาเมื่อครั้งรับรางวัลโนเบล ที่สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมเขาถึงสามารถปฏิวัติแนวคิดการค้าระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยอมรับกันก่อนหน้านั้น
1
โดยครุกแมนได้ฝากเอาไว้ว่า “ในการทำงานให้รับฟังคำพูดของคนที่อยู่ภายนอกสาขาวิชาของตัวเองด้วย แม้จะเหมือนเขาพูดคนละภาษา แต่หลายครั้งสิ่งที่เขาพูดก็มีคุณค่ามากกับเรา และอีกอย่างที่สำคัญคือ การฝึกที่จะตั้งคำถามกับคำถามที่มีอยู่ เพราะหากคุณถามคำถามที่ผิดตั้งแต่แรก ก็ยากที่จะได้คำตอบที่ดีได้”
#Paul_Krugman #Nobel_Prize
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา