26 ต.ค. 2021 เวลา 07:51 • อาหาร
เนื้อจากพืชหลบไป! สมัยนี้ต้อง “เนื้อจากรา” เฮลท์ตี้กว่า แถมรสสัมผัสไม่ต่างจากเนื้อจริง
1
ตลาดโปรตีนทางเลือกคึกคักขึ้นเรื่อยๆ สตาร์ทอัพมากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเสนอไอเดียโปรตีนแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็น เนื้อจากพืช เนื้อเพาะเล็บ เนื้อจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ อาหารทะเลจากพืช อาหารทะเลเพาะแล็บ แต่ไอเดียล้ำๆ ที่มีให้เห็นล่าสุดก็คือ mycelium-based หรือโปรตีนจากรา
เนื้อจากรา สารอาหารเยอะกว่า สัมผัสใกล้เคียงเนื้อจริง
ส่วนใหญ่แล้วผู้เล่นในตลาดโปรตีนทางเลือกมากเลือกที่จะผลิตเนื้อแปรรูป เช่น เบอร์เกอร์ ไส้กรอก หรือเนื้อบด ข้นมาจากพืชอย่างถั่วลันเตา ถั่วเหลือง หรือข้าวสาลี
แต่สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกาอย่าง Atlast Food และ Meati Foods ไปไกลกว่านั้น เพราะพวกเขาโฟกัสไปที่การผลิตเนื้อทั้งก้อน (เช่น เนื้อสเต็กทั้งก้อน หรือ อกไก่) จาก Mycelium หรือเส้นใยรา ซึ่งนี่คือตลาดที่มีขนาดใหญ่มากแต่ยังไม่มีใครกล้าเข้าไปเล่นมากนัก
Stephen Lomnes ประธานของ Atlast Food กล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญก็คือเราย้ำกับนักลงทุนของเราว่าพวกเราเข้าไปเล่นในเซกเมนต์ที่ถูกมองข้ามอย่างมากในตลาดโปรตีนทางเลือก นั่นคือการขายเนื้อทั้งก้อนซึ่งมีสัดส่วนเป็น 80% ของตลาดเนื้อทั้งหมด”
Meati Foods ทำเนื้อจากรา
โปรตีนจากรา จะไปได้ไกลแค่ไหน?
การที่สตาร์ทอัพทั้ง 2 เพิ่งจะระดมทุนก้อนใหญ่ได้ก็ถือเป็นเรื่องดีสำหรับวงการโปรตีนทางเลือก และยังชี้ให้เห็นว่าในอนาคต การบริโภคเนื้อจากรามีความเป็นไปได้
ล่าสุด Atlast Food เพิ่งจะระดมทุนไปได้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ (1.34 พันล้านบาท) ในรอบ Series A เมื่อต้นปี และมีแผนจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาสร้างโรงงานผลิตในนิวยอร์กเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า B2B และเพื่อขยายไลน์การผลิตสินค้าแบรนด์ MyEats ของตัวเอง
ส่วน Meati ก็เพิ่งจะระดมทุนได้ 28 ล้านดอลลาร์ (938 ล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา โดยมีแผนจะยกระดับการผลิตให้ได้เกินล้านปอนด์ภายใน 1 ปี ข้างหน้า
อะไรคือ Mycelium กันแน่?
ถ้าพูดถึงสิ่งมีชีวิตอาณาจักรรา (fungi) สิ่งที่เราคุ้นเคยที่สุดก็น่าจะเป็นเห็ด แต่จริงๆ แล้ว Mycelium หรือราที่เป็นเส้นใยคล้ายโฟมก็คือเห็ดเช่นเดียวกัน เพียงแต่ทางบริษัทใช้วิธีเพาะที่แตกต่างออกไป ดังนั้น แทนที่เชื้อราจะเติบโตขึ้นมาเป็นรูปคล้ายโดมก็จะเติบโตเป็นลักษณะเส้นใยแทน
Eben Bayer ซีอีโอ Atlast Food ระบุว่า “เราออกแบบกระบวนการเพาะเลี้ยงเห็ดขึ้นมาใหม่โดยการสร้างถาดเพาะความยาว 100 ฟุต (30.48 เมตร) ดังนั้น เราก็จะได้ก้อนเนื้อจากราขนาด 100 ฟุต ก่อนที่เราจะตัดแบ่งออกมาให้มีลักษณะคล้ายเนื้อ เช่น เนื้อสามชั้นเป็นเส้น เป็นต้น”
ภาพจาก atlastfood.co
เส้นใย Mycelium ที่ได้มีความหนาเพียง 30 ไมครอน ใกล้เคียงกับมัดกล้ามเนื้อในเนื้อวัว ดังนั้น จึงสามารถนำเส้นใยมาจัดเรียงให้มีช่องว่าง เนื้อสัมผัส ความแข็ง และลักษณะการจัดเรียงให้ใกล้เคียงกันได้
1
นอกจากนี้ เนื้อจากเส้นใยเห็ดยังมีกรดอะมิโน (หน่วยย่อยของโปรตีน) เหมือนเนื้อสัตว์ แถมยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ เหมือนพืช มันจึงเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุดตัวหนึ่ง Tyler Huggins ซีอีโอ Meati ระบุ
Lomnes กล่าวว่า Atlast ใช้หัวเชื้อเห็ดนางรมซึ่งมีความปลอดภัยและปลูกในฟาร์มเห็ดแบบทั่วไป ดังนั้น โปรตีนที่ได้จึงมีโครงสร้างและโมเลกุลไม่ต่างจากเห็ดทั่วไป
เนื้อจากราของ Atlast Food
ถ้ามองในมุมของผู้บริโภค Mycelium หรือเส้นใยจากเห็ดเป็นสิ่งที่เรารู้จัก เข้าใจ และทานกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่เหมือนการสกัดโปรตีนหรือการสร้างเนื้อจากจุลินทรีย์ที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรมจึงสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มากกว่า
โฆษณา