22 ต.ค. 2021 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อตลาดออนไลน์เดือด จะหวังพึ่ง DTC ได้หรือไม่?
เมื่อตลาดออนไลน์เดือด จะหวังพึ่ง DTC ได้หรือไม่?
📌 คอมเมิร์ซเติบโตอย่างมากในประเทศไทย
จากข้อมูลของ ETDA ในปี 2564 นี้ อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่า 4.01 ล้านล้านบาท โดยมาจากการค้าขายที่อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งกว่า 52% ที่สำคัญมูลค่าอีคอมเมิร์ซของกลุ่ม B2C นั้นได้ถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวจาก 1.75 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 2.03 ล้านล้านบาทในปี 2564 ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งของมูลค่าอีคอมเมิร์ซรวม และสวนทางกับมูลค่าอีคอมเมิร์ซของกลุ่ม B2B ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะลดลงจาก 1.68 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 1.09 ล้านล้านบาทในปี 2564
1
มูลค่าของ E-Commerce
ซึ่งการเติบโตของกลุ่ม B2C อีคอมเมิร์ซ ส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับตัวของธุรกิจ B2B หลายๆ เจ้าที่เริ่มปรับตัวเพื่อมาขายสินค้าและบริการโดยตรงให้กับผู้บริโภค หรือการทำธุรกิจแบบ Direct-to-Customer (DTC)
📌 ตลาด B2C อีคอมเมิร์ซนั้นเติบโตเร็วแต่ก็เต็มไปด้วยคู่แข่ง
ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ในปัจจุบัน รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าจากประเทศจีนที่สามารถผลิตสินค้าในต้นทุนที่ต่ำ ได้นำสินค้าเข้ามาขายบนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสจำนวนมาก ซึ่งกดดันให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องลดราคาสินค้าของตนเองลงและทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายจำนวนมาก การแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือดทำให้แบรนด์สินค้ารายย่อยในประเทศหลายราย ที่ไม่สามารถสร้างความแตกต่างในสินค้าและบริการ มีกำไรที่ลดต่ำลงและบางรายต้องประสบปัญหาการขาดทุนและเลิกกิจการ
2
📌 DTC กับโอกาสทางธุรกิจของแบรนด์ต่างๆ
DTC (Direct-to-Customer) คือ โมเดลการทำธุรกิจที่แบรนด์ต่างๆ ขายสินค้าและบริการตรงให้กับผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งต่างจากการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพิงเครือข่ายผู้ค้าส่ง ซึ่งมีกำลังทุน ให้เป็นผู้สต็อคสินค้าจำนวนมากและกระจายสินค้าให้เครือข่ายผู้ค้าปลีก ซึ่งเป็นผู้ทำการตลาดและสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภค
แต่ด้วยการขยายตัวของการค้าขายออนไลน์ รวมทั้งสถานการณ์โควิดนั้นได้เร่งให้ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์เริ่มหันมาให้ความสนใจในการขายสินค้าและบริการโดยตรงกับผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์และหน้าร้านของตนเองมากขึ้น ซึ่งการขายในลักษณะ DTC ช่วยให้แบรนด์ต่างๆ สามารถควบคุมประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจากสินค้าและบริการของแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะการสื่อสารและการแนะนำสินค้า ตัวผลิตภัณฑ์และแพ็คเกจจิ้ง รวมทั้งบริการต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยให้แบรนด์สามารถสร้าง Brand Loyalty ให้กับสินค้าของตน
การขายแบบ DTC ได้เปิดโอกาสให้แบรนด์สามารถขายประสบการณ์ให้กับลูกค้าแทนการขายเฉพาะตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว โดยแบรนด์สามารถ ดึงดูดลูกค้า สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ด้วยการสร้างแคมเปญทางการตลาดและการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่น่าสนใจ การสร้างเว็บไซต์ที่ความสะดวกและน่าใช้งาน และการให้บริการที่ดีทั้งก่อนและหลังการขาย
นอกจากนี้ โอกาสในการที่แบรนด์สามารถดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเองและสามารถเก็บข้อมูลในเชิงลึกของลูกค้าผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของตนเอง จะช่วยให้แบรนด์เข้าใจความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และสามารถเก็บข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาใช้งานบนเว็บไซต์ เพื่อนำเสนอสินค้าที่เฉพาะเจาะจงกับลูกค้าแต่ละคน และนำข้อมูล คำแนะนำของลูกค้าไปพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าต่อแบรนด์และนำไปสู่การสร้าง Brand Loyalty ของลูกค้าในที่สุด
3
