23 ต.ค. 2021 เวลา 04:08 • ประวัติศาสตร์
น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ
‘สมเด็จพระปิยมหาราช’
3
ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปีจะเป็น “วันปิยมหาราช” ถือเป็นวันสำคัญของประเทศไทยและเป็นวันหยุดราชการ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ของปวงชนชาวไทย ตลอดรัชกาลพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า ด้วยเหตุนี้ประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ที่มีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) กับสมเด็จพระเทพศิรินทราพระบรมราชินี เมื่อทรงพระเยาว์พระองค์ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรก จากสำนักพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี โดยทรงศึกษาด้านวิชาการและโบราณราชประเพณีต่างๆ หลังจากนั้น พระบรมชนกนาถทรงจ้างครูชาวต่างประเทศโดยตรง ให้มาสอนภาษาอังกฤษ เนื่องจากทรงเห็นว่าต่อไปในอนาคตจะจำเป็นอย่างมาก และพระบรมชนกนาถทรงฝึกสอนวิชาการในด้านต่างๆ อาทิ วิชารัฐศาสตร์ด้วยพระองค์เองด้วย
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต พระองค์ก็เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 16 พรรษา ขุนนางผู้ใหญ่จึงแต่งตั้งเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ เพื่อทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมืองและวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศแถบยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ
สำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของพระองค์ คือ การเลิกทาส ตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงไม่ต้องการให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง และทรงเห็นว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว โดยในปี พ.ศ. 2416 พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส
ด้านการทหารและการปกครองประเทศ
ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป
ด้านการปกครองประเทศ
ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ จากเดิมมี 6 กระทรวง และได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้ง “มณฑลเทศาภิบาล” ขึ้นเป็นครั้งแรก อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย
ด้านเศรษฐกิจและการคลัง
ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ แบงก์สยามกัมมาจล หรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน
ด้านการศึกษา
ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวังจัดการเรียนการสอน แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา
ด้านการต่างประเทศ
พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ
ด้านการคมนาคมและสาธารณูปโภค
ทรงให้สร้างถนนขึ้นหลายสายและทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพานข้ามคลองและทางรถไฟหลายแห่ง อาทิ สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เป็นต้น
ด้านสาธารณูปโภค
ทรงมีพระราชดำริว่าประชาชนควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พระองค์จึงทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง (ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ยังทรงสร้างสถาปัตยกรรมที่งดงามอีกหลายแห่ง อาทิ
พระที่นั่งอนันตสมาคม
สร้างขึ้นในสมัยของรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2451) เป็นท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต ชื่อพระที่นั่งนี้นำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง ใช้เวลาสร้าง 8 ปี เป็นอาคารทรงยุโรปล้วน และเป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย ก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี มีแรงบันดาลใจมาจากโดมของวิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 ตั้งอยู่ระหว่างพระมหามณเฑียรกับพระมหาปราสาท ประกอบด้วยปราสาท 3 องค์ ทอดตัวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก การออกแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมยุโรป เป็นที่มาของชื่อ “ฝรั่งสวมชฎา”
พระราชวังพญาไท
รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น พร้อมกับพระราชทานนามให้ว่า “พระตำหนักพญาไท” (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระราชวังพญาไท) สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จทอดพระเนตรการทำนา การปลูกผักและการเลี้ยงสัตว์ และใช้เป็นตำหนักเป็นที่ประทับ รวมถึงพื้นที่ด้านตรงข้ามกับพระตำหนัก ใช้เพื่อประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญในยุคสมัยนั้นด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ ,
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, พระราชวังพญาไท
โฆษณา