26 ต.ค. 2021 เวลา 06:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ราคาน้ำมันดิบทำนิวไฮในรอบ 7 ปี นักเศรษฐศาสตร์ห่วงซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย-กดดันเงินเฟ้อพุ่งแรง
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกวันนี้ (25 ตุลาคม) ยังคงปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 7 ปีอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนของอุปสงค์จากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้น 0.62% ไปแตะระดับ 84.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ปรับขึ้น 0.48% ไปอยู่ที่ระดับ 85.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research ประเมินว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการนำเข้าน้ำมันสุทธิอยู่ที่ราว 6% ของ GDP
ขณะเดียวกันการที่ภาครัฐใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนราคาดีเซลเดือนละประมาณ 5 พันล้านบาท ทำให้ไทยมีภาระการคลังที่สูงขึ้น ซึ่งหากราคาน้ำมันยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เงินที่จะถูกใช้นำมาอุดหนุนก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และมีความเป็นได้ที่ภาครัฐอาจจะต้องเข้าไปอุดหนุน LPG เพิ่มเติมอีก
“ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ภาคการผลิตมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการขนส่ง โดยเป็นไปได้ที่ต้นทุนเหล่านี้จะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภค ทำให้ค่าครองชีพและเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นนี้อาจไปตรงกับนิยามของ Stagflation หรือการที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว” พิพัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ดี พิพัฒน์ยังมองว่า ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไทยไม่มากนัก เนื่องจากน้ำมันมีน้ำหนักอยู่ในตระกร้าเงินเฟ้อราว 12-15% เท่านั้น หากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 10% ก็จะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นราว 1% ขณะเดียวกันก็มองว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปัจจัยระยะสั้น เช่น อุปสงค์จากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจของหลายประเทศ ในขณะที่กลุ่มโอเปกยังไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตจากช่วงที่ผ่านมา
“ในระยะสั้นราคาน้ำมันยังมีโอกาสขึ้นได้อีก เพราะผู้ผลิตคงจะไม่เร่งเพิ่มกำลังผลิตเพื่อ Maximise กำไรของตัวเอง หลังจากช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันลงไปแรง ต้องปิดแท่นบางส่วนไป แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันจะไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะนั่นจะเป็นจุดที่ไม่ส่งผลดีต่อธุรกิจน้ำมัน ดีมานด์อาจ Collapse ได้ เรายังมองว่าในปีหน้าเมื่อการผลิตเพิ่มขึ้นราคาน้ำมันจะกลับมาทรงตัวอยู่ในกรอบ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” พิพัฒน์กล่าว
ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงในขณะนี้เป็นผลมาจากความต้องการน้ำมันที่เร่งตัวเร็วตามความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ซึ่งฟื้นตัวได้รวดเร็วหลังมีมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลัง แต่การผลิตน้ำมันยังเติบโตช้า
โดยธุรกิจสำรวจและขุดเจาะน้ำมันหลายแห่งล้มเลิกกิจการไปช่วงที่ราคาน้ำมันลดลงต่ำในปีก่อน ขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกอีก 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ก็ยังไม่อาจตามอุปสงค์น้ำมันที่โตเร็วกว่าได้จนกระทั่งถึงช่วงไตรมาสแรกปีหน้า โดยคาดว่าหลังจากนั้นราคาน้ำมันน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพและกลับมาลดลงได้
“ในกรณีฐานเช่นนี้เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 1.5% จากปีก่อน และน่าจะขยับขึ้นไปที่เฉลี่ยราว 1.7% ในปีหน้า ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปีนี้ และ 66 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีหน้า”
อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะมากกว่า 2% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีหน้าตามฐานที่ต่ำปีนี้ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นชั่วคราวตามราคาน้ำมัน ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะฟื้นตัวจากไตรมาส 3 ได้ราว 1.4% แม้จะหดตัวเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนราว 0.9%
แต่สำหรับปีหน้าแล้ว ภาวะเงินเฟ้อถือเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทย โดยน้ำมันจะเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่วน 3 ปัจจัยที่เหลือจะประกอบด้วย
การชะงักงันของอุปทานจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและพลังงานของจีน การขาดแคลนชิปและตู้คอนเทนเนอร์
ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจากการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ
เงินบาทที่อ่อนค่าจากการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ของนักลงทุน
อมรเทพกล่าวอีกว่า มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ราคาน้ำมันและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยขยับขึ้นได้เร็วกว่าคาด แม้ปัจจัยด้านราคาพลังงานและปัญหาเชิงโครงสร้างด้านอุปทานอื่นๆ จะกระทบราคาสินค้าชั่วคราวในปี 2022 โดยราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และปรับตัวลดลงตามอุปทานที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันอาจลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ในปีหน้านี้ ซึ่งปัญหาด้านเงินเฟ้ออาจรุนแรงและกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ไตรมาส 4 ปีนี้ที่น่าจะเฉลี่ยที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล พุ่งขึ้นไปสู่ระดับ 88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และในปีหน้าจากเฉลี่ยที่ 66 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล พุ่งขึ้นไปสู่ระดับ 78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว อัตราเงินเฟ้อของไทยน่าจะเร่งตัวมากกว่าที่คาดไว้
“ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวเรามองว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อาจเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยที่ 1.5% ไปที่ 2.3% และอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าอาจเพิ่มจาก 1.7% เป็น 4.1% ได้ อย่างไรก็ดี ในกรณีเช่นนี้อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าที่พุ่งได้ถึง 5% ในช่วงไตรมาส 3 อาจเป็นระดับสูงสุดก่อนปรับตัวลดลงในช่วงเวลาต่อมา” อมรเทพกล่าว
อมรเทพยังระบุอีกว่า ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้นประกอบกับปัญหาด้านอุปทานหยุดชะงักในภาคการผลิต อาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเติบโตช้าลง โดยในกรณีของประเทศไทยที่คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 3.2% ในปี 2022 ก็อาจเติบโตได้เพียง 2.0% หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น -1.2%
เรื่อง: ดำรงเกียรติ มาลา
โฆษณา