การขายแบบ DTC จึงอาจเป็นหนึ่งในทางออกสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนที่ต้องการแข่งขันผ่านการเพิ่มคุณภาพของบริการและเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์แทนที่จะแข่งขันในด้านราคาเพียงอย่างเดียว ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
1
📌 ในการขายแบบ DTC แบรนด์อาจต้องเตรียมความพร้อมการในบริการลูกค้าเพิ่มเติมหลายด้าน
ในการปรับตัวของแบรนด์ต่างๆ ที่จากเดิมไม่ได้ขายสินค้าตรงให้กับผู้บริโภค มาขายแบบ DTC จะมีต้องเพิ่มความสามารถในการให้บริการกับลูกค้าเพิ่มเติมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดเพื่อชักจูงลูกค้าให้เข้ามาดูสินค้าในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือหน้าเพจโซเชียลของตน การดูแลบริหารจัดการสต็อกสินค้า การดูแลแพ็คเกจจิ้ง การจัดส่งและการคืนสินค้า การบริหารจัดการด้านรีวิวของลูกค้า และการดูแลบริการหลังการขายต่างๆ เป็นต้น
1
ในการสร้าง Brand Loyalty แบรนด์ DTC จะต้องสร้างเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดของลูกค้าที่เข้ามาค้นหาสินค้าในเว็บไซต์และสามารถนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ในขณะเดียวกันระบบอีคอมมเมิร์ซก็ต้องรองรับการทำแคมเปญการตลาดออนไลน์ที่อาจต้องปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับการแข่งขันในตลาดออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
1
ซึ่งอาจต้องมีการวางระบบไอทีในลักษณะ Headless Commerce หรือการวางระบบที่ซึ่งแยกระบบไอทีหน้าบ้าน ซึ่งใช้ปฏิสัมพันธ์ของลูกค้า กับระบบหลังบ้านที่ทำหน้าที่จัดเก็บและจัดการรับส่งข้อมูลให้กับระบบหน้าบ้านออกจากกัน เพื่อให้แบรนด์สามารถปรับเว็บไซต์หน้าบ้านได้อย่างสะดวกตามแคมเปญที่ปรับเปลี่ยนไปโดยไม่กระทบและไม่เสียเวลาในการปรับระบบไอทีหลังบ้าน นอกการสั่งสินค้าออนไลน์ DTC ยังจะมีกระบวนงานหลังการออกคำสั่งซื้ออีกจำนวนมากตามที่กล่าวไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบควรสามารถเชื่อมต่อกับคำสั่งซื้อเข้ากับระบบดูแลกระบวนงานอื่นๆ ได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อให้สะดวกกับการจัดการร้านค้า
1
📌 แบรนด์สามารถพึ่งแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์หลากหลายประเภทในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซและจัดการร้านค้าออนไลน์
ในการพัฒนาเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซนั้นในอดีตมีต้นทุนที่สูงและต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ในการจัดการดูแลระบบจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมีบริษัทที่ได้พัฒนาเครื่องมือในการช่วยบริษัทในการสร้างเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ โดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีที่ไม่มากนักและไม่ต้องพึ่งความสามารถในการเขียนโค้ดจากนักพัฒนาโปรแกรม
บริษัทซอฟต์แวร์หลายบริษัทในไทยเองก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ที่ช่วยในการจัดการการสร้างเว็บไซต์ร้านค้าอย่างเช่น lnwshop Tarad และ Bentoweb เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น Shopify และ Big Commerce หรือในกรณีที่แบรนด์ที่มีเว็บไซต์ Wordpress อยู่แล้วก็สามารถต่อยอดระบบให้รองรับอีคอมเมิร์ซเพิ่มเติมโดยใช้ WooCommerce ระบบเหล่านี้ยังรองรับการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่สามารถใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแบรนด์ในการจัดการและศักยภาพของอีคอมเมิร์ซของแบรนด์ ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการทำตลาด การค้นหาสินค้า การวิเคราะห์และคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า การให้บริการลูกค้าหลังการขาย การจัดการรีวิว การแจ้งสถานะการจัดส่งสินค้า การชำระเงิน การจัดการความปลอดภัย และ การทำ Headless Commerce เป็นต้น โดยมีเครื่องมือที่น่าสนใจยกตัวอย่างเช่น
1
Alloy ระบบสร้างกระบวนงานและสั่งงานโดยอัตโนมัติ (Automated workflow) โดยเชื่อมข้อมูลที่ถูกจัดเก็บบนเว็บไซต์ เช่น ความสนใจในสินค้าของลูกค้าแต่ละราย มาใช้ในการสร้าง workflow ในการส่งข้อเสนอออกไปให้กับลูกค้ารายนั้นๆ โดยอัตโนมัติ หรือการนำยอดการสั่งซื้อสินค้าในแต่ละอาทิตย์มาสร้าง workflow ในการสั่งเติมสต็อคสินค้าโดยอัตโนมัติ เป็นต้น
Alloy
Shogun ระบบที่ช่วยให้แบรนด์สามารถรองรับ Headless Commerce และปรับรูปลักษณ์ของระบบไอทีหน้าบ้านได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีความรู้ด้านการเขียนโค้ด
Shogun
Algolia เครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพในความแม่นยำค้นหาสินค้าของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ และช่วยแพลตฟอร์มในการเรียนรู้ข้อมูลการค้นหาของลูกค้า
Algolia
Klaviyo ซอร์ฟแวร์แพลตฟอร์มที่ช่วยเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซประมวลข้อมูลความสนใจของลูกค้าแต่ละรายและการยิงโฆษณาเฉพาะสำหรับลูกค้า (Personalized) ในช่องทาง Facebook Ads Email และ SMS ( SMS ยังไม่รองรับในประเทศไทย)
1
Klaviyo
Octain AI เครื่องมือที่ใช้สร้างคำถามบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เพื่อนำคำตอบของลูกค้าไปใช้ในการนำเสนอและแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย
1
Octain AI
ทั้งนี้ยังบริษัทซอร์ฟแวร์ที่น่าสนใจอีกหลายบริษัทที่มีเครื่องมือที่สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ โดยแผนภาพด้านล่างแสดง กลุ่มบริษัท E-commerce Enabler ที่ Accel Venture Capital เห็นศักยภาพและได้ร่วมลงทุน ทั้งนี้ Accel คือ หนึ่งในผู้ลงทุนในการระดมทุนรอบแรกจากนักลงทุนสถาบันของ Facebook ในปี 2005
1
Accel E-commerce Enabler โดย Accel Venture Capital
📌 DTC เองก็มีจุดด้อย กลยุทธ์การทำตลาดจึงอาจแตกต่างสำหรับแต่ละแบรนด์
แม้การทำแบรนด์ DTC จะมีประโยชน์ในการสร้าง Brand Loyalty และมีบริษัทจำนวนมากที่หันมาขายสินค้าผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของตนเอง แต่แบรนด์หลายๆ ราย ก็ยังพึ่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ เช่น Amazon Shopee และ Lazada ซึ่งเป็นคนกลาง เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางการขายสินค้า เนื่องด้วย Cost of Customer Acquistion หรือต้นทุนทำให้เกิดลูกค้าของแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ ต่ำกว่าการทำการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ของแบรนด์ DTC เอง
ส่วนหนึ่งมาจากการที่มาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ ยังเป็นแหล่งค้นหาสินค้าที่ลูกค้าส่วนใหญ่คุ้นชินจึงเป็นแหล่งที่ลูกค้าหลายๆ คน ใช้ในการเริ่มต้นค้นหาสินค้า และยังเป็นแหล่งที่ลูกค้าเข้าไปค้นหาสินค้ามีความพร้อมและต้องการค้นหาสินค้าที่จะซื้ออยู่แล้ว เทียบกับการที่แบรนด์ DTC ต้องทำการตลาดผ่านทาง Social Media แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าที่อาจจะสนใจในสินค้าของตนเห็นสินค้า
ในการตัดสินใจซื้อสินค้าความเชื่อมั่นในเว็บไซต์หรือแบรนด์ต่อผู้บริโภคก็เป็นอีกสิ่งที่อาจเป็นข้อจำกัดของการขายของบนเว็บไซต์ของแบรนด์ DTC เอง เพราะลูกค้าอาจไม่ต้องการให้ข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองบนเว็บไซต์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มั่นใจ นอกจากนี้ค่าขนส่งของแบรนด์ DTC อาจสูงกว่าและระยะเวลาการขนส่งที่อาจยาวนานกว่าการใช้ระบบขนส่งของแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสหากบริหารจัดการไม่ดี
1
ถึงกระนั้นหลายบริษัท เช่น บริษัท Nike และ บริษัท Ikea ที่ตัดสินใจเลิกทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon และประสบความสำเร็จอย่างมากกับการขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และร้านค้าของตนเองแทน ทั้งนี้สัดส่วนยอดขายผ่านช่องทาง DTC ของบริษัท Nike ได้โตจากที่เคยคิดเป็นมูลค่า 16% ของยอดขายรวมในปี 2011 เป็น 35% ของยอดขายรวมในปี 2020 โดยมูลค่ายอดขายในส่วนของ DTC เพิ่มจาก 2,900 ล้านหรียญสหรัฐเป็น 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
1
บริษัท Nike ได้โตจากที่เคยคิดเป็นมูลค่า 16% ของยอดขายรวมในปี 2011 เป็น 35% ของยอดขายรวมในปี 2020 โดยมูลค่ายอดขายในส่วนของ DTC เพิ่มจาก 2,900 ล้านหรียญสหรัฐเป็น 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับบริษัท SMEs ช่องทางการเข้าถึงลูกค้าผ่านมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ในต้นทุนที่ต่ำอาจยังคงเป็นช่องทางที่จำเป็น แต่ในขณะเดียวกันการวางรากฐานของแบรนด์และสร้างฐานลูกค้านั้นก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่บริษัทจะสามารถแข่งขันในระยะยาวในสภาวะที่การแข่งขันในด้านราคานั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วกลยุทธ์ที่เหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละแบรนด์ด้วยกันเช่นกัน
3
#Directtocustomer #DTC #e-commerce #BrandLoyalty #Headlesscommerce
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ธนวัฒน์ พฤกษานานนท์ Tech & Innovation Advisor, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